เมื่อโลกต้องคิดที่จะเก็บภาษีทรัพย์สิน

24 ม.ค. 2565 – ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ และนับวันความเหลื่อมล้ำยิ่งจะมีมากขึ้น แม้ในสถานการณ์ระบาดของโควิดข้อมูลจาก OXFAM International เปิดเผยว่าคนร่ำรวยสุด 10 คนแรกของโลกมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงโควิด ชี้ว่ามีคนเพียงหยิบมือเดียวร่ำรวยมากระดับอภิมหาเศรษฐี หรือ Super-Rich ขณะที่คนจำนวนมากมีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ รายได้ไม่พอ  นอกจากนี้รัฐบาลเกือบทุกประเทศก็ “ยากจน” คือ ไม่มีทรัพยากรที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น คำถาม คือ ควรไหมที่เราจะเริ่มนึกถึงภาษีทรัพย์สินที่ถ่ายเทความมั่งคั่งจากกลุ่มคนที่ร่ำรวยมากไปทำให้ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

รายงานความเหลื่อมล้ำโลก (World Inequality Report) ฉบับล่าสุด ปี 2022 ให้ข้อมูลและข้อคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้อย่างน่าสนใจ

หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ล่าสุด ปี 2021 กลุ่มคน 50 เปอร์เซ็นต์ล่าง (the bottom 50 percent) ในการกระจายรายได้ของโลก มีสัดส่วนรายได้เพียงร้อยละ 15 เทียบกับกลุ่มคนที่รวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก (Richest 10 percent) ที่มีสัดส่วนรายได้มากถึงร้อยละ 40 และความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมาก ถ้าวัดในแง่ความมั่งคั่งหรือทรัพย์สิน (Wealth) คือ กลุ่ม 50 เปอร์เซ็นต์ล่างมีสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินเพียงร้อยละ 2 ขณะที่กลุ่มคนรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เศรษฐกิจโลกมีถึงร้อยละ 76

สอง นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2019 คือ Abhijit Banerjee กับ Esther Duflo ให้ความเห็นในรายงานฉบับนี้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงประมาณปี 1980’s เศรษฐกิจโลกเติบโตพร้อมความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจโลกที่ลดลง เป็นผลจากอุดมคติร่วมกันของภาครัฐและเอกชนที่ไม่ต้องการเห็นความเหลื่อมล้ำมีมากพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ  นำมาสู่นโยบายเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ และลดความยากจน เช่น การปฏิรูปที่ดิน ค่าแรงขั้นต่ำ บทบาทของสหภาพแรงงาน การลดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ และภาษีอัตราก้าวหน้า

แต่หลังจากนั้น แนวคิดได้เปลี่ยนไปในยุคสมัยของรัฐบาลประธานาธิบดีเรแกนในสหรัฐ และรัฐบาลมาการ์เร็ต แทชเชอร์ ในอังกฤษ ที่มองนโยบายด้านการกระจายว่าเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ สนับสนุนการทำธุรกิจอย่างเสรี ลดบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำธุรกิจที่มุ่งสะสมความมั่งคั่ง ผลคือ การเติบโตของระบบตลาดและโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตพร้อมความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้นต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ชัดเจนว่า ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลผลิตของนโยบายเศรษฐกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่นโยบายเศรษฐกิจสามารถทำเกิดขึ้นได้

สาม ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้นในกลุ่มคนรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกเช่นกัน คือ กลุ่มคน 10 เปอร์เซ็นต์แรกส่วนใหญ่  คือชนชั้นกลางในประเทศอุตสาหกรรม และกลุ่มคนรวยในประเทศกำลังพัฒนา ในกลุ่มนี้รายได้ของคนจำนวนมากในกลุ่มลดต่ำกว่าอัตราเฉลี่ย และที่เพิ่มมากคือ รายได้ของกลุ่มที่รวยสุด 1 เปอร์เซ็นต์แรก ทำให้ในช่วงปี 1995-2021 กลุ่มคนรวยสุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์แรกเป็นเจ้าของร้อยละ 38 ของทรัพย์สินทั้งหมดที่เศรษฐกิจโลกมี นี่คือกลุ่มอภิมหาเศรษฐีตัวจริง หรือ super-rich และที่รวยมากสุด ๆ ในกลุ่มนี้คือ กลุ่มคนรวย 0.1 เปอร์เซ็นต์แรกที่เป็นเจ้าของร้อยละ 11 ของทรัพย์สินที่เศรษฐกิจโลกมี

สี่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความมั่งคั่ง คือ อำนาจ และอำนาจเงินที่มีมากก็นำไปสู่อำนาจและอิทธิพลทางการเมืองซึ่งก็คือ กลไกหรือเครื่องยนต์ที่ปกป้องความมั่งคั่งที่มีอยู่พร้อมเสริมให้ความมั่งคั่งยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้นชัดเจนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยิ่งรุนแรงขึ้นถ้าไม่มีการแก้ไข โดยเฉพาะถ้าความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับคนจำนวนน้อย และการแก้ไขต้องการ การตัดสินใจ ทางการเมืองที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของนโยบายเศรษฐกิจ

“With Great Power Comes Great Responsibility”

เราคงเคยได้ยินคำพูดข้างต้น เป็นคำพูดโบราณที่ชี้ว่า อำนาจต้องมากับความรับผิดชอบ หมายถึง ผู้ที่มีอำนาจจะต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งในกรณีอภิมหาเศรษฐีก็เช่นกัน คือ เมื่อมีอำนาจทางการเงิน ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่จะใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ของคนอื่น คือ ช่วยเหลือสังคมและผู้ที่ด้อยโอกาส ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่มากับอำนาจ

ในเรื่องนี้มีข้อมูลว่า การทำหน้าที่และความรับผิดชอบของกลุ่มอภิมหาเศรษฐีต่อสังคมยังค่อนข้างน่าผิดหวัง

หนึ่ง อภิมหาเศรษฐีบริจาคเงินส่วนตัวน้อยมากคืนให้สังคมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากนิตยสาร The Economist ปี 2020 ชี้ว่ากลุ่มคนที่รวยที่สุด 5 เปอร์เซ็นต์แรก บริจาคเงินเพียง 1.7 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ให้กับการกุศล เทียบกับอัตราเฉลี่ยการบริจาคของคนทั่วไปที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับมั่งคั่งที่มี ตรงกันข้าม อภิมหาเศรษฐีชอบที่จะบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศล หรือ Philanthropy ที่ตนเองหรือเศรษฐีด้วยกันจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนพันธกิจที่กลุ่มอภิมหาเศรษฐีให้ความสำคัญ เช่น เรื่องการศึกษา โดยเฉพาะบริจาคให้มหาวิทยาลัยดัง ๆ ที่ตนเองเคยเรียน การแพทย์ ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งไม่มีผลโดยตรงต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือความยากจนที่เศรษฐกิจโลกมีและต้องการแก้ไข จนมีการตั้งข้อสังเกตุว่า การบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลเหล่านี้ โดยกลุ่มอภิมหาเศรษฐีแท้จริง คือ การใช้อำนาจเงินเพื่อรักษาสถานภาพของโลกปัจจุบันให้คงอยู่ต่อไปมากกว่าที่จะต้องการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ในเรื่องนี้นายปีเตอร์ เคลเมอร์ (Peter Kramer) อดีตอภิมหาเศรษฐีชาวเยอรมัน เจ้าของกิจการเรือเดินทะเล เคยกล่าวว่าองค์กรการกุศลเหล่านี้คือ การโอนอำนาจ (transfer of power) จากรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งไปสู่อภิมหาเศรษฐีที่ใช้อำนาจเงิน ตัดสินว่าอะไรดีสำหรับประชาชน

สอง หน้าที่ของอภิมหาเศรษฐีที่ต้องเสียภาษีในฐานะประชาชนก็ค่อนข้างผิดหวัง เพราะข้อมูลที่เปิดเผยออกมาชี้ว่า อภิมหาเศรษฐีบางคนเสียภาษีน้อยมาก โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพราะจะมีการวางแผนภาษีโดยผู้เชี่ยวชาญและใช้สิทธิทุกอย่างที่จะทำให้การเสียภาษีมีน้อยสุด หรือไม่ต้องจ่ายเลย ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากบทความ “Clamour for weath tax grows after revelations about super rich’s affairs” ตีพิมพ์ใน นสพ.เดอะการ์เดียน ประเทศอังกฤษ ปี 2020 สรุปว่าคนรวยสุด 25 คนในอเมริกาอาจจ่ายภาษีเทียบแล้วไม่ถึง 0.2% ของรายได้ที่มีในปี 2018 ทำให้มีเสียงเรียกร้องมากให้ใช้ภาษีทรัพย์สิน หรือ Weath tax เก็บภาษีกลุ่มอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้

ในรายงานความเหลื่อมล้ำโลก ปี 2022 มีการเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของภาษีทรัพย์สินที่เก็บจากกลุ่มเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐี คือ คนที่มีทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปถึงมากกว่า 100,000 ล้านในอัตราก้าวหน้า คือ อัตราเรียกเก็บตั้งแต่ร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 3.2 ผลคือ ภาษีดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้กับรัฐบาลได้มากถึง ร้อยละ 1.6 ของรายได้ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก ซึ่งรายได้ใหม่เหล่านี้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมี ไม่ว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การแพทย์ การศึกษา รวมถึงภาวะโลกร้อน ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีทรัพยากรจากภาษีใหม่นี้มาสนับสนุน

สรุปคือ ความเหลื่อมล้ำที่โลกมีจะยิ่งรุนแรงขึ้นถ้าไม่มีการแก้ไข และการแก้ไขสามารถทำได้ด้วยนโยบายเศรษฐกิจ เช่น ภาษีทรัพย์สิน แต่การตัดสินใจต้องการการผลักดันของนักการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเศรษฐกิจ.

เขียนให้คิด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน