
10 ต.ค.2566- เมื่อวันที่9 ต.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เดินทางเข้ารับตำแหน่งวันแรก พร้อมเป็นประธานการประชุมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ โดยโรคและภัยสุขภาพที่กรมควบคุมโรคติดตามอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้ฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า โรคฝีดาษวานร และภัยสุขภาพ ได้แก่ การได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุทกภัย รวมถึงได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์สงครามในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ช่วงนี้ยังคงเป็นช่วงหน้าฝน ซึ่งมีโรคและภัยสุขภาพที่มาในช่วงหน้าฝนมากมาย และหนึ่งในนั้นคือโรคไข้หวัดใหญ่ที่ยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 248,322 ราย เสียชีวิต 8 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 10-14 ปี (19.02%) รองลงมาคือ เด็กแรกเกิด – 4 ปี (15.94%) และ อายุ 7-9 ปี (14.98%) ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในบริเวณที่ชุมชนหรือพื้นที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 2,817 ราย เสียชีวิต 32 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 45-54 ปี (18.53%) รองลงมาคืออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป (18.03%) และอายุ 35-44 ปี (16.19%) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรที่มีการเดินลุยน้ำย่ำโคลน
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 106,548 ราย เสียชีวิต 101 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี และเด็กแรกเกิด – 4 ปี สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาวันที่ 1 มกราคม – 4 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 479 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 20 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 25-34 ปี รองลงมาคือ อายุ 35-44 ปี และอายุ 45-54 ปี
สถานการณ์โรคฝีดาษวานร ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 461 ราย เป็นชาวไทย 413 ราย ต่างชาติ 45 ราย ไม่ทราบสัญชาติ 3 ราย จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 6 ตุลาคม 2566 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยมี 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง สุโขทัย ตาก ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ ลพบุรี อยุธยา อ่างทอง สระบุรี และสุพรรณบุรี พร้อมกำชับให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ การจมน้ำ ไฟฟ้าช็อต และระมัดระวังอุบัติเหตุการจมน้ำ และหลีกเลี่ยงการดื่มสุราเมื่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำ น้ำท่วมหรือบริเวณที่มีน้ำไหลเชี่ยว อาจตกน้ำเสียชีวิตได้
“กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย จึงได้สนับสนุนชุดเวชภัณฑ์ และชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งมอบไปแล้วกว่า 4,000 ชุด โดยมอบให้กับหน่วยงานในสังกัด ซึ่งก็คือสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อให้นำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนป่วยมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอหายใจเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย เมื่อพบแพทย์ขอให้แจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบด้วย “นพ.ธงชัยกล่าว
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กองโรคติดต่อทั่วไป กองโรคไม่ติดต่อ ให้ติดตามสถานการณ์การสู้รบที่ประเทศอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการช่วยเหลือแรงงานไทยที่จะอพยพกลับมา โดยให้เตรียมการคัดกรองสุขภาพคนไทย สถานะสุขภาพ เช่น มีอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บหรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังได้ประสานงานกับกรมสุขภาพจิตให้ไปช่วยเหลือทางจิตใจแก่แรงงานที่จะเดินทางกลับมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สมศักดิ์' ผวาเด็กไทยจมน้ำช่วงปิดเทอมชี้ปี 2567 เสียชีวิตวันละ 2 ราย
'สมศักดิ์' ห่วงเด็กจมน้ำช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เผยปี 2567 เด็กต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตถึง 173 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย พบสูงสุดเดือนมีนาคม
รัฐบาลพร้อมรับมือไข้หวัดใหญ่!
รัฐบาล โดย สธ.พร้อมรับมือ ไข้หวัดใหญ่ เตือนประชาชนดูแลสุขภาพ แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนลดความรุนแรงของโรค
อาจารย์หมอจุฬาฯ เตือนไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก ฉีดวัคซีนไม่พอ ต้องป้องกันตัวเองด้วย
วัคซีนอย่างเดียวไม่พอที่จะยับยั้งการระบาด แต่พฤติกรรมป้องกันตัว ใส่ใจสุขภาพ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวัคซีน
'หมอยง' ไขข้อข้องใขทำไมต้นปีนี้ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก!
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
‘หมอมนูญ’ เผยสถานการณ์โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ‘โควิด’ ลดลง ‘ไข้หวัดใหญ่’ เพิ่มขึ้น
ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาร์เอสวี (RSV) ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV) และไรโนไวรัส (Rhinovirus)