นายกสมาคมคกก.รร.เอกชน แนะศธ.รีบทบทวนการเรียนรูปแบบใหม่ คาดเด็กม.ปลายออกนอกระบบเยอะขึ้น

11ต.ค.2565- นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยว่า ข้อมูลตัวเลขนักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จากการสรุปตัวเลขในภาพรวมทั้งหมดพบว่าจำนวนนักเรียนเข้าเรียนลดลงจากปีการศึกษา 2564 ประมาณ 80,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงเรียนอนุบาล ทำให้มีโรงเรียนที่ต้องปิดตัวลงไปประมาณ 40-50 โรง แต่มีโรงเรียนที่จัดตั้งใหม่เข้ามา 10 โรง สาเหตุของจำนวนตัวเลขนักเรียนลดลงเป็นจำนวนมากนั้น มาจากอัตราการเกิดของเด็กลดลง ประกอบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจส่งผลให้โรงเรียนบางแห่งขาดสภาพคล่อง ซ้ำปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้โรงเรียนเอกชนตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก โรงเรียนที่อยู่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพของผู้เรียน และครู ซึ่งในอนาคตโรงเรียนเอกชนอาจจะประสบปัญหาหาครูที่มีคุณภาพได้ยากขึ้น เพราะความต้องการระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดโรงเรียนเอกชนทุกแห่งจึงต้องหาจุดเด่นและแข่งขันในเรื่องคุณภาพของผู้เรียน และส่งเสริมการสอนความรู้ วิชาชีวิต และวิชาชีพให้กับเด็กโรงเรียนเอกชนทุกคน โดยเฉพาะเรื่องวิชาชีพต้องปูพื้นฐานตั้งแต่อนุบาล

นายนายศุภเสฏฐ์ ให้ความเห็นอีกว่า การสอนวิชาชีพในยุคปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญมาก ขณะนี้มีเด็ก ม.ปลายเบื่อเรียน ออกจากระบบการศึกษาไปเป็นจำนวนมาก และหันไปสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบอเมริกัน (US High School Equivalency Diploma) แทน ซึ่งการสอบเทียบวุฒิในระบบดังกล่าวจะใช้เวลาเรียนไม่นาน ทำให้เด็กมีเวลาไปทำในสิ่งที่สนใจ ไม่ต้องมานั่งเรียนในระบบแบบเต็มวัน เมื่อเด็กจบก็สามารถสมัครเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ จึงคาดว่าความนิยมสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบอเมริกันนี้จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี นับจากนี้เด็ก ม.ปลายจะหายออกจากระบบมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องกลับมาทบทวนรูปแบบการเรียนในระบบใหม่โดยเร็วที่สุด ซึ่งต่อไปอาจจะให้เด็กเรียนในลักษณะของการเก็บหน่วยกิตครบแล้วจบ หรือเรียนครบปีจบ เรื่องนี้จะต้องมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาด่วน


“กระทรวงศึกษาฯ ต้องยึดหลักสำคัญก็คือเด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช้ ไม่ใช่ยัดเยียดให้เด็กเรียนทุกเรื่องเหมือนทุกวันนี้ ศธ.ต้องทบทวนการเรียน 12 ปี และให้เด็กเรียนตามหน่วยกิต ใครพร้อมเรียนสะสมหน่วยกิตครบก็จบออกไป นอกจากนี้ควรเลิก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่ควรให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เด็กอยากเรียน “นายศุภเสฏฐ์ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน