'จุลพันธ์' ดับฝัน 'โครงการคนละครึ่ง' ยันไม่เคยหารือ เร่งเข็นมาตรการปั๊มเศรษฐกิจ

“คลัง” ดับฝัน “คนละครึ่ง” ยันรัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ พร้อมแจงเตรียมเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ระหว่างรอดิจิทัล วอลเล็ต แจงเดินเครื่องศึกษาตั้งกองทุนวายุภักษ์ 3 หวังฉีดเงินเข้าตลาดทุน ฟุ้งดึงโมเดลเก่ามาปั้นใหม่ มั่นใจปังแน่นอน

26 มิ.ย. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในระหว่างที่ยังรอมาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ออกมาในช่วงปลายปีนี้ ส่วนรายละเอียดยังไม่สามารถชี้แจงได้ หากยังไม่เข้าสู่ชั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติอื่น ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการคนละครึ่งนั้น รัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุย หารือ หรือไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้มีการออกมาตรการกระตุ้นตลาดทุนไปแล้ว โดยเฉพาะการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ซึ่งคาดว่าในช่วงเวลา 4-5 เดือนของปีนี้ จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาราว 3 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันประเมินว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีไปราว 1.3 หมื่นล้านบาท จากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีครบทุกระดับอายุของฐานที่เสียภาษีนั้น มองว่า มาตรการนี้ถือว่าคุ้มค่า เพราะอยากให้มองใน 2 ส่วน ไม่ใช่แค่เม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามาเมื่อเทียบกับรายได้ภาษีที่จะเสียไปเท่านั้น แต่จากการศึกษาของกรมสรรพากร และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในตลาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน

และอีกส่วนคือ ผลกระทบของมาตรการในเชิงมูลค่า โดยกระทรวงการคลังเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยดันให้มาร์เก็ตแคปของตลาดขยายตัวขึ้นได้อย่างมาก ถือเป็นผลกระทบในเชิงบวก ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดทุนอย่างมาก

“เราเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในตลาดไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่วนตัวเลข 3 หมื่นล้านบาทที่พูดไปก่อนหน้านั้น อาจจะเป็นการประมาณการในระดับต่ำ ซึ่งมาตรการไม่ได้มีผลแค่ในเชิงเม็ดเงินลงทุน แต่ในเชิงมูลค่าก็ถือว่ามีผลบวกมาก ๆ ดังนั้นจึงไม่อยากให้พิจารณาแค่ตัวเม็ดเงินที่ไหลเข้าไป แต่อยากให้ดูในเชิงมูลค่าที่เกิดจากมาตรการควบคู่กันไปด้วย” นายจุลพันธ์ กล่าว

ส่วนแนวคิดที่จะฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือเบื้องต้น ทั้งประเด็นเรื่องกลไกในการดำเนินการหากจะมีการหยิบยกขึ้นมาใช้จริง โดยเฉพาะในเรื่องของข้อกฎหมาย ขั้นตอนที่มีความจำเป็นต่าง ๆ แต่ยืนยันว่าจะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด โดยหลักคิด คือ ต้องการที่จะให้มีเม็ดเงินเติมเข้าไปในตลาดทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียน ซึ่งเคยดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วในรูปของกองทุนวายุภักษ์

“เราอาจจะมีการพิจารณาในการตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่อีกกอง เป็นกองที่แยกต่างหาก ไม่ได้เป็นกองเดียวกัน แต่รูปแบบ การจัดตั้ง สัดส่วนต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร ก็ต้องมาดูกัน โดยรูปแบบที่เคยทำแล้วและประสบความสำเร็จในกองทุนวายุภักษ์ก่อนหน้า ซึ่งกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 และ 2 มีเม็ดเงินอยู่แล้วราว 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีการตั้งกองใหม่ขึ้นมา ก็อาจจะขายให้ประชาชนทั่วไป ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยประชาชนจะได้รับการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง ตรงนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ดังนั้นหากถามว่าจะทำอีกครั้งหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ากำลังพิจารณาอยู่” นายจุลพันธ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง