ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เผยย่านศิริราชเติบโตอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟธนบุรีและสถานีรถไฟศิริราช ในขณะที่ดีมานด์ยอดขายที่พักอาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมบริเวณรอบทำเลศิริราช ที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้ารัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร พบว่ามีอัตราขายเฉลี่ยสูงถึง 81% ณ ครึ่งแรกของปี 2567 ด้าน “ดิ อัมรินทร์” เปิดแผนธุรกิจ 3 ปี ยึดทำเล รพ.ศิริราช ปักหมุดปั้นโปรเจกต์ใหม่ “อรุณ ศิริราช ทริปเปิ้ล สเตชั่น” รับปัจจัยบวก จับตลาดหลักกลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ชูจุดเด่นใกล้สถานีรถไฟฟ้าสามสาย
17 ก.ย. 2567 -นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เปิดเผยว่า ย่านศิริราช ถือเป็นทำเลทองแห่งอนาคต อ้างถึงแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟธนบุรีและสถานีรถไฟศิริราช ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ให้เป็นเมืองแห่งการแพทย์ (Medical District) ซึ่งกินพื้นที่โดยประมาณ 148 ไร่ โดยระยะแรก นำร่องพัฒนาที่ดิน 14 ไร่เป็นฮับการแพทย์ ที่พักอาศัย และคอมมูนิตี้มอลล์แบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ซึ่งแผนระยะแรกนี้ยังมีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์การเดินทางเชื่อมต่อที่สำคัญของกรุงเทพฯ เพราะในอนาคตจะสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่สายสีน้ำเงิน ซึ่งปัจจุบันเปิดใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสายสีส้ม สายสีแดงอ่อน (ส่วนต่อขยายในอนาคต)
ทั้งนี้เมกะโปรเจกต์ข้างต้น ส่งผลให้ย่านศิริราชกลายเป็นอีกทำเลหนึ่งของย่านกลางเมืองกรุงเทพฯ (Midtown) ที่เรียกได้ว่าเป็นทำเลแห่งอนาคต ประกอบกับการที่มีดีมานด์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ของกลุ่ม นักศึกษาแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงกลุ่มคนทำงานที่ต้องการที่พักอาศัยใกล้สถานีรถไฟฟ้า ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยัง CBD ได้เพียงไม่กี่สถานี จึงส่งผลให้ที่พักอาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมบริเวณโดยรอบทำเลศิริราชที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าในรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร มีอัตราขายเฉลี่ยสูงถึง 81% ณ ครึ่งแรกของปี 2567 โดยมีความต้องการของผู้ซื้อทั้งเพื่ออยู่อาศัยเองกับการซื้อเพื่อลงทุนอย่างต่อเนื่องซึ่งให้ผลตอบแทนประมาณ 5-6% ต่อปี
นายอรรถวุฒิ ธรรมเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิ อัมรินทร์ จำกัด ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้แบรนด์อรุณ (AROON) กล่าวว่า จากปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อทำเลโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช บริษัทจึงวางแผนธุรกิจในระยะ 3 ปีว่า บริษัทยังคงวางแผนพัฒนาโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ใกล้เคียงโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งจะพัฒนาโครงการประเภทคอนโดมิเนียม Low Rise ภายใต้ แบรนด์อรุณ โดยยังคงยึดแนวคิดการพัฒนาโครงการที่มุ่งเน้นเรื่องของคุณภาพ ความลักซ์ชัวรี่ ความเป็นส่วนตัว การให้ความคุ้มค่า มากกว่าราคาที่ลูกค้าจ่าย ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นจับตลาดกลุ่มลูกค้าหลักทั้งผู้อยู่อาศัยจริง กลุ่มนักลงทุนที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่า
สำหรับปัจจุบันบริษัทมีที่ดินสะสมรวมถึงที่ดินของครอบครัวที่รอการพัฒนารวมกว่า 400 ไร่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงบนทำเลใกล้โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาโครงการได้อย่างต่อเนื่อง ที่ดินบางแปลงสามารถนำมาพัฒนาได้ทันที แต่บางแปลงต้องรอให้หมดสัญญาเช่าจากผู้เช่ารายเดิมก่อน ล่าสุด บริษัทเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ภายใต้แบรนด์อรุณ คือ โครงการอรุณ ศิริราช ทริปเปิ้ล สเตชั่น (AROON SIRIRAJ TRIPLE STATION) โครงการในรูปแบบคอนโดมิเนียม Low Rise มูลค่า 800 ล้านบาท จำนวน 170 ยูนิต บนทำเลถนนจรัญสนิทวงศ์ 32 ห่างจากรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานีบางขุนนนท์เพียง 120 เมตร ซึ่งในอนาคตจะเป็นสถานีอินเตอร์เชนจ์เชื่อมรถไฟฟ้า 3 สาย ทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีแดงอีกด้วย
นายอรรถวุฒิ กล่าวว่า การที่บริษัทยังคงพัฒนาโครงการในทำเลโรงพยาบาลศิริราช ต่อเนื่องเป็นโครงการที่ 3 เนื่องจากมองเห็นว่าในทำเลดังกล่าวยังมีกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้อยู่อาศัยจริง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งกลุ่มนักลงทุนที่ซื้อเพื่อสะสมและปล่อยเช่าด้วย
“นับตั้งแต่บริษัทพัฒนาโครงการแรก คือ ดิ อัมรินทร์ เรสสิเดนซ์ (The Amarin Residence) เซอร์วิส อพาร์ตเม้นท์ ก็ประสบความสำเร็จมีผู้เช่าเต็มตั้งแต่เปิดให้บริการได้เพียงอาทิตย์เดียว เมื่อพัฒนาโครงการที่ 2 เป็นคอนโดมิเนียม Low Rise ภายใต้แบรนด์อรุณ (AROON) ก็สามารถปิดโครงการได้ภายในปีแรก และกลุ่มนักลงทุนที่ซื้อเพื่อเก็งกำไรก็สามารถขายต่อทำกำไรได้อย่างดี นักลงทุนบางรายสามารถขายทำกำไรได้มากถึง 28.5% ส่วนนักลงทุนผู้ซื้อเพื่อปล่อยเช่าก็สามารถปล่อยเช่าได้อย่างต่อเนื่อง”นายอรรถวุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในระยะ 1-3 ปีนี้ยังคงโฟกัสการพัฒนาโครงการในทำเลใกล้โรงพยาบาลศิริราช เนื่องจากมองว่ายังมีฐานลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัยอีกจำนวนมาก ประกอบกับบริษัทต้องการสร้างแบรนด์อรุณให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เมื่อขยายพื้นที่การพัฒนาไปในทำเลอื่นจะทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากนี้ การจับตลาดกลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นความท้าทายค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นบุคคลที่ใส่ใจในรายละเอียด และมีความต้องการที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา หากสามารถพัฒนาโครงการและตอบสนองความต้องการให้กับกลุ่มลูกค้าดังกล่าวได้ เชื่อว่าจะสามารถทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าอื่นได้ไม่ยากเช่นกัน