สนข.ปักหมุดชง ครม.เคาะ 'แลนด์บริดจ์'

สนข.เร่งเครื่อง “แลนด์บริดจ์” มั่นใจโครงการเกิดขึ้นแน่นอนหลัง “ดูไบ จีน อเมริกา” สนใจลงพื้นที่ก่อสร้าง ปักหมุด เสนอครม. ในปีนี้ เริ่มตอกเสาเข็มปี69 คาดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี73

5 ส.ค. 2567 – นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า  โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร- ระนอง) ในรูปแบบ One Port Two Sides ว่าหลังจากที่ผู้บริหารของบริษัทดูไบ พอร์ต เวิลด์  (DP World) ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า ลงพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกา ในส่วนของหน่วยงานที่ที่รับผิดชอบเรื่องผลการศึกษาค่อนข้างมั่นใจว่าโครงการเกิดขึ้นอย่างแน่นอนซึ่งสอดคล้องกับนักวิชาการที่ให้ความเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีท่าเรือฝั่งตะวักตก

“เหตุผลที่ว่า ทำไมมีนักลงทุนสนใจที่จะมาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีปัญหาระหว่างประเทศ ดังนั้นในหลายประเทศจึงต้องการความมั่นใจในการดำเนินการด้านธุรกิจให้เดินหน้าต่อท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ จึงเป็นสาเหตุว่ายังคงมีนักธุรกิจผู้ที่สนใจจะมาลงทุน หลักๆ ได้แก่ ดูไบ จีน สหรัฐอเมริกา ส่วนสาเหตุที่ดูไบให้ความสนใจเนื่องจากทราบว่าดูไบเวิลด์ มีกองเรือค่อนข้างเยอะ  แต่ไม่มีท่าเรือเป็นของตัวเองในช่องแคบมะละกา จึงเป็นสาเหตุว่าดูไบให้ความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นพิเศษ เนื่องจากสายเรือต้องการท่าเป็นของตัวเองเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ขณะที่จีน พบว่าต้องการขนส่งสินค้าลงไปทางตอนใต้ให้สอดคล้องการการสร้างรถไฟของจีน”นายปัญญา กล่าว

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปีนี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการให้ สนข. ดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็น  จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาประกาศประกวดราคา (RFP)วงเงิน 45 ล้าน ใช้เวลา 2 ปี   และคาดว่าจะเปิดประมูลต้นปี2569 เริ่มก่อสร้างในปี 2569 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2573

สำหรับรายละเอียดรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ จะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพร และท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium) รูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ

ทั้งนี้ จากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี พ.ศ. 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปลาหมอคางดำ' บุกอ่าวไทย ผ่าท้องพบลูกกุ้ง สมุทรปราการระบาดขั้นวิกฤติ

ชาวประมงพื้นบ้านจับปลาหมอคางดำได้นอกเขต 3 ไมล์ทะเล จับผ่าพบมีเคยอยู่ในท้องจำนวนมาก แจ้งนายกสมาคมประมง จ.สมุทรปราการ นำเรื่องเข้าที่ประชุมหารือแนวทางแก้ไขด่วน