11 องค์กร ลงนาม ชู 3 เป้าหมาย ดันไทยปลอดไข้เลือดออกใน 5 ปี

26 ม.ค.65-ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดตลอดปี และพบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหะ เป็นแล้วเป็นซ้ำอีกได้เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีมีถึง 4 สายพันธุ์ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่พบมากได้แก่กระถางต้นไม้ จานรองกระถางต้นไม้ ท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นที่วางไข่ของยุงลาย ในประเทศไทย จึงมีจำนวนผู้ป่วยจะอยู่ที่หลักหมื่นหรือขึ้นไปถึงกว่า 130,000 รายในปีที่มีการระบาดมาก จึงเป็นที่มาในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก (Dengue-Zero MOU) จากร่วมมือของภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวน 11 องค์กร ได้แก่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, กรมควบคุมโรค, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, กรมอนามัย,กรุงเทพมหานคร, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, สมาคมโรงพยาบาลเอกชน, สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย)จำกัด

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ไข้เลือดออก ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดผื่นที่ผิวหนัง สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึมหรือกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ

นายกแพทยสมาคมฯ กล่าวอีกว่า ดังนั้นการลงนามในครั้งนี้นับว่าเป็นภารกิจที่จะมาช่วยเสริมกับการทำงานเกี่ยวกับไข้เลือดของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป้าหมายในการทำให้ประเทศไทยปลอดโรคไข้เลือดออก 3 ประการ ได้แก่1.ลดอัตราการป่วยจากไข้เลือดออกลงให้ได้ร้อยละ 25 หรือให้ไม่เกิน 60,000 รายต่อปี 2. ลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1:10,000 ราย 3.ควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือนในแต่ละชุมชน และหวังว่าภายใต้กรอบการทำงานระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2569) ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะลดลงเป็นศูนย์ ส่วนแนวทางการปฏิบัติจะเน้นการป้องกันอย่างเชิงรุกในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพิ่มช่องทางการรับรู้ของชุมชนในเข้าถึงง่าย และมุ่งพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อการกำจัดไข้เลือดออกให้ได้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืน

แพทย์หญิงดารินทร์ อารีย์โชคชัย รองผู้อำนวยการกอง สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า ยุงลายส่วนใหญ่จะระบาดในชุมชนเมือง เพราะน้ำขังในภาชนะนิดเดียวยุงก็สามารถวางไข่ได้ ทำให้ขยายพันธุ์ได้ดีกว่า ต่างจากยุงก้นป่องที่เป็นพาหะของโรคมาลาเลีย ซึ่งชอบวางไข่ในน้ำที่มีการไหลในป่า ซึ่งในสถานการณ์ของโรคไข้เลือดในช่วง 5-6 ปีย้อนหลัง พบผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 70,000-80,000 คนต่อปี อัตราของการป่วยตายประมาณ 1 ใน 1,000 คน หรือ 70-80 คนต่อปี ส่วนในช่วงวัยที่พบว่ามีการป่วยมากที่สุดคือ เด็กวัยเรียนอายุ 5-14 ปี ถึง 25% ในจำนวนผู้ป่วย 80,000 คนต่อปี แต่อัตราการเสียชีวิตจะน้อยกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ รองลงมาคือวัยรุ่น 15-24 ปี ช่วงหลังๆในกลุ่มนี้ยังมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มคนโรคอ้วนที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคได้ง่าย

“ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน อย่างในช่วงโควิด19 ระบาด 2 ปี ส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน ทำให้มีเวลาทำความสะอาดบ้าน แหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างขยะที่เป็นแหล่งน้ำขังปกติจะมากถึง 15% ก็น้อยลงเหลือ 9% หรืออาจจะเพราะทีมแพทย์ต้องทุ่มเทในการดูแลโรคโควิด อาจจะมีการตกหล่นในการรายงานจำนวนผู้ป่วย ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดในปี 2564 มีอัตราลดลง ดังนั้นจากการคาดการณ์เป็นไปได้ว่าในปี 2565 เมื่อมีการเปิดประเทศเต็มที่ มีการเดินทางหรือมีกิจกรรมต่างๆปกติอาจจะพบผู้ป่วยไข้เลือดสูงถึง 95,000 รายได้ สิ่งสำคัญคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้มีน้อยที่สุด ใส่ใจสภาพแวดล้อม และป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด” แพทย์หญิงดารินทร์ กล่าว

มร. ปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคเขตร้อนที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะ ในแต่ละปีโรคไข้เลือดออกส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรกว่า 390 ล้านคนทั่วโลก แต่จำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนั้นอาจสูงถึง 3,900 ล้านคน ดังนั้นการสร้างความรู้และวิธีการป้องกัน ตั้งแต่ระดับประชาชนทั่วไป ชุมชน ไปจนถึงนโยบายจากภาครัฐ จึงเป็นแนวทางสำคัญในการป้องกันโรค โดยการจะเอาชนะโรคนี้ได้นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยหน่วยงานหรือใครเพียงคนเดียวแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีความมุ่งมั่นเดียวกันในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก โดยเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของทาเคดาในการมอบสุขภาพที่ดีกว่าให้แก่คนไทยและพร้อมสนับสนุนทุกความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กุ้ง สุธิราช' แจ้งน้องสาวป่วยขั้นวิกฤต เป็นไข้เลือดออกรุนแรง-ยังไม่ได้สติ

สร้างความตกใจให้กับเหล่าแฟนคลับเป็นอย่างมาก เมื่อ กุ้ง-สุธิราช วงศ์เทวัญ นักร้อง-พระเอกลิเกชื่อดัง ได้ออกมาแจ้งข่าวผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า ตอนนี้น้องสาว วิ-ภิญญ์วดี ภูวรุ่งเรืองหิรัญ หรือ วิรดา วงศ์เทวัญ ได้ล้มป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง อาการอยู่ในขั้นวิกฤติ ยังคงนอนหลับไม่รู้สึกตัว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา