'แอมเนสตี้' จี้ประชาคมโลกคุ้มครองผู้ชุมนุมในเมียนมา หลังล้มเหลวในการยุติความรุนแรง หนึ่งปีที่อาเซียนเห็นชอบ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ นักกิจกรรมเปลี่ยนไปใช้วิธีประท้วงแบบแฟลชม็อบ กองทัพตอบโต้ด้วยการคุกคามครอบครัว
22 เม.ย.2565 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า นักกิจกรรมที่กล้าหาญของเมียนมายังคงเดินหน้าชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป ท่ามกลางอันตรายร้ายแรงและปัญหาท้าทายมากมาย โดยกล่าวขึ้นเนื่องในโอกาสครบหนึ่งปีหลังจากอาเซียนเห็นชอบ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถยุติความรุนแรงในประเทศได้
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับ 17 คน ซึ่งยังคงเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงในห้ารัฐและเขตของเมียนมา โดยผู้ให้สัมภาษณ์มาจากหน่วยงานที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และหน่วยงานด้านสิทธิสตรี
วิธีการชุมนุมประท้วงซึ่งเป็นที่นิยมมากสุดอย่างหนึ่งในตอนนี้คือ “แฟลชม็อบ” โดยนักกิจกรรมจะวิ่งประท้วงในถนนหลายนาที ก่อนจะสลายตัวไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยิง ถูกจับ หรือถูกทหารเมียนมาขับรถชน
ประชาชนทั่วไปยังจัด “การประท้วงเงียบ” ทั่วประเทศ โดยบรรดาร้านค้าและธุรกิจพากันปิดตัว ท้องถนนว่างเปล่า และประชาชนอยู่กับบ้าน เพื่อแสดงการต่อต้านระบอบปกครองของทหาร
ทั่วประเทศเมียนมา นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้แจกจ่ายใบปลิวบนรถเมล์ ติดสติกเกอร์หรือพ่นสีตามกำแพงเป็นข้อความเพื่อต่อต้านกองทัพ และกระตุ้นให้มีการคว่ำบาตรสินค้าและบริการที่มีส่วนเชื่อมโยงกับกองทัพ
เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่านักกิจกรรมเมียนมาต้องการแรงสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากประชาคมโลก รวมทั้งมาตรการห้ามซื้อขายหรือส่งอาวุธให้เมียนมา เพื่อขัดขวางไม่ให้กองทัพสามารถใช้อาวุธสงคราม เข่นฆ่าสังหารผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ
“อาเซียนต้องเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา ยุติการใช้ความรุนแรงทั้งปวงต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องตามฉันทามติห้าข้อ และควรทำทันทีในตอนนี้ เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนชาวเมียนมาต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป”
“ทั้งอาเซียนยังจะต้องร่วมกันประณามต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งปวงในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ”
ในช่วงไม่กี่วันหลังการทำรัฐประหาร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและกลุ่มสิทธิมนุษยชนอีกหลายแห่ง ต่างกระตุ้นให้กองทัพเมียนมายุติการใช้กำลังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและการใช้ความรุนแรงถึงชีวิตต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ความรุนแรงเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้คนจำนวนมากเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งยังคงปฏิบัติการอยู่ทั่วประเทศ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้กองทัพปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง สอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้ามาทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่
แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบรับ ถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกสังหารแล้วกว่า 1,700 คน และอีกกว่า 13,000 คนถูกคุมขังนับแต่ทหารยึดอำนาจ ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง
นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้เป็นประจักษ์พยาน หรือตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่กองทัพระหว่างการชุมนุมประท้วง รวมทั้งการถูกยิง ถูกซ้อม และการขับรถชนพวกเขา
นอกจากนั้น นักกิจกรรมหลายคนยังบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกติดตามและสอดแนมข้อมูลส่วนตัวจากพลเรือนที่เป็นสายข่าวตลอดเวลา หรือที่พวกเขาเรียกว่าพวกดาลัน หรือบางทีก็เป็นการสอดแนมจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่สวมชุดพลเรือน และที่ขับรถไม่มีตราสัญลักษณ์
ในหลายกรณี ทหารและตำรวจได้จับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนสนิทของนักกิจกรรมเอาไว้ ถ้าไม่สามารถพบตัวนักกิจกรรมและจับกุมพวกเขาได้ รวมทั้งกรณีการจับตัวแม่วัย 94 ปีของนักการเมืองคนหนึ่ง และการจับกุมลูกสาววัยสี่ขวบของนักกิจกรรมอีกคน ตามรายงานข่าวของสื่อ
“แม้จะมีอันตรายและความลำบากใหญ่หลวง แต่นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกหลายคน ยังคงเลือกที่จะอยู่ในเมียนมาต่อไป พวกเขามีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ที่จะจัดการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และแสดงความเห็นต่างต่อไป” เอ็มเมอร์ลีน จิล จากแอมเนสตี้ กล่าว
พวกเขาหลายคนบอกว่า จะยังคงชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป เพื่อกระตุ้นให้คนทั้งประเทศลุกฮือขึ้นมา และทำให้คนเกิดความหวัง “เหตุผลสำคัญที่อาตมายังคงชุมนุมประท้วงต่อไป ก็เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกหรือไม่ให้คนเกิดความท้อถอย เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ามีกำลังใจเมื่อเห็นพวกเรา” พระอู ยอ จากมัณฑะเลย์กล่าว
“แม้ชีวิตพวกเราจะอยู่ในอันตราย แต่เราเลือกที่จะเดินหน้าต่อไป เรายังคงร้องขอต่อประชาคมโลกให้ช่วยเหลือพวกเรา เพราะมีประชาชนที่กำลังถูกเข่นฆ่าในเมียนมา” ซิน หม่า แกนนำผู้ประท้วงที่โมนยวา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ชี้คณะวิจิตรศิลป์ มช. ขัดขวางไม่ให้นักศึกษาเข้าใช้พื้น ละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ
กสม. ชี้ คณะวิจิตรศิลป์ มช. ไม่แจ้งผลการพิจารณาคำขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม และขัดขวางไม่ให้นักศึกษาเข้าใช้พื้นที่ในการจัดแสดงผลงานศิลปะ เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ
'แกนนำ3นิ้ว' ฝันเห็นคนในกระบวนการยุติธรรมไปเที่ยวต่างประเทศ โดนจับข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน
'แกนนำ3นิ้ว' ฝันเห็นคนในกระบวนการยุติธรรมไปเที่ยวต่างประเทศ โดนจับข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน
แอมเนสตี้ฯ ลุ้นหนักศาล ปค.ชี้ชะตาตั้ง 'เนติวิทย์' นั่งกรรมการ
แอมเนสตี้ฯ ระทึก ศาลปกครองกลางเตรียมอ่านคำพิพากษาชี้ชะตากรณีแต่งตั้ง 'เนติวิทย์' นั่งบอร์ด แต่ถูกมหาดไทยเขี่ยทิ้ง เนื่องจากพฤติกรรมไม่เหมาะสม
'อังคณา' ชำแหละมติครม.ออกพรก.เลื่อนการบังคับใช้พรบ.ป้องกันการอุ้มหาย
'อังคณา' กังวลครม.ออกพรก.เลื่อนการบังคับใช้พรบ.ป้องกันการอุ้มหาย ชี้เป็นการชะลอการบังคับใช้บทบัญญัติในมาตราที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด จี้รัฐบาลเร่งให้สัตยาบันอนุสัญญาการบังคับสูญหายขององการสหประชาชาติ
พระเอกมา ‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผม ขู่ ลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ
‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผมกว่าร้อยคนจนแหว่งและเสียทรง ตั้งคำถามว่า ‘ทรงผม’ เกี่ยวอย่างไรกับการเรียนรู้ ชูนโยบายก้าวไกล กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีมาตรการลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ