'ชัชชาติ' ลงนามร่วมศาลยุติธรรม เพิ่มบทบาทผู้นำชุมชนยื่นขอประกันตัว ดูแลผู้ต้องหา

“จีระพัฒน์-ชัชชาติ”ลงนาม สนง.ศาล-กทม.ร่วมมือพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยง การกำกับดูแลเรื่อง ขยายเครือข่ายให้กรรมการชุมชุนมีบทบาทเรื่องการประกันตัว เป็นก้าวต่อไปสู่การกระจายอำนาจลดความเหลื่อมล้ำ

30 มิ.ย.2565 - ที่ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ ชั้น 7 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการประสานงานระหว่าง ศาลยุติธรรมกับกรุงเทพมหานคร ในโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม

นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากทุกปี ศาลใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยถึงร้อยละ 90 ของจำนวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่ยื่นต่อศาล แต่ในบางกรณีจะมีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีของศาลไม่เคยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวมาก่อนเพราะไม่ทราบถึงสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราวว่าสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยไม่จำต้องเสนอหลักประกันมาพร้อมกับคำร้อง หรือเคยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ทำสัญญาประกันและวางหลักประกัน แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่สามารถหาหลักประกันมาเสนอหรือมาวางต่อศาลได้ เป็นเหตุให้ต้องถูกจองจำในระหว่างการพิจารณาคดี ย่อมถือได้ว่าผู้ต้องขังเหล่านี้เป็น “ผู้ที่ถูกขังโดยไม่จำเป็น”

โดยประธานศาลฎีกา ได้เล็งเห็นว่า การลดการเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาและจำเลยไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไรก็สามารถเข้าถึงสิทธิในการปล่อยชั่วคราวได้อย่างเท่าเทียมกัน จึงได้กำหนดให้พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวและส่งเสริมการใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อลดการเรียกหลักประกันควบคู่กับการสร้างความปลอดภัยให้แก่สังคม โดยการนำมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ มาใช้ในการปล่อยชั่วคราว เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติในระหว่างการปล่อยชั่วคราว การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ที่สามารถตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทาง และการแต่งตั้ง
ผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการกํากับและติดตามจับกุมผู้หลบหนี การปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 กำหนดให้ศาลแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ศาลกำหนด ได้แก่ เป็นผู้สอดส่องดูแล รับรายงานตัว หรือให้คำปรึกษาผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ผู้ต้องหาหรือจำเลยในฐานะประชาชนของสังคมได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น

สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เพื่อที่จะขยายเครือข่ายผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนเมือง มีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยการประสานความร่วมมือให้กรรมการชุมชนที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีภูมิลำเนาหรืออยู่อาศัยจริง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดและน่าจะทราบความเป็นไปกับพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยในชุมชน ทั้งยังเป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือ มีบทบาทในการช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยง และการช่วยสอดส่องกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้เป็นไปตามเงื่อนไขของศาล ตลอดจนในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีภูมิลำเนาห่างไกลที่ทำการศาล และมีฐานะยากจนไม่มีเงินพอเสียค่าพาหนะเดินทางมาศาลเพื่อมารายงานตัวบ่อยครั้ง คณะกรรมการชุมชนอาจช่วยเป็นผู้รับรายงานตัวแทนศาลได้ ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา และไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือไปก่อภัยอันตรายให้สังคม ได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกัน และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่สังคม

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมขอขอบคุณ
นายชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนกรุงเทพมหานครที่ได้ให้เกียรติมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมกันพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาหลักของกทม.ที่เราเจอและเป็นนโยบายหลักคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเมืองโดยเฉพาะใน กทม.เรามีชุมชน2,000กว่าชุมชนและเป็นชุมชนแออัด900กว่าชุมชน โดยมีความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหลักอย่างที่คนชอบพูดกันว่า คุกเอาไว้ขังคนจน ซึ่งแม้คดีอยู่ในช่วงประกันตัวก็ตามเนื่องจากหลายคนไม่มีหลักทรัพย์

จากการลงพื้นที่เราเห็น2เรื่องหลักในชุมชนต่างๆ 1.ในชุมชนจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนโดยมีประธานและคณะกรรมการชุมชนซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็น บุคคลที่รู้จักคนในชุมชนเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมาคณะกรรมการชุมชนไหนเข้มแข็ง ชุมชนนั้นจะรอดได้ ยกตัวอย่างเช่น ในเขตคลองเตยหากเราจะนำของไปบริจาค ตัวประธานชุมชนจะทราบเลยว่าบ้านไหนต้องการความช่วยเหลืออย่างไร หรือคนไหนเป็นลูกใคร อยู่บ้านหลังไหน ทำงานอะไร คนในชุมชนจะรู้จักเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน ซึ่งคนเหล่านี้จะรู้รายละเอียดได้ดีกว่าศาล และถ้าเราให้เกียรติ ให้ความรับผิดชอบเหมือนกับการกระจายอำนาจลงไปตนว่า คนในชุมชนจะเกิดความภูมิใจและจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบยุติธรรมให้ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาที่ได้กระจายอำนาจให้ประชาชน อย่างเช่นการให้อำนาจประชาชนในการช่วยแจ้งเหตุ ประชาชนรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของเมือง การกระจายอำนาจให้ประชาชนจึงเป็นส่วนหนึ่ง ที่น่าจะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง

2.ก่อนที่จะรู้จักโครงการนี้จากการลงพื้นที่บ่อยๆก่อนเป็นผู้ว่าฯตนได้คุยกับคุณลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นประธานกรรมการชุมชนแถวฝั่งธน ซึ่งตนก็ได้ถามประธานชุมชนว่าอยากได้อะไร คุณลุงคนนั้น ก็บอกกับตนว่าทำไมในฐานะประธานกรรมการชุมชนเขาถึงไม่ได้สิทธิในการยื่นประกันตัวในศาลทั้งที่เขาเป็นกรรมการชุมชน ซึ่งตอนนั้นตนก็ไม่ทราบถึงโครงการนี้ของศาล ก็ไม่รู้เรื่อง แต่พอมาเป็นผู้ว่าฯก็ได้พบว่ามีโครงการนี้อยู่ เเละได้ฟังความรู้จากท่านผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ก็เลยพึ่งมาทราบความหมายที่ประธานชุมชนคนดังกล่าวพูด จึงได้ทำความเข้าใจกับโครงการ และรู้สึกดีใจมากและอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและให้ความยุติธรรมแก่พี่น้องในชุมชน ทาง กทม.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางสำนักงานศาลยุติธรรมมีโครงการนี้ขึ้นมา และเป็นก้าวต่อไปในการลดความเหลื่อมล้ำและเป็นการกระจายอำนาจให้ชุมชนดูแลกันเอง ตนเชื่อว่าถ้าชุมชนมีความเข้มเเข็งและรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น สุดท้ายเมืองจะดีขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อ 'ตะวัน' ยื่นประกันตัวลูกสาวอีกครั้ง เผยค่าโพแทสเซียมต่ำ ใกล้จะเสียชีวิต

นายสมหมาย ตัวตุลานนท์ บิดาของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ"ตะวัน" ได้เดินทางมาเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว "ตะวันและแฟรงค์" จำเลยในคดี พ.ร.บ.คอมฯ และมาตรา116 จากกรณีโพสต์คลิปบีบแตรรถตำรวจรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ เมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา

'ตะวัน-แฟรงค์' ชวดประกันตัวครั้งที่ 6 ศาลชี้ไม่มีเหตุอื่นให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ทนายความได้ยื่นประกัน นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ต่อศาลอาญาอีกเป็น

ราชกิจจาฯ ประกาศจัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา

ศาลยุติธรรมเลือก ก.ต.ครั้งใหญ่ ได้ 12 ผู้คุมกฎฝ่ายตุลาการ

นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่าวันนี้ ที่ห้องประชุม 701 - 703 อาคารสำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 7 ถนนรัชดาภิเษก สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการตรวจนับคะแนนเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม