“เผ่าภูมิ” แจงเตรียมเข็นโมเดล NaCGA เข้า ครม. สัปดาห์นี้ ฟุ้งปั้นเป็นหน่วยงานการันตีเครดิต อุ้มรายย่อย-เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกางไทม์ไลน์เดินเครื่องกระบวนการร่างกฎหมาย ปักธงได้เห็นแน่ไม่เกินกลางปี 2568
12 ส.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency : NaCGA) ว่า เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในวันที่ 13 ส.ค. นี้ ซึ่งหาก ครม. พิจารณาเห็นชอบ ก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการร่างกฎหมายจัดตั้ง NaCGA โดยยืนยันว่าขณะนี้ตัวกฎหมายมีความพร้อมมาก และดำเนินการเกือบแล้วเสร็จแล้ว โดยได้มีการหารือในรายละเอียดกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้พอสมควรแล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนของ NaCGA ได้ในช่วงกลางปี 2568
ทั้งนี้ รายละเอียดที่จะนำเสนอที่ประชุม ครม. จะเกี่ยวกับกระบวนการ หลักการและวิธีการของการตั้งหน่วยงาน NaCGA ขึ้นมาว่ามีหน้าที่ทำอะไร ทำแบบไหน ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร และกระบวนการอุดหนุน หรือชดเชยต่าง ๆ จากรัฐเป็นอย่างไร ซึ่งกลไกของ NaCGA นั้น คือจะตั้งเป็นหน่วยงานการันตีเครดิตสำหรับประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดกลางทุกคนว่ามีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ระบบปัจจุบัน คือ ประชาชนเดินไปที่ธนาคาร ธนาคารก็จะมีการพิจารณาความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมาก และอยู่ในโครงการ PGS ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารก็จะจัดกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้เข้าพอร์ต PGS ซึ่งธนาคารจะทำหน้าที่เป็นคนกรองในระดับแรก แต่ NaCGA นั้น ขั้นตอนจะแตกต่างออกไป โดยจะทำหน้าที่อยู่หน้าธนาคาร ก่อนที่ประชาชนจะเดินไปที่ธนาคาร สามารถไปซื้อประกันความเสี่ยงกับ NaCGA นั่นหมายความว่า NaCGA จะเป็นบริษัทประกันความเสี่ยงทางการเงินให้ และประชาชนก็สามารถถือประกันความเสี่ยงดังกล่าวไปที่ธนาคารได้เลย โดย NaCGA จะประเมินความเสี่ยงให้ประชาชนแต่ละราย โดยจะคิดเป็นค่าธรรมเสียม หากเสี่ยงมากค่าธรรมเนียมก็จะแแพงขึ้น แต่ในส่วนนี้ก็จะมีรัฐเข้ามาชดเชยให้บางส่วนด้วย” นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า NaCGA จะช่วยการันตีความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ประชาชนหรือผู้ประกอบการ โดย NaCGA จะสามารถทำงานร่วมกับ บสย. ก็ได้ คือ ไม่ผิดที่จะมี 2 หน่วยงานอยู่ด้วยกัน ทำงานร่วมกัน ส่วนการค้ำประกันของ NaCGA นั้น ก็จะอยู่ที่ความเสี่ยงและข้อตกลงของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งจะสะท้อนออกมาที่ค่าธรรมเนียมที่จะแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่จะได้คือ NaCGA จะช่วยจ่ายทั้งในส่วนของผู้ขอกู้ และภาครัฐเข้ามาอุดหนุนด้วย ดังนั้นยืนยันว่าค่าธรามเนียมจะต่ำ ซึ่งโมเดล NaCGA นี้สำเร็จในต่างประเทศมาเยอะแล้ว เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา 'ประชุมครม.' วันนี้ 'คลัง' ชงเปลี่ยนชื่อโครงการ 'ดิจิตัลวอลเล็ต'
กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ ครม. เพื่อปรับเปลี่ยนชื่อ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต