'ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง'แผ่ไพศาล ตามรอยการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในโอกาสวันที่ 5 ธันวาคม 2564 เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ตลอด 70 ปี ครองราชย์ ทรงมีสายพระเนตรยางไกล ทรงงานหนัก ทรงพระราชทานพระราชดำริให้รัฐขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คลายทุกข์ของพสกนิกร แนวทางพัฒนาของพระองค์มีเป้าหมายหลักให้คนไทย พออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ตาม“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจพอเพียงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทรงฝากไว้เป็นมรดกให้ชาวไทยไม่มีเลือนหาย และจะอยู่คู่ประเทศไทยและโลกตลอดกาล

เนื่องมาจาก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ถูกนำไปเผยแพร่แก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ตลอดจนช่วยเหลือประชาชนคนยากจนให้สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังแผ่ไพศาลแผ่บารมีปกเกล้าไปยังนานาประเทศในโลกนี้ด้วย

ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง (ศปร.) กองบัญชาการกองทัพไทย หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ “ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ” องค์ความรู้ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า  ประสบผลสำเร็จผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าไปช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วทุกภาคให้ดีขึ้น ก่อนขยายผลการแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปยังประเทศต่างๆ 

จนถึงปัจจุบันได้เตรียมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการพัฒนาชุมชนยั่งยืนระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในรัฐยะไข่เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบและขยายผลการเรียนรู้ในอีก3 พื้นที่ ได้แก่ รัฐคะฉิ่น รัฐมอญ และเขตตะนาวศรี เช่นเดียวกับกัมพูชาจัดฝึกอบรมด้านเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อนำปรัชญานี้ไปช่วยขจัดความเดือนของชาวกัมพูชา ให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ทุกวันนี้เพื่อนบ้านสองประเทศยังส่งกำลังพลและเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรมาอบรมทุกปี 

องค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียงยังขยายผลในทวีปแอฟริกา ผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปสาธารณรัฐเบนินเพื่อให้คำแนะนำการเตรียมการปฏิบัติงานตามแผนของโครงการที่เมืองจาโตมิน สาธารณรัฐเบนิน เริ่มตั้งแต่ปี 2561 จนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ ให้คำแนะนำโครงการลักษณะเดียวกันในประเทศไนจีเรียอีกด้วย โดยการทำงานในทุกๆ พื้นที่ที่จะเข้าไปพัฒนาจะเลือกพื้นที่ที่มีปัญหา เพราะเชื่อมั่นว่า การดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถแก้ปัญหาได้จริง!!!

พลเอก สุวิทย์ เกตุศรี ผู้อำนวยการ ศปร. กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง เป็นหน่วยหลักของกองบัญชาการกองทัพไทย มีภารกิจวางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแลและดำเนินเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง และโครงการพิเศษอื่นๆของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีวิสัยทัศน์เป็นหน่วยงานหลักกองทัพไทยในการขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ภายในปี 2570 และมุ่งสู่องค์กรสมาร์ท ดิจิทัล ในปี 2580

นอกจากนั้น ศปร.ยังได้บูรณาการแผนงานและงานโครงการของเหล่าทัพ ตลอดจนงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนทั้งภายในและภายนอกประเทศให้สอดคล้องตามแนวพระราชดำริและยุทธศาสตร์ความมั่นคง ภายใต้กรอบยุทธศาตร์ชาติระยะ 20 ปี ยุทธศาสตร์กองทัพไทย และแผนแม่บทของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

ผอ.ศปร. กล่าวต่อว่า ศปร.น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษาและต่อยอดนโยบายกองทัพไทยที่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์เดินหน้าเผยแพร่พระอัจฉริยภาพ พระราชประวัติ หลักการทรงงาน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับข้าราชการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้รับทราบและนำไปปฏิบัติด้วยการจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ดำเนินการโดยกองทัพไทย และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมทั้งจัดแสดงศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน จัดแสดงโครงการป่ารักษ์น้ำ และบ้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ณ พื้นที่ตั้งหน่วย  

การเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังเข้าไปสู่สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทีมวิทยากรเข้าไปบรรยายให้ความรู้  จัดทำนิทรรศการเคลื่อนที่ไปตามจังหวัดต่างๆ ภายหลังการบรรยายจะส่งเสริมให้จัดตั้งชมรมเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา และขยายผลการสร้างเครือข่ายบนสังคมออนไลน์เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าใจ และนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชีวิต  

“การพัฒนาคนและพัฒนาสิ่งแวดล้อมต้องควบคู่กัน ชุมชนต้องมีที่ดินเพื่อทำกินอย่างถูกกฎหมาย ไม่บุกรุกทำลายป่าเพื่อเพาะปลูก มีการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมกลุ่มสู่ระบบสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยยวข้องทำงานบูรณาการสู่จุดหมายเดียวกัน คือ พัฒนาคน ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลเป็นรูปแบบ ชุมชน สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และมีความสุข สิ่งเหล่านี้ด้วยพระวิสัยทัศน์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 “  พลเอกสุวิทย์  กล่าว

เรื่องราวของกษัตริย์นักพัฒนาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ศปร.ได้รวบรวมไว้ภายใน นิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ ในอาคาร ศปร. ซึ่งปรับปรุงใหม่ให้มีความทันสมัย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้โครงการพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้แก่ประชาชน  ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นว่า จากนี้ไป ศปร.จะส่งต่อองค์ความรู้ในการพัฒนาตัวเองอย่างยืนให้คนไทยสืบสาน รักษา ต่อยอดต่อไป

มีโอกาสได้ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการถาวร แต่ละส่วนจัดแสดงถ่ายทอดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่แผ่บารมีงอกเงยอยู่ในไทยและต่างประเทศให้คนไทยได้รับรู้ถึงความเป็น “พระมหากษัตริย์นักพัฒนายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” ดังนี้ เริ่มที่นิทรรศการส่วน สืบสาน รักษา ต่อยอด “จากนภา ผ่านภูผาสู่มหานที” เรียกได้ว่า จำลองภูมิประเทศของไทยมาไว้ที่นี่ พร้อมจอขนาดใหญ่ดึงดูดสายตา    นำพาไปทึ่งกับนวัตกรรมการแก้ปัญหาอย่างเชื่อมโยงโดยใช้กฎของธรรมชาติ ตั้งแต่ฝนหลวง เปลี่ยนเมฆจากฟ้าเป็นสายฝนชโลมดิน  ทำฝายชะลอน้ำเพื่อความชุมชื้น  ปลูกหญ้าแฝกลดพังทลายหน้าดิน สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์กักเก็บน้ำโครงการแก้มลิงลดท่วมหยุดแล้ง คลองลัดโพธิ์ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และปลูกป่าชายเลนบำบัดน้ำเสีย  ร.9 ทรงคิดค้น ศึกษา หาทางจัดการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเหมาะสม สร้างชีวิตใหม่ ทำให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ 

จากนั้นเข้าสู่โซน 1 ปฐมบทองค์ราชา เสนอเรื่องราวพระราชประวัติ ตั้งแต่พระบรมราชสมภพ-ทรงขึ้นครองราชย์สามารถนั่งชมได้ โซน2 พระคู่ขวัญบารมี โชว์ภาพแห่งความทรงจำและประทับใจของพระราชพิธีหมั้น พระราชพิธีราชาภิเษก ในรูปแบบดิจิทัล แกลเลอรี่  โซน 3 ครองแผ่นดินโดยธรรมนำสยาม ผู้มาเยี่ยมชมเหมือนได้เข้าเฝ้าฯพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โซน 4 ขัตติยวงศ์ องค์ภูมิพล เรื่องราวของพระราชโอรสและพระราชธิดา สะท้อนวิธีเลี้ยงดูในการเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อราษฎร โซน 5 ธรรมราชา ฉายภาพยนตร์ย้อนช่วงเวลาที่ทรงผนวช และทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเปี่ยมล้น 

ขณะที่โซน 6 พระอัจฉริยภาพเกริกไกร  รวบรวมพระอัจฉริยภาพทั้ง 7 ด้าน ตั้งแต่การต่อเรือใบ กีฬา จิตรกรรมประติมากรรม บทเพลงพระราชนิพนธ์ 48 บทเพลง  การถ่ายภาพ และภาษาและวรรณกรรม โซน 7 จุดเริ่มสายธารพระเมตตา แสดงให้เห็นทรงานไปยังถิ่นทุรกันดาร พื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพระราชดำริโครงการแรก ก่อนจะขยายผลไปทั่วประเทศไทย โซน 8 พระบารมีเกริกไกร เสด็จเยือนนานาประเทศ ทรงได้รับการถวายการต้อนรับสมพระเกียรติ  

โซน 9 เย็นศิระเพราะพระบริบาล ชู 8 โครงการพระราชดำริที่ส่งผลให้พสกนิกรอยู่อย่างร่มเย็นภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ตั้งแต่ปลานิล ป่าชายเลน เรือ ต.91 เรือของพ่อ โครงการไทย เดนมาร์ค หรือจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนฯลฯ โซน 10 มรดกแห่งปวงประชา ก็เป็นไฮไลท์สำคัญ   ถ่ายทอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่  โซน 11 สยามมินทราธิราช มาร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่แสดงความจงรักภักดีของพสกนิกรไทยที่มีต่อในหลวง ร.9 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เมื่อครบ 60 ครองราชย์เสด็จออกมหาสมาคมท่ามกลางพสกนิกรที่เฝ้ารอชื่นชมพระบารมีเนืองแน่น

เข้าสู่โซน 12 ราชาแห่งราชันนำเสนอรางวัลระดับโลกและพระเกียรติยศที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย อย่างรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์จากนายโคฟี อันนัน ในส่วนนี้ยังมีหนังสือจำลองแบบดิจิทัลให้พลิกอ่าน 17 ชัยชนะของการพัฒนา ที่มีรากฐานจากความเชื่อว่า ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้อย่างเต็มที่ เมื่อได้รับโอกาสที่ดี และความมีเหตุผล เรื่องราวร้อยเรียงจนมาถึงโซน 13 สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ ที่บีบหัวใจคนไทยผ่านการจัดแสดงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และจำลองพระเมรุมาศในรัชกาลที่  9  ถัดมาเป็นโซน 14 แบบอย่างของพ่อ เสนอหลักการทรงงานในรัชกาลที่ 9 สิ้นสุดที่โซน 15 ทหารของพระราชา จัดแสดงโครงการพระราชดำริของเหล่าทัพที่มีมากถึง 172 โครงการ

นอกจากนี้ มีห้องเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ๙๐๒ ชมการจัดแสดง  2 ส่วนสำคัญได้แก่ โครงการในพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสนอแบบจำลอง 3 โครงการ ประกอบด้วยป่ารักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ทรงส่งเสริมให้ปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง,บ้านเล็กในป่าใหญ่ และธนาคารอาหารชุมชน แต่ละโครงการนอกจากอนุรักษ์ดิน น้ำ แล้ว ช่วยลดการอพยพย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้ ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงอยากให้ราษฎรของพระองค์มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงนั่นเอง   

 อีกส่วนแสดงโชว์ความงดงามของผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศิลปาชีพบางไทรและผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขามที่ทำให้ชุมชนมีรายได้สามารถดูแลตัวเองและครอบครัว อีกทั้งเผยแพร่งานหัตถศิลป์ไทยไปในระดับสากลอีกด้วย

 นิทรรศการภายนอกอาคาร  ศปร. ก็ร่มรื่น น่าเที่ยวชม ทั้งบ้านเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการสาธิตป่ารักษ์น้ำ เนรมิตป่าเล็กกลางเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้สร้างจิตสำนึกรู้รักหวงแผนในผืนป่าไทย

ศปร.ตั้งอยู่ถนนวิภาวดีรังสิต ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี สนใจเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการทั้งหมดนี้ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. หรือมาเป็นหมู่คณะประสานล่วงหน้า ศปร. พร้อมสนับสนุนวิทยากรบรรยายและนำชมแต่ละส่วนอย่างน่าสนใจ  นอกจากนี้ ปัจจุบัน ศปร.อยู่ระหว่างก่อสร้างจัดทำนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ ๗๐ พรรษา ห้อง ๙๐๔ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและเผยแพร่พระราชกรณียกิจสืบสาน รักษา ต่อยอด ครอบคลุมทุกด้าน คาดว่า จะแล้วเสร็จกลางปี 2565 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แม่ค้าข้าวหมูแดง-ขาหมูเมืองเบตง แจกอาหารให้ประชาชนกินฟรี เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธันวาคม 2566

ในหลวง พระราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพรัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปทรงวางพุ่มดอกไม้ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต

รัฐบาลเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในหลวง รัชกาลที่ 9

นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปีดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในนามรัฐบาลดำเนินการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ

กรมพัฒนาที่ดิน จัดงานวันดินโลก ปี 66 น้อมรำลึก 'ในหลวง ร.9'

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน แถลงข่าวเปิดงานวันดินโลก ปี 2566 (World Soil Day 2023) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 ธันวาคม 2566

กลุ่มศิลปินร่วมใจสร้างสรรค์บทเพลงเทิดพระเกียรติ เนื่องในวันนวมินทรมหาราช

กลุ่มศิลปิน/นักแสดง และมูลนิธิร่วมร้อยใจไทย ร่วมกับจัดทำบทเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสที่ทางรัฐบาลได้ประกาศให้ทุกวันที่ ๑๓ ตุลาคม ของทุกปี

ในหลวง พระราชินี ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล