เปิดผังแม่บท'อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9' เนรมิตป่า-แก้มลิงใหม่กลางกรุง

อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ”อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9”  ซึ่งกำลังเปลี่ยนสนามม้านางเลิ้งเดิมให้เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานคร ที่ออกแบบเป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป เพราะที่นี่เป็นทั้งสวนแสนสวย เป็นสวนป่าธรรมชาติกลางกรุง อีกทั้งจะเป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางเมือง และแลนด์มาร์คของไทย

สวนแห่งนี้มีพระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นหัวใจสำคัญ โดยพระบรมรูปรัชกาลที่ 9 สูง 5.19 เมตร ขนาดเป็นสามเท่าของพระองค์จริง ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สูง 18.7 เมตร จากระดับถนนศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในลานรูปไข่ มีพื้นที่ 2,173 ตารางเมตรบนเนินสูง 7 เมตร โอบล้อมด้วยสวนป่าผสมผสาน

แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9  ตั้งอยู่บนผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อแล้วเสร็จมองจากจุดไหนของอุทยานฯ ก็เห็นพระบรมรูปยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา  โดยอุทยานเฉลิมพระเกียรติจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการภายในปี 2567

พื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพให้กับคนกรุงเทพฯ

สำหรับอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เกิดขึ้นจากพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชทานอุทยานแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดิน น้ำ ป่าของทั้งสองพระองค์ ซึ่งนำมาเป็นโจทย์ในการออกแบบพื้นที่โครงการ  279 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่น้ำ 47 ไร่ พื้นที่สีเขียว 105 ภายใต้แนวคิด”สวนแห่งความสุข และความยั่งยืน”

วรรณพร พรประภา คณะทำงานออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้คณะกรรมการโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กล่าวว่า แนวคิดการออกแบบโครงการ สอดคล้องกับพระราชปณิธานและพระราชดำริที่พระราชทานที่ดินในพระปรมาภิไธยพื้นที่  279 ไร่ อดีตเป็นสนามม้านางเลิ้ง  นอกจากจะเป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้สักการะและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง  ร.9  ในพระบรมราโชบายต้องการจะให้พื้นที่ทุกตารางเมตรสร้างประโยชน์แก่ประชาชน การออกแบบดำเนินการภายใต้พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ่านคณะกรรมการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯให้กับคณะทำงานออกแบบ

“ จุดสำคัญทรงมีพระราชดำริให้พื้นที่นี้แก้ไขปัญหาน้ำของกรุงเทพมหานครในยามวิกฤต โดยเป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือแก้มลิงใหม่ของกรุงเทพฯ คณะทำงานออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทโดยรอบ มีการเชื่อมโยงระบบระบายน้ำกับพื้นที่โดยรอบ  รวมถึงการเก็บน้ำทางผิวดินในสระน้ำ และเก็บน้ำใต้ดินที่สอดคล้องกับคูคลอง เช่น คลองเปรมประชากร คลองผดุงกรุงเกษม และคลองสามเสน วางแผนจัดการน้ำผ่านระบบสารสนเทศสมัยใหม่  หากเกิดวิกฤตน้ำท่วมจะช่วยแบ่งปัน บรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังให้กับเมือง “ วรรณพร กล่าว

วรรณพร พรประภา  

นอกจากนี้ มีการจัดการน้ำผ่านโซล่าเซลล์ลอยน้ำ หรือ Floating solar เพื่อนำพลังงานที่ได้มาใช้ในพื้นที่บางส่วนของโครงการ สูบน้ำจากปลายน้ำหมุนเวียนกลับขึ้นไปยังต้นน้ำ มีการเลี้ยงปลา เช่น กระโห้ ตะเพียนขาว ตะพาก กระแห พึ่งพิงกันเป็นระบบนิเวศ รวมถึงพืชชุ่มน้ำสร้างความหลากหลายทางธรรมชาติและกรองน้ำที่ไหลสู่บ่อน้ำเลข  ๙

สวนสาธารณะแห่งใหม่นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนใช้งานหลายรูปแบบ วรรณพรบอกตั้งแต่การเรียนรู้แนวพระราชดำริในหลวง  ร.9 และสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ  ที่สำคัญที่สุด คือ น้ำ เพราะน้ำคือชีวิต รวมถึงความสำคัญของดินและป่า

นอกจากนี้ ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ช่วย แก้ไขปัญหามลพิษอากาศที่เมืองใหญ่ประสบอยู่  โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก  PM 2.5  และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  อีกทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้านจิตใจ กีฬา นันทนาการต่างๆ

พระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวง ร. 9 โอบล้อมด้วยป่าและน้ำ

อุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งใหม่ วรรณพร กล่าวว่า จะเต็มไปด้วยพรรณไม้ สะท้อนแนวพระราชดำริการจัดการน้ำและป่าอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จัดพื้นที่ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ประกอบด้วย ไม้ใช้งาน  ไม้โตเร็ว  ไม้เศรษฐกิจ  และไม้รับประทานได้ ทั้งนี้ พรรณไม้ที่เลือกใช้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ นักพฤกษศาสตร์ นักวิชาการพืชสวน มาให้ความรู้ ต้นไม้ส่วนใหญ่จะเติบโตดีในภาคกลาง เพื่อการดูแลในอนาคตอย่างยั่งยืน อีกทั้งต้นไม้ส่วนใหญ่ปลูกจากต้นกล้า เพื่อให้มีระบบรากแข็งแรง เอื้อต่อการเจริญเติบโต

 นอกจากนี้ ปลูกต้นไม้เพื่อการศึกษา   เช่น ต้นไม้มงคลประราชทานประจำจังหวัด 77 จังหวัด สื่อความหมายแต่ละจังหวัดประกอบเป็นประเทศไทย  รวมถึงต้นไม้เชิงสัญลักษณ์ทางจิตใจ รำลึกถึงในหลวง ร. 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เช่น ต้นยางนา ต้นไม้ดอกสีเหลืองที่คนไทยคุ้นตา พรรณไม้ในวรรณคดี  รวมถีงปลูกพืชกรองน้ำ และพืชกรองฝุ่น ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์  พืชป้องกันมลพิษทางเสียง  โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้ปลูกต้นไม้ลดหลั่นความสูงและลักษณะความหนาของใบป้องกันเสียงได้ เป็นวิธีตามธรรมชาติ  ภายในสวนสามารถเรียนรู้ชนิดพรรณและประโยชน์หรือสรรพคุณผ่านเทคโนโลยีทันสมัยเพียงสแกนคิวอาร์โค้ด

ไฮไลท์ของการออกแบบยังนำสัญลักษณ์เลข ๙  มาแต่งแต้มความสุขให้กับสวน  วรรณพร บอกว่า  นอกจากพระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวง ร.9  จะมีสระน้ำเลข  ๙  สะพานเลข ๙ ซึ่งเป็นสะพานทางเข้าจากแยกนางเลิ้งขึ้นสู่พระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะ นอกจากนี้ มีสะพานหยดน้ำพระทัย เวลาสะท้อนน้ำเห็นเป็นรูปหยดน้ำ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่าน อีกทั้ง จำลองสะพานไม้เจาะบากง เป็นภาพจำที่ประชาชนคุ้นตามาก เมื่อครั้ง ร.9 เสด็จฯ จ.นราธิวาส ปี 2524 ประทับข้างรถยนต์พระที่นั่งบนสะพานไม้

อุทยานเฉลิมพระเกียรติจะเป็นแหล่งออกกำลังกายของคนเมืองแห่งใหม่ จะมีลานกีฬากลางแจ้ง ลานสเก็ตซ์  สนามบาสเก็ตบอล ลานเซปักตะกร้อ  พื้นที่เล่นโยคะ  พื้นที่เล่นชี่กงสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงเส้นทางจักรยาน 3.5 กิโลเมตร  เส้นทางวิ่ง 3.5 กิโลเมตร เส้นทางเดินที่น่ารื่นรมย์  แต่ละเส้นทางเป็นอิสระต่อกัน คำนึงถึงความปลอดภัย แต่สามารถเชื่อมกันได้

ทีมออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เผยแนวคิดการจัดสร้างสวนป่ากลางกรุง

วรรณพร เผยทรงมีพระราชปณิธานให้สถานที่นี้ให้ความสุขแก่ประชาชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งกีฬาเป็นเรื่องสำคัญมาก    มีพระบรมราโชบายให้ออกแบบเหมาะกับยุคสมัยและนึกถึงคนในอนาคต โดยเฉพาะเยาวชน  เพราะสวนไม่ได้อยู่แค่ ณ วันนี้  สวนจะโตจะไปกับคนไทย ในผัง 279 ไร่ มีการเว้นพื้นที่ว่างเพื่อออกแบบ ต่อยอดสำหรับกิจกรรมในอนาคต ผังแม่บทโครงการฯ จึงมีความยืดหยุ่นตามประโยชน์ใช้งานและความต้องการของประชาชน

ส่วนอาคารเก่าภายในสนามน้านางเลิ้ง ราชตฤนมัยสมาคม ตามผังแม่บทจะมีการอนุรักษ์และพัฒนา 4 อาคาร เก่า ประกอบด้วย โรงฝึกม้าหลวง  เป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมงดงาม ,อาคารกรมอัศวราช  เดิมเป็นอาคารอำนวยการ และอาคารเรือนข้าราชบริพารอีก 2 หลัง ขณะนี้คณะทำงานกำลังทำการศึกษาประโยชน์ใช้สอยอาคารที่เหมาะสมที่สุด

การออกแบบยังให้ความสำคัญเรื่องการเข้าถึงของผู้ใช้งานทั้งจากชุมชนเดิมโดยรอบ จากสถานีรถไฟฟ้า และการเข้าถึงใหม่ในอนาคต ซึ่งจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านแยกยมราช ส่วนสายสีแดงไฮสปีดเทรนผ่านด้านข้างของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมต่อผู้คนเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ที่สวนสาธารณะแห่งใหม่ได้  นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่จอดรถยนต์มากถึง 700 คัน

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่รวบรวมแนวพระราชดำริรักษาดิน น้ำ ป่า

โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ  ตามพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10 เน้นการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน  เธอย้ำเป็นแรงบันดาลให้ทีมออกแบบศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมจากโครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริ   บุคคลที่เคยถวายงานในหลวง ร. 9 และหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ต่างๆ  รวมถึงศึกษาข้อมูลจากหนังสือและประชาชน จนถึงกรณีศึกษาการออกแบบสวนสาธารณะหลากหลาย เพื่อให้การออกแบบสวนแห่งนี้เป็นไปตามพระบรมราโชบายอย่างแท้จริง

“ ทีมออกแบบแต่ละคนมีความรู้จำกัดตามความถนัด ตั้งแต่ภูมิสถาปัตย์  สถาปนิก  วิศวกร  ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม แต่แนวพระราชดำริเป็นแนวพระราชดำริที่ลึกซึ้ง เป็นองค์รวม ตลอด 3 ปีแต่ละคนร่วมมือร่วมใจกันนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ แต่ละส่วนมาออกแบบ พัฒนา และหาจุดที่สมดุล จนได้ภาพรวมของผังแม่บทที่ชัดเจน  เป็นประโยชน์กับพื้นที่แห่งนี้ที่สุด เหลือแค่ในรายละเอียดต่างๆ ดั่งพระบรมราโชบายให้ปรับปรุง พัฒนาตามความรู้ ทำควบคู่กับกระบวนการก่อสร้างโครงการ  “ วรรณพรเผยเป็นความท้าทายที่สุดในการออกแบบ

ในฐานะทีมงานเธอบอกทุกคนปลาบปลื้มใจและดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เมื่ออุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน  เป็นพื้นที่เก็บรวมรวมแนวพระราชดำริในการรักษาระบบนิแวศ ดิน น้ำ ป่า สะท้อนพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในหลวง ร.9 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด  รู้สึกซาบซึ้งใจและโชคดีมากที่เกิดเป็นคนไทย มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ห่วงใยประชาชน  ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เป็นสวนแห่งความภาคภูมิใจใต้ร่มพระบารมีพ่อแห่งแผ่นดิน และเป็นของขวัญล้ำค่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับคนกรุงเทพฯ และคนไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แลนด์มาร์คแห่งความสุข

อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สวนป่าธรรมชาติ ปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ  นับเป็นอีกหนึ่งความปลาบปลื้มใจใต้ร่มพระบารมี  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ให้คนไทย  การจัดสร้างอุทยานฯ มีความคืบหน้าตามลำดั

'ในหลวง-พระราชินี' ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

'พี่คนดี' ร่ายกลอน 'ตราบฟ้าสิ้น ดินสลาย' ผู้ใดมีจิตคิดทำลาย ขอให้แพ้พ่ายไม่ตายดี

เพจเฟซบุ๊ก P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น) โพสต์บทกลอนเรื่อง "ตราบฟ้าสิ้น ดินสลาย" มีเนื้อหาดังนี้ คุณความดี ของพระองค์ จะคงอยู่

'ผู้พันเบิร์ด' เผยที่มา 'อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9' จากแนวพระราชดำริในหลวง

“ผู้พันเบิร์ด”พันเอกวันชนะ สวัสดี จิตอาสา 904 เปิดเผยถึงความเป็นมาในการใช้ที่ดินสนามม้านางเลิ้งและแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่และเป็นพื้นที่จอดรถของโรงพยาบาลรามาธิบดี