'นักไวรัสวิทยา' เผยเหตุยังไม่มีการทำวัคซีนที่จำเพาะต่อ 'ฝีดาษลิง' ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีไปไม่ถึง

'ดร.อนันต์' เผยจะทำวัคซีนที่จำเพาะต่อ'ฝีดาษลิง' ด้วยการนำไวรัสไปเพาะเลี้ยงในเซลล์ไก่ เราจำเป็นต้องเสียเวลาถึง 11 ปีหรือไม่ เหตุที่ยังไม่มีทีมวิจัยไหนทำ ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีไปไม่ถึง แต่อยู่ที่ความคุ้มค่าของงานวิจัย

3ส.ค.2565- ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กว่า

ในอดีตในช่วงที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้าเท่าวันนี้ นักวิทยาศาสตร์สร้างวัคซีนฝีดาษจากการใช้ไวรัสตระกูลใกล้เคียงกับฝีดาษคน ชื่อว่า Vaccinia ซึ่งยังติดคนและก่อโรคได้แต่รุนแรงน้อยกว่า วิธีที่ทำให้ไวรัสกลายเป็นวัคซีนคือ การนำไปเพาะเลี้ยงในเซลล์ไก่ ซึ่งเชื่อว่าไวรัสจะเปลี่ยนคุณสมบัติดุๆนั้นไปเป็นไวรัสที่เชื่องลง และ ไม่ก่อให้เกิดโรคในคนในที่สุด ด้วยความอดทนอย่างสูงมาก ไวรัสถูกเลี้ยงในเซลล์ไก่ซ้ำๆไปเป็นจำนวนมากถึง 572 รอบ (ย้ำว่า 572 รอบ รอบนึงจะใช้เวลา 5-7 วัน ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงไวรัสนานถึง 4000 วัน หรือ เกือบ 11 ปี) จนในที่สุดได้ Vaccinia ที่มีคุณสมบัติตามต้องการ คือ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์คนได้ แต่ไปเพิ่มได้ในเซลล์ไก่แทน ไวรัสตัวนี้ถูกขายต่อไปให้บริษัท Bavarian Nordic ซึ่งนำไปเลี้ยงและพัฒนาต่อ กลายเป็นวัคซีนชื่อว่า MVA-BN หรือ IMVAMUNE ที่เป็นที่ต้องการสูงมากในปัจจุบัน

ข้อมูลของไวรัสหลังเลี้ยงในเซลล์ไก่ผ่านไป 572 ครั้ง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสารพันธุกรรมของไวรัสมากมาย มีตำแหน่งที่ขาดหายไปหลายตำแหน่ง แต่ไวรัสยังคงคุณสมบัติเป็นวัคซีนได้ดี เพราะโปรตีนที่จำเป็นต่อการสร้างภูมิยังมีคุณสมบัติครบถ้วน รหัสพันธุกรรมของไวรัสสามารถหาได้ตามข้อมูลที่ไม่ได้ปิดเป็นความลับแต่อย่างใด

คำถามคือ ถ้าวันนี้เราจะทำวัคซีนที่จำเพาะต่อฝีดาษลิงแบบวิธีข้างต้น เราจำเป็นต้องเสียเวลาถึง 11 ปี หรือไม่ วันนี้งานวิจัยสามารถสังเคราะห์ต่อลำดับเบสได้ตามต้องการโดยใช้เวลาเป็นวัน หรือ สัปดาห์ และ ต่อรูปร่างของสารพันธุกรรมไวรัส วันนี้เรามีข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงที่ครบถ้วน เรารู้ว่ายีนอะไรของ MVA-BN ที่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปจนไวรัสเชื่องลง ข้อมูลต้นแบบที่ชัดเจนเพียงแค่นี้ เพียงพอที่จะให้นักวิจัยสามารถสังเคราะห์เบสที่ตรงกับข้อมูลดังกล่าวและสร้างวัคซีนต้นแบบของฝีดาษลิงแบบจำเพาะได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานเป็นปีเหมือนในอดีต

วันนี้ยังไม่มีทีมวิจัยไหนทำ หรือ บริษัทไหนลงทุนทำ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีไปไม่ถึง แต่อยู่ที่ความคุ้มค่าของงานวิจัย หลายคำถามยังตอบได้ไม่ชัดว่า จะทำวัคซีนฝีดาษลิงใหม่ไปทำไมถ้าวัคซีนฝีดาษคนใช้ป้องกันได้ จะยอมเสี่ยงสร้างไวรัสตัวใหม่ทำไมเมื่อยังไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนไปแล้วจะเชื่องลงเหมือน MVA-BN หรือเปล่า และ ทำมาแล้วจะทดสอบยังไง ความปลอดภัยมั่นใจได้แค่ไหน ใครจะกล้าใช้

...วันนี้เราจึงยังไม่มีวัคซีนฝีดาษลิงถ้าคำถามเหล่านี้ยังไม่มีใครตอบ หรือ ไม่มีใครกล้าลงทุนทำให้เกิดขึ้นจริงๆ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง! นักไวรัสวิทยายกผลงานวิจัยไอร์แลนด์ชี้ 'อัลไซเมอร์' อาจเกิดจากจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค)

งานวิจัยแดนปลาดิบชี้สารใน 'ชาเขียว-ดำ' ช่วยยับยั้งโอมิครอนได้ดี!

ข่าวดีเล็กๆ นักไวรัสวิทยาเผยมีการวิจัยสัญชาติปลาดิบเพิ่งตีพิมพ์ สารที่อยู่ในชาเขียวและชาดำช่วยยับยั้งไวรัสโอมิครอนได้ดี ลองผลิตเป็นลูกอมทดสอบแล้วแต่ใช้ได้แค่ 15 ปีเมื่อหมดก็สิ้นฤทธิ์