กทม.ออกระเบียบ การพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย 'ขรก.-ลูกจ้าง' ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ

7 มิ.ย.2565 - เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย ข้าราชการและลูกจ้างในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2565

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพักอาศัยในอาคาร บ้านพักข้าราชการและลูกจ้างในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อ 6 และข้อ 47 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการงบประมาณพ.ศ. 2563 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงกำหนดระเบียบขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยข้าราชการและลูกจ้างในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพักอาศัยในอาคาร บ้านพัก ข้าราชการและลูกจ้างในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552

บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“ข้าราชการ” หมายความว่า ข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญสังกัดฝ่ายการศึกษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน

“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างชั่วคราวหรือลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานครในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

“อาคารที่พักอาศัย” หมายความว่า อาคารที่พักอาศัยของโรงเรียนที่เป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ในความครอบครองของกรุงเทพมหานคร

“ผู้บริหารสถานศึกษา” หมายความว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนที่รับผิดชอบอาคารที่พักอาศัยนั้น

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการอาคารที่พักอาศัย ข้าราชการและลูกจ้างในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

“ผู้พักอาศัย” หมายความว่า ผู้ทำสัญญาเข้าอาศัยในอาคารที่พักอาศัย ตามระเบียบนี้

“เงินบำรุงอาคารที่พักอาศัย” หมายความว่า เงินที่ผู้ได้รับสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยจะต้องจ่ายให้แก่กรุงเทพมหานครตามระเบียบนี้ รวมถึงดอกผลของเงินดังกล่าวด้วย

ข้อ 5 ให้สำนักงานเขตที่อาคารที่พักอาศัยตั้งอยู่มีคณะกรรมการ ประกอบด้วย

(1) ผู้อำนวยการเขต เป็นประธานกรรมการ

(2) ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสั่งราชการฝ่ายการศึกษา เป็นกรรมการ

(3) หัวหน้าฝ่ายโยธา เป็นกรรมการ

(4) ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นกรรมการ

(5) หัวหน้าฝ่ายการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ

ข้อ6 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) คัดเลือกและอนุมัติการพักอาศัย

(2) เพิกถอนสิทธิการพักอาศัย

(3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(4) ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้

มติที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด การพิจารณาของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

ข้อ7 ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดและให้ผู้บังคับบัญชารับรองคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นข้าราชการหรือลูกจ้าง ซึ่งมีอัตราเงินเดือนและตำแหน่ง ดังนี้

(1.1) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครซึ่งดำรงตำแหน่งที่มีวิทยฐานะไม่เกินชำนาญการ

(1.2) ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญสังกัดฝ่ายการศึกษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนตำแหน่งประเภททั่วไปไม่เกินระดับช านาญงาน ตำแหน่งประเภทวิชาการไม่เกินระดับช านาญการ

(1.3) ลูกจ้างกรุงเทพมหานคร

(2) ไม่มีบ้านพักอาศัยเป็นของตนเองหรือคู่สมรสในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

(3) ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ

(4) ไม่ได้รับการสงเคราะห์จากราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อกิจการที่พักอาศัยของตนเองหรือคู่สมรสในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

(5) เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่เสพติดสุรา ของมึนเมา หรือยาเสพติดทุกชนิด ไม่หมกหมุ่นในการพนัน

(6) ตนเองหรือคู่สมรสไม่ได้เข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพัก ของราชการหรือหน่วยงานอื่นใดในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

(7) ไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิการพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของกรุงเทพมหานครมาก่อน

ข้อ 8 ลำดับความสำคัญในการพิจารณาเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย

(1) บ้านที่พักอาศัยประสบอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือวินาศภัยอื่น ๆ จนไม่สามารถใช้เป็นที่พักอาศัยได้

(2) ต้องคำพิพากษาของศาลให้ออกจากที่อยู่เดิม

(3) บ้านที่พักอาศัยของตนเองหรือคู่สมรสถูกเวนคืน และกรณีเป็นที่ยุติว่าต้องออกจากที่พักอาศัยนั้น

(4) เช่าบ้านอยู่หรืออาศัยผู้อื่นอยู่

(5) เหตุจำเป็นอื่น ๆ ที่คณะกรรมการเห็นว่าสมควรนำมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม

ข้อ 9 ผู้ได้รับสิทธิพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยจะต้องเข้าพักอาศัยเอง ห้ามบุคคลอื่นเข้าพักอาศัยแทน หรือร่วมพักอาศัย หรือใช้ประโยชน์ มิฉะนั้นให้ถือว่าผู้ได้รับสิทธิเข้าพักอาศัยผู้นั้นกระทำผิดวินัย ยกเว้นบุคคลซึ่งคณะกรรมการอนุญาตเท่านั้นที่จะร่วมพักอาศัยด้วยได้

ข้อ 10 ผู้ได้รับสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย จะต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติและต้องไม่กระทำการใด อันเป็นข้อห้าม ดังนี้

(1) ปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ ของทางราชการและคำแนะนำของคณะกรรมการหรือบุคคลที่คณะกรรมการมอบหมาย

(2) ไม่ใช้อาคารที่พักอาศัย เพื่อประโยชน์อย่างอื่น นอกจากการพักอาศัยเท่านั้น

(3) ไม่เล่นการพนันทุกชนิดในอาคารที่พักอาศัย และบริเวณอาคารที่พักอาศัย

(4) ไม่ดื่มสุราหรือสิ่งเสพติดใด ๆ ในอาคารที่พักอาศัย และบริเวณอาคารที่พักอาศัย

(5) ดูแลรักษาอาคารที่พักอาศัย ทั้งภายในและภายนอกให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ

(6) กรณีมีความช ารุดเสียหายเกี่ยวกับอาคารที่พักอาศัย และสิ่งก่อสร้างภายในบริเวณอาคารที่พักอาศัย ต้องแจ้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขโดยเร็ว พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในระหว่างการซ่อมแซมด้วย

แต่กรณีการชำรุดเสียหายที่เกิดจากผู้พักอาศัย ผู้พักอาศัยต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม

(7) ยินยอมให้คณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบอาคารที่พักอาศัยตามอำนาจหน้าที่

(8) ต้องไม่เลี้ยงสัตว์ที่อาจจะก่อให้เกิดความรำคาญ เดือดร้อน อันตราย หรือเป็นภัยต่อความสงบสุขแก่ผู้พักอาศัยคนอื่น ๆ หรือก่อให้เกิดความสกปรกต่ออาคารที่พักอาศัย เช่น สุนัข แมวเป็นต้น

(9) ไม่ประกอบการใด ๆ หรือมีพฤติกรรมใด ๆ อันเป็นที่รังเกียจแก่สังคมหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ อันตราย หรือเป็นภัยต่อความสงบสุขแก่ผู้พักอาศัยคนอื่น ๆ

(10) ต้องไม่ต่อเติม ดัดแปลง ย้าย หรือรื้อถอนส่วนใด ๆ ของอาคารที่พักอาศัย รวมทั้งไม่กระทำการใดที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารที่พักอาศัย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

ผู้ได้รับสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติหรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามวรรคหนึ่ง ข้อหนึ่งข้อใด หรือยอมให้ผู้ร่วมพักอาศัยไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติหรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามวรรคหนึ่ง (๑) ถึง (10) ให้ผู้ที่คณะกรรมการมอบหมายรวบรวมพยานหลักฐาน และส่งพยานหลักฐานไปให้ผู้อำนวยการเขตพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี

ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดไม่ได้รับสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย แต่ได้เข้าพักอาศัยแทนผู้ได้รับสิทธิเข้าพักอาศัย ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย ให้สำนักงานเขตที่อาคารที่พักอาศัยตั้งอยู่รวบรวมพยานหลักฐานและแจ้งพร้อมส่งพยานหลักฐานไปให้ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี

ข้อ 11 ผู้ได้รับสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย จะถูกเพิกถอนสิทธิการพักอาศัยในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาดคุณสมบัติที่ระบุในข้อ 7

(2) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย

(3) ไม่เข้าพักอาศัยภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันทำสัญญาเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย

(4) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 10 หรือยอมให้ผู้อื่นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 10 และคณะกรรมการหรือบุคคลที่คณะกรรมการมอบหมายได้ตักเตือนแล้วแต่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามอีก

(5) ไม่ชำระเงินบำรุงอาคารที่พักอาศัย เป็นเวลาติดต่อกันสามเดือน

(6) ค้างชำระค่าน้ำประปาหรือค่ากระแสไฟฟ้าจนกระทั่งถูกตัดมาตรวัด และไม่ดำเนินการติดตั้งมาตรวัดให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันถูกตัดมาตรวัด

ข้อ 12 ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิตามข้อ 11 ต้องออกจากอาคารที่พักอาศัย พร้อมขนย้ายทรัพย์สินของตนเองและผู้ร่วมพักอาศัยออกไปภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งว่าถูกเพิกถอนสิทธิการพักอาศัย

หากผู้ถูกเพิกถอนสิทธิการพักอาศัยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการเขตที่อาคารที่พักอาศัยตั้งอยู่ ส่งพยานหลักฐานไปให้สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานครดำเนินการตามกฎหมาย และให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณีอีกทางหนึ่งด้วย

ข้อ 13 เมื่อผู้ได้รับสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยถึงแก่ความตาย ให้บุคคลที่คณะกรรมการอนุญาตให้ร่วมพักอาศัยออกจากอาคารที่พักอาศัย พร้อมขนย้ายทรัพย์สินของตนเองออกไปภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นเสียชีวิตหากบุคคลที่คณะกรรมการอนุญาตให้ร่วมพักอาศัยไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการเขตที่อาคารที่พักอาศัยตั้งอยู่ ส่งพยานหลักฐานไปให้สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานครดำเนินการตามกฎหมาย

ข้อ 14 ผู้ได้รับสิทธิพักอาศัยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้

(1) ค่าบำรุงดูแลรักษาอาคารที่พักอาศัย และบริเวณอาคารที่พักอาศัย

(2) ค่าประกันอัคคีภัย ค่าประกันความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นจากการพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย

(3) ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่ารักษามาตรไฟฟ้า และค่ารักษามาตรน้ำประปา

การกำหนดอัตราค่าบำรุงดูแลรักษาอาคารที่พักอาศัย และบริเวณอาคารที่พักอาศัย ค่าประกันอัคคีภัย ค่าประกันความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นจากการพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยให้เป็นไปตามที่สำนักการศึกษากำหนด

ข้อ 15 ข้าราชการและลูกจ้างที่มีความประสงค์จะขอเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยให้ยื่นคำร้องตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดต่อผู้อำนวยการโรงเรียนที่ตนสังกัด และให้ผู้อำนวยการโรงเรียนส่งคำร้องไปยังสำนักงานเขตที่โรงเรียนนั้นสังกัดอยู่ เพื่อพิจารณาคัดเลือก แต่หากคำร้องดังกล่าว เป็นคำร้องที่ขอเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยต่างสำนักงานเขต ให้สำนักงานเขตส่งคำร้องไปยังสำนักงานเขตที่อาคารที่พักอาศัยตั้งอยู่ พร้อมหลักฐานประกอบการขอเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยดังนี้

(1) สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการหรือลูกจ้าง
(2) สำเนาทะเบียนบ้าน
(3) หลักฐานตามข้อ 7 และหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อ 8

ผู้ยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง หากแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนแจ้งต่อผู้อำนวยการเขต พร้อมส่งพยานหลักฐานไปให้ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี

ข้อ 16 ผู้ยื่นคำร้องที่ได้รับอนุมัติให้เข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยต้องทำสัญญากับกรุงเทพมหานครตามแบบสัญญาเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัย ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการอนุมัติโดยให้ผู้อำนวยการเขตเป็นผู้ลงนามในสัญญาในนามกรุงเทพมหานคร

ข้อ 17 เงินบำรุงอาคารที่พักอาศัย ไม่ต้องนำส่งเป็นเงินรายรับของกรุงเทพมหานครโดยให้นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัย ของอาคารที่พักอาศัย และบริเวณอาคารที่พักอาศัยและค่าซ่อมแซมสิ่งชำรุดเสียหายตามสภาพการใช้สอย รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานอาคารที่พักอาศัย

ข้อ 18 การอนุมัติให้ใช้เงินบำรุงอาคารที่พักอาศัยครั้งหนึ่ง ให้เป็นอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งและภายในวงเงิน ดังต่อไปนี้

(1) ผู้อำนวยการเขต ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท

(2) ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ครั้งละไม่เกิน 200,000 บาท

(3) ปลัดกรุงเทพมหานคร หรือรองปลัดกรุงเทพมหานคร ไม่จำกัดวงเงินที่ปลัดกรุงเทพมหานครมอบหมาย

การสั่งจ่ายเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินให้ประธานกรรมการหรือกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมาย กับกรรมการและเลขานุการ ของคณะกรรมการ ร่วมกันลงนามในเช็คสั่งจ่ายเงินหรือใบถอนเงิน

ข้อ 19 การรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงิน ให้น าข้อบัญญัติ ข้อบังคับระเบียบ หรือคำสั่งของกรุงเทพมหานครว่าด้วยการนั้น มาใช้บังคับ

ข้อ 20 ให้ผู้บริหารสถานศึกษา รับผิดชอบในการควบคุม ดูแลการบริหารจัดการอาคารที่พักอาศัยตลอดจนการพักอาศัยของข้าราชการและลูกจ้างให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้จัดทำรายงานบัญชีรายรับ

- รายจ่าย เงินบำรุงอาคารที่พักอาศัยและบริเวณอาคารที่พักอาศัยเป็นประจ าทุกเดือนและเมื่อสิ้นปีงบประมาณให้สำนักงานเขตรายงานสรุป บัญชีรายรับ

- รายจ่าย เงินบำรุงอาคารที่พักอาศัยและบริเวณอาคารที่พักอาศัยประจ าปีและเงินคงเหลือ ให้ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาและปลัดกรุงเทพมหานครทราบตามลำดับ

ข้อ 21 ข้าราชการหรือลูกจ้างที่ได้รับสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ก่อนแล้ว และเป็นผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยตามระเบียบนี้ ให้มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในอาคารที่พักอาศัยต่อไป

ข้อ 22 ในกรณีที่มีเหตุพิเศษสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น หรือที่ไม่มีกำหนดไว้ในระเบียบนี้ให้เสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาสั่งการเป็นกรณีไป

ข้อ 23 ให้ปลัดกรุงเทพมหานครรักษาการตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ขจิต ชัชวานิชย์
ปลัดกรุงเทพมหานคร
ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

T_0001 (1)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ 'พระธรรมราชานุวัตร' ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูรกิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร

กทม. เตือนค่าดัชนีความร้อนอยู่เกณฑ์ ‘อันตราย’ ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) อยู่ในเกณฑ์ 'อันตราย' คำแนะนำในการปฏิบัติตัว ประชาชนทั่วไป ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง