'นักไวรัสวิทยา' เผยงานวิจัยผู้ป่วยฝีดาษลิงในเยอรมัน ไวรัสอาจกำลังปรับตัวให้มาแพร่เชื้อในมนุษย์ได้ง่ายขึ้น

'ดร.อนันต์' เชื่อการกลายพันธุ์ของ'ฝีดาษลิง'ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ไวเหมือนไวรัสโควิด เผยงานวิจัยผู้ป่วยในเยอรมันอาจเป็นกลไกหนึ่งที่ไวรัสกำลังปรับตัวเองให้มาแพร่และติดเชื้อในประชากรมนุษย์ได้ง่ายขึ้น

27ก.ค.2565- ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
·
ไวรัสฝีดาษลิงเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็น DNA ซึ่งต่างจากไวรัส SARS-CoV-2 ของโควิดที่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA ทำให้เชื่อว่าการกลายพันธุ์ของฝีดาษลิงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ไวเหมือนที่พบในไวรัสก่อโรคโควิดในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงเกิดขึ้นได้ช้ากว่าไวรัสโควิดมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าไวรัสจะไม่มีวิธีการสร้างความหลากหลายให้กับตัวเอง และ การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้และอาจส่งผลให้ไวรัสเปลี่ยนแปลงไปได้แบบฉับพลันเหมือนกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอยู่ในรายงานผลวิจัยชิ้นหนึ่งจากทีมเยอรมันที่ค้นพบว่า รหัสพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงที่แยกมาจากผู้ป่วยในเยอรมันมีอะไรที่แตกต่างไปจากไวรัสฝีดาษลิงทั่วๆไป สิ่งที่พวกเค้าพบสามารถอธิบายได้จากภาพที่แนบมาคือ ปกติรหัสพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงที่มีขนาดยาวมากถึง 190,000 เบส จะมีการเรียงตัวกันโดยแบ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้สร้างโปรตีนชนิดต่างๆของไวรัส ในภาพจะแทนด้วยตัวเลข เช่น 001,002, 003 ต่อไปเรื่อยๆ

ทีมวิจัยพบว่า ตัวอย่างไวรัสที่แยกได้จากผู้ป่วยรายนึง ชื่อว่า ChVir28389 2022 จากตำแหน่งแผล 2 ตำแหน่ง พบว่าการเรียงลำดับของรหัสพันธุกรรมที่แปลกไป กล่าวคือ ตำแหน่งยีน 005 (สีส้ม) พบเกิดขึ้นซ้ำกัน 2 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งเดิมและไปโผล่แทนที่ตำแหน่งยีน 184 -187 ผลของการที่ 005 ไปแทนที่ยีนแบบนี้ทำให้ไวรัสของผู้ป่วยรายนี้ไม่สามารถสร้างโปรตีน 185-186 ได้เลย เพราะยีนส่วนนี้หายไปจากพันธุกรรมของไวรัส ขณะที่ 184 และ 187 น่าจะเสียสภาพไปเช่นกัน เพราะไม่สามารถสร้างโปรตีนได้เหมือนเดิม

ทีมวิจัยยังไม่ทราบว่าตกลงยีน 184-187 ที่หายไปในไวรัสของผู้ป่วยรายนี้จะมีผลอย่างไรกับคุณสมบัติของไวรัส การหายไปของยีนที่ตำแหน่ง 186 และ 187 ก็เคยไปพบกับสายพันธุ์รุนแรงอย่างคองโก ทำให้อาจมีความเกี่ยวเนื่องกันได้ กับลักษณะความรุนแรงของไวรัส ตอนนี้ไม่มีใครทราบว่าไวรัสตัวนี้ในเยอรมัน จะดุขึ้น แพร่ได้ไวขึ้น หนีภูมิมากขึ้น หรือ จะอ่อนฤทธิ์ลง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่ที่แน่ๆคือ กระบวนการนี้สามารถสร้างความหลากหลายให้ไวรัสแบบมีนัยสำคัญได้

ทีมวิจัยระบุอีกว่า ปรากฏการณ์การกระโดดของยีนไปแทรกตำแหน่งอื่นๆบนจีโนมของไวรัสพบเกิดขึ้นมากับไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ในอดีต ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ไวรัสปรับตัวเองให้อยู่กับมนุษย์ได้ดีขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ที่พบในไวรัสของผู้ป่วยรายนี้อาจเป็นกลไกหนึ่งที่ไวรัสกำลังปรับตัวเองให้มาแพร่และติดเชื้อในประชากรมนุษย์ได้ง่ายขึ้น
https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2022.07.23.501239v1

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง! นักไวรัสวิทยายกผลงานวิจัยไอร์แลนด์ชี้ 'อัลไซเมอร์' อาจเกิดจากจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค)

'หมอธีระ' แนะเมืองท่องเที่ยวตะหนักเรื่องฝีดาษลิง!

'หมอธีระ' เผยฝีดาษลิงในไทยโผล่พรึ่บในจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น หรือเมืองท่องเที่ยว แนะรัฐจับมือเอกชนต้องจับมือสร้างความร็ร่วมกันก่อนจะระบาดหนัก!