อว.ยกระดับอุดมศึกษาสู่มิติใหม่ ทำระบบ Digital Transcript หวังลดงบ ขจัดปัญหาความยุ่งยากแบบเดิม

1ธ.ค.2564- นายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รองปลัด ศธ.) กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานในทุกด้านอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนประเด็นด้านมาตรฐานและเทคนิคต่างๆ คณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) ร่วมผลักดันให้เกิดมาตรฐาน Digital Transcript สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกัน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการใช้งาน Digital Transcript และสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินการ จนสามารถให้บริการเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) ที่มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 และปีการศึกษา 2564 ที่จะถึงนี้ได้สำเร็จ

โดยในปีการศึกษา 2563 มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งสิ้นกว่า 350,000 คน จากสถาบันอุดมศึกษา 39 แห่ง สามารถออกเอกสาร Digital Transcript แก่ผู้สำเร็จการศึกษาได้แล้วกว่า 100,000 คน หรือจะมี Digital Transcript ออกไปสู่ตลาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 100,000 ฉบับ ช่วยลดการใช้กระดาษ ลดภาระของหน่วยงาน ลดเวลาและขั้นตอน ในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารสำคัญทางการศึกษา

นอกจากนี้ภาครัฐยังสามารถพัฒนาข้อมูลจาก Digital Transcript ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ในมิติของการวิเคราะห์สถานการณ์กำลังคนในสาขาวิชาต่างๆ รวมไปถึงการติดตามประเมินผล เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานและความต้องการของประเทศในทุกมิติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้เป็น Thailand Skill Portal ต่อไปในอนาคต

“การดำเนินการในครั้งนี้ผมเชื่อว่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสให้กำลังคนเข้าสู่การแข่งขันในตลาดแรงระดับโลกได้ เพราะ อว.มีนโยบายชัดเจนที่จะปรับดปลี่ยนการบริหารงานให้เป็นรูปแบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ นิสิตนักศึกษา ประชาชน การออกเอกสาร Digital Transcript ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม และอว.ได้ตั้งเป้าว่า ภายใน 2 ปี ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องปรับไปดำเนินการในลักษณะนี้ทั้งหมด”รองปลัด อว.กล่าว

ด้านนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ Digital Transcript นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องใน 2 มิติ คือ การอำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนทั้ง การขอ การรับ การจัดเก็บ การใช้งาน และการตรวจสอบ และในอนาคตเมื่อสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งสามารถทำข้อมูลในรูปแบบ XML ได้อย่างสมบูรณ์ ก็จะช่วยให้เกิดข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับผู้สำเร็จการศึกษาสาขาต่าง ๆ แล้วยังเป็นต้นแบบที่จะขยายผลไปสู่สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งในประเทศไทย ทั้งขยายไปยังสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งขยายไปยังเอกสารอื่น ๆ ของภาครัฐได้อีกด้วย ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีกับทุกมหาวิทยาลัยที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการ Digital Transcript จนสำเร็จพร้อมให้บริการได้จริงในวันนี้

ด้านนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า การออกเอกสารราชการในรูปแบบดิจิทัลซึ่งมี Digital Transcript เป็นหนึ่งในเอกสารนำร่อง ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ของบริการภาครัฐมีความครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ สำหรับการจัดทำ Transcript ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) โดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ จากผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังบริการนี้ เรียกว่า PKI (Public Key Infrastructure) หรือ เทคโนโลยีกุญแจคู่สาธารณะ ผู้ได้รับไฟล์ Digital Transcript สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารได้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว ด้วยโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์พื้นฐานที่ใช้งานกันโดยทั่วไป หรือตรวจสอบผ่านระบบควบคุมและตรวจสอบเอกสารสำคัญทางการศึกษา (Web Validation Portal) โดยไม่จำเป็นต้องทำหนังสือกลับไปสอบถามหรือขอคำยืนยันจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดอีกต่อไป ช่วยลดทั้งกระบวนการและภาระของเจ้าหน้าที่ในการทำหนังสือถามตอบกันไปมา รวมทั้งลดระยะเวลาการตรวจสอบจากประมาณ 3 สัปดาห์เหลือไม่ถึง 5 นาที

นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า โดยในระยะแรก DGA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้มีการจัดทำ Digital Transcript ในรูปแบบที่ เรียกว่า “Secure Transcript” ก่อน ด้วยการลงลายมือชื่อดิจิทัลโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เอกสารถูกแก้ไขหรือปลอมแปลงได้ยาก และตรวจเช็กได้โดยง่าย ในระยะถัดไป จะร่วมกันผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาจัดทำไฟล์ข้อมูลในรูปแบบ XML แนบไปกับไฟล์ Digital Transcript เรียกว่า “Smart Transcript” เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานผ่านช่องทางดิจิทัลได้โดยอัตโนมัติ และนำไปสู่การสร้างและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศต่อไป

ด้านนายธัชวีร์ ลีละวัฒน์ ประธานคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) กล่าวว่า จากแนวทางความร่วมมือของคณะทำงานในการขับเคลื่อนโครงการ Digital Transcript ฯ ได้แบ่งระยะการพัฒนา Digital Transcript ออกเป็น 2 ระดับคือ Smart Transcript และ Secure Transcript โดยจะผลักดันระดับพื้นฐานให้สำเร็จ ก่อนที่จะผลักดันการพัฒนาระดับสูงในระยะต่อไป สำหรับมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จในการจัดทำ Digital Transcript มีความยินดีที่จะเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการจัดทำ Digital Transcript ให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ทั้งการถ่ายทอดประสบการณ์ และการสนับสนุนด้านเทคนิคต่างๆ ด้วย เพื่อเป็นการขยายผลโครงการให้ประสบความสำเร็จในวงกว้างต่อไป


“วันนี้จึงนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการบริการดิจิทัลภาครัฐ ที่ผนึกกำลังร่วมกันผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษามีความพร้อมในการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล หรือDigital Transcript) จำนวนทั้งสิ้น 39 แห่ง โดยขณะนี้ มีหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ทดสอบการใช้งานและพร้อมรับเอกสาร Digital Transcript แล้วจำนวนทั้งสิ้น 16 แห่ง เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น”นายธัชวีร์กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ศุภมาส’ ยัน ไม่ได้หนีอุเทนถวาย หลังมีคำสั่งให้ ขรก. เวิร์คฟรอมโฮม

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวก่อนการป

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'วันนักประดิษฐ์'

2 ก.พ.2567 - เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2567 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ