ชื่นมื่น! 'พิชัย' แจงจับเข่าเคลียร์ใจ 'เศรษฐพุฒิ' 2ชั่วโมงฉลุย โยนการบ้านเขย่าแบงก์ผ่อนเกณฑ์เข้าถึงแหล่งทุน ให้อิสระคุมดบ.

ชื่นมื่น! ‘พิชัย’ แจงจับเข่าเคลียร์ใจ ‘เศรษฐพุฒิ’ 2 ชั่วโมงฉลุย คุยกันด้วยหลักการเข้าใจกันเป็นอย่างดี โยนการบ้านเขย่าแบงก์ผ่อนเกณฑ์อุ้มเอสเอ็มอี-ครัวเรือนเข้าถึงแหล่งทุน ยันให้อิสระคุมดอกเบี้ยนโยบาย

16- พ.ค. 67 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ในครั้งนี้เป็นการนัดหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อพูดคุยในสิ่งที่แต่ละฝ่ายเข้าใจ โดยผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ผิดความคาดหมาย เพราะทั้ง 2 ฝ่ายคุยกันด้วยหลักการ และหลังจากนี้เชื่อว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะสอดประสานกันมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างคลังกับ ธปท. หายไปแล้วหรือไม่ นายพิชัย ระบุว่า วันนี้คุยกันดี จริง ๆ ผมเป็นคนพูดภาษาเดียวกันอยู่แล้ว เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน บางเรื่องนายเศรษฐพุฒิพูดมา ผมแย้งไป บางเรื่องผมพูดไป นายเศรษฐกิจก็ชี้แจงมา สุดท้ายก็เป็นการพูดคุยกัน ที่ผมเข้าใจอย่างนั้นเพราะเคยนั่งเป็นกรรมการ ธปท. มาก่อน ผมเข้าใจในวิธีการทำงานเป็นอย่างดี ความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายมีข้อดี คือ เมื่อเข้มงวดมาก สถาบันการเงินก็มีความเข้มแข็ง

ทั้งนี้ มีการหารือในประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นหน้าที่ของ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่จะใช้วิจารณาณ เครื่องมือและผลการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1-3% ตามหลักการจะมีการทบทวนทุกปี ตรงนี้เห็นว่าต้องปล่อยให้หน่วยงานทำหน้าที่ต่อไป ธปท. และ กนง. มีวิธีคิดของตัวเอง และอาจจะมอไปอีก 6-9 เดือนว่าเงินเฟ้อจะเข้ากรอบหรือไม่ แล้วค่อยมานั่งคุยกัน แต่สิ่งที่เห็นตรงกันคือ ปัญหาของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ในเรื่องการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งมองว่าเป็นประเด็นใหญ่กว่าเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลง

“วันนี้คุยกันเกือบ 2 ชั่วโมง ผมได้บอกว่าอยากทำเพื่อให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายย่อยและภาคครัวเรือน ผู้กู้รายเดิมที่ยังมีปัญหา หรือกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อยากฝากให้ ธปท. ไปพิจารณาดูเพื่อปรับปรุงแนวทางให้กลุ่มดังกล่าวเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการออกประกาศมาหลายฉบับและส่งไปที่สถาบันการเงินว่าเรื่องนี้ให้ทำอย่างไร ก็มองว่าตรงนี้ต้องมาหารือกันอีกครั้งเพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพราะมีทั้งข้อที่เรารู้สึกว่ายืดหยุ่นได้ไหม และเรื่องนี้ต้องมีกรอบเวลาในการดำเนินการ คงรอไม่ได้ และเชื่อว่าสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งก็อยากเข้ามาช่วยในส่วนนี้” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้เรียกว่าเป็นการให้ผ่อนเกณฑ์การเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เชื่อว่าสถาบันการเงินจะมีวิธีที่ดีในการยืดหยุ่นตรงนี้ภายใต้กรอบที่สามารถทำได้ เพราะมองว่าทั้งหมดเป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาภาพรวมการเข้าถึงสินเชื่อ หากแก้ไขส่วนนี้ได้ ผลที่ได้คือยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะลดลง และกลุ่มเอสเอ็มอี รายย่อย และภาคครัวเรือนที่มีปัญหา จะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น มองว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าเรื่องใด ๆ เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสถาบันการเงินของไทยค่อนข้างเข้มแข็ง อัตราส่วนต่าง ๆ เข้มแข็งไม่น้อยหน้าใคร อาทิ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) และเมื่อสถาบันการเงินแข็งแรงแล้ว ก็อยากให้มองว่ามีโอกาสที่จะปรับการเข้าถึงสินเชื่อให้กลุ่มที่กำลังโฟกัสให้มากขึ้นได้หรือไม่ เพราะหากมองพอร์ตสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งหมดแล้ว กลุ่มที่ต้องการจะช่วยเหลือไม่ได้ใหญ่ ดังนั้นการจะหยิบแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาจากแต่ละสถาบันการเงินมาดำเนินการมันแค่นิดเดียว จึงมองว่าตรงนี้หากมีอะไรที่สามารถทำได้ และไม่ทำให้วินัยการปล่อยสินเชื่อผิดพลาด ก็เชื่อว่ายังมีช่องว่างให้ทำเยอะ

ทั้งนี้ ในเรื่องว่า ธปท. จะมีการทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น คงต้องปล่อยให้อิสระและให้ดำเนินการตามวิถีทางของ ธปท. และมองว่าปัญหาอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือสูงไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน ควรเป็นสิ่งแรกที่จะต้องทำ โดยหากถามประชาชนว่าหากให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงครึ่งเปอร์เซ็น กับการเข้าถึงสินเชื่อ คนก็น่าจะเลือกการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นมากกว่า ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น คลังจะไม่แตะ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องดูหลายอย่าง หากลดลงคงเป็นผลในแง่ของการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจบ้านเราจะดีขึ้นได้ไหม ภาวะเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่นักลงทุนที่จะเข้ามาใช้คาดการณ์ไปข้างหน้ามากกว่า

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้กระทรวงการคลังคงจะมีการหารือร่วมกับ ธปท. บ่อยมากขึ้น ส่วนจากนี้ต่างคนคงต้องกลับไปนั่งทำการบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการทำให้กลุ่มที่มีปัญหาสามารถเข้าถึงแหล่เงินทุนได้มากขึ้น ส่วนประเด็นที่เห็นสอดคล้องกัน คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นสิ่งที่รัฐบาลเร่งทำอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำเสร็จใน 1-2 ปี เพราะเราผ่อนมาหลายปี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผงะ! ขุนคลัง ขอร่วมวงถก สมาคมแบงก์

“ขุนคลัง” ส่งซิกร่วมประชุมสมาคมแบงก์ หวังถกปลดล็อกปล่อยกู้ กระทุ้งหั่นดอกเบี้ย พร้อมเร่งหาข้อสรุปมาตรการ LTV ให้จบก่อนสิ้นเดือนนี้ “นักวิชาการ” หนุนหวยเกษียณ แต่แนะเพิ่มเงินรางวัล

นายแบงก์ผวา! 'ขุนคลัง' ส่งซิกร่วมประชุมสมาคมธนาคารไทย บี้ปลดล็อกปล่อยกู้ หั่นดอกเบี้ย เร่งสรุปLTVก่อนมหกรรมบ้าน

'ขุนคลัง' ส่งซิกร่วมประชุมสมาคมแบงก์ หวังถกปลดล็อกปล่อยกู้ กระทุ้งหั่นดอกเบี้ย พร้อมเร่งหาข้อสรุปมาตรการ LTV คาดได้ข้อสรุปก่อนมหกรรมบ้านและคอนโด ปลายเดือนนี้