เปิดข้อมูล 'เขื่อนปากมูล' สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม จ.อุบลฯและจังหวัดใกล้เคียง

ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เปิดข้อมูล 'เขื่อนปากมูล' สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมจ.อุบลและจังหวัดใกล้เคียง ปี 65และปี62 เผยผู้ว่าฯมีมติให้เริ่มเปิดประตูเขื่อนเมื่อ12มิ.ย.65 แต่รองผู้ว่าฯเปลี่ยนมติขอให้ปิดประตูน้ำเขื่อน แนะปลดระวางโอนเขื่อนปากมูลให้มาอยู่ในการกำกับของกรมชลประทาน

26 ต.ค.2565 - นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงปัญหาน้ำท่วมจ.อุบลราชธานี มีรายละเอียดดังนี้

เปิดข้อมูล เขื่อนปากมูล สาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมจังหวัดอุบล และจังหวัดใกล้เคียง ปี ๒๕๖๕ และ ปี ๒๕๖๒ !!!!

น้ำท่วมซ้ำซาก เรียกได้ว่า เกือบท่วมปีเว้นปี แต่ที่หน้าแปลกใจมากก็คือ บรรดาหน่วยงานราชการ และ รัฐบาล กลับไม่เคยจะสรุปบทเรียนถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซากแบบนี้ แล้วปรับปรุงแก้ไขปัญหา ไม่ให้เกิดซ้ำรอย ซ้ำ ๆ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าน้ำท่วมปีนี้ (๒๕๖๕) และเมื่อปี ๒๕๖๒ ก็มีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ก็มาจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูล ล่าช้า เหมือนกันเลย โดยรายละเอียด มีดังนี้

ปี ๒๕๖๒ วิกฤติอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ อุบลราชธานี เริ่มส่งสัญญานมาตั้งแต่วันที่ ๒๖ สิ่งหาคม ๒๕๖๒ ที่มีปริมาณน้ำจำนวนมากได้ไหลเข้าเขื่อนในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูน ซึ่งเป็นเขื่อนที่อยู่ด้านบนของตัวเมืองอุบลราชธานี ขณะที่ปริมาณน้ำในลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากนั้น ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ เขื่อนในแม่น้ำชี ตั้งแต่เขื่อนวังยาง ในจังหวัดสารคาม เขื่อนยโสธร – พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เขื่อนธาตุน้อย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบล ได้ทำการระบายน้ำด้วยการแขวนประตูเขื่อนทั้งหมด พร้อมกับติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำออกจากเขื่อน ขณะที่ในแม่น้ำมูน เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ก็ต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเต็มที่ น้ำจากแม่น้ำสองสายหลักไหลมารวมกันที่อำเภอวารินชำราบ ก่อนถึงตัวเมืองอุบลราชธานี (M7) ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร เกิดเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ โดยระดับน้ำที่ M7 อยู่ที่ ๑๐๙.๕๘ ม.รทก. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน ๕๙ เซ็นติเมตร (ระดับที่ M7 เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ อยู่ที่ ๑๐๘.๙๙ ม.รทก. ซึ่งสูงเกิดระดับเก็บกักน้ำของเขื่อนปากมูล ที่กำหนดไว้ที่ระดับ ๑๐๘ ม.รทก.)

ขณะที่เขื่อนปากมูลยังปิดประตูเขื่อนสนิททั้ง ๘ บาน และเป็นเพียงเขื่อนเดียวที่ปิดประตูระบายน้ำอยู่ในขณะนั้น ขณะที่แผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งควรจะทำการเปิดประตูเขื่อนปากมูล ตั้งแต่วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเขื่อนในแม่น้ำชี และเขื่อนในแม่น้ำมูน พากันเร่งระบายน้ำลงมาอย่างเต็มที่ แต่คณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ไม่ให้ความสำคัญ กลับกำหนดให้เขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๒ ซึ่งล่าช้ามาก จนกระทั่งมวลน้ำมารวมกับที่ตัวเมืองอุบลราชธานีเริ่มล้นตลิ่ง ทำให้เขื่อนปากมูล ต้องทำการเปิดประตูระบายน้ำในกลางดึกของคืนวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้าแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงนัก

ปี ๒๕๖๕ ภัยพิบัติน้ำท่วมในปีนี้ มากมายมหาศาล มากกว่าปี ๒๕๖๒ หลายเท่านัก ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมอุบลราชธานี ก็คือ การเปิดประตูเขื่อนปากมูลล่าช้า โดยสัญญาณที่เริ่มบ่งชี้ให้ระวังก็คือ เขื่อนหัวนา และเขื่อนราษีไศล ซึ่งอยู่ด้านบนตัวเมืองอุบลราชธานี ตามลำน้ำมูน ได้เริ่มทำการระบายน้ำตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ และ ขณะที่ได้กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ก็ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ให้เริ่มเปิดประตูระบายเขื่อนปากมูล ก่อนจะเปิดน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งต่อมาวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เรียกประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้เริ่มเปิดประตูเขื่อนปากมูลในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ และเปิดประตูสุดบานทั้ง ๘ บาน ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕

แต่ต่อมาวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายวิรุจ วิชัยบุญ) เรียกประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล และนายบุญเลิศ แสงระวี หัวหน้าแผนกบำรุงรักษาไฟฟ้า (หน่วยงานเจ้าของเขื่อนปากมูล) ร่วมกับหน่วยงานราชการ เข้าร่วมประชุม โดยในวันประชุมผู้แทนเขื่อนปากมูล ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ระดับน้ำอยู่ที่ ๑๐๘.๒๐ ม.รทก. (เกินกว่าระดับเก็บกักน้ำปกติของเขื่อนปากมูล ที่จะเก็บน้ำไว้ที่ ๑๐๘ ม.รทก.) จึงขอให้ปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล (เปลี่ยนมติที่ประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ที่ให้เปิดประตูเขื่อนปากมูล) โดยการประชุมในครั้งนี้ตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นคณะทำงาน ฯ ร่วมอยู่ด้วย ไปได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วย และ หลังจากการประชุมเสร็จแล้ว ก็ไม่มีการเปิดเผยรายงานการประชุมต่อสาธารณะให้รับทราบเหมือนครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมาอีกด้วย

ขณะที่ในช่วงเดียวกันเขื่อนหัวนา และ เขื่อนราษีไศล ยังเร่งระบายน้ำออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเขื่อนหัวนา ได้เปิดประตูระบายน้ำสุดบาน ๑๔ บานในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ ทำให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี จนในที่สุดวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ แจ้งลดการระบายน้ำเพื่อหน่วงน้ำไว้ ไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชธานี แต่สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ จนนำไปสู่น้ำท่วมนา ท่วมบ้าน ท่วมเมือง ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จากข้อเท็จจริงที่นำเสนอมาข้างต้นจึงชัดเจนว่าเขื่อนปากมูล เป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งในปี ๒๕๖๒ และ ปี ๒๕๖๕ ทั้งด้านการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง เขื่อนปากมูลยังเป็นเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำที่ท่วมอยู่ ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เนื่องจากเขื่อนปากมูล สร้างปิดกั้นน้ำมูนที่มีความกว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร แต่มีช่องระบายน้ำรวมกันเพียง ๑๘๐ เมตร ทำให้น้ำระบายไม่ทัน ทำมห้น้ำท่วมขังนานมากขึ้น (แม่น้ำมูนจุดตั้งของเขื่อนปากมูล มีความกว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร แต่กลับถูกปิดกั้นให้เหลือเพียง ๑๘๐ เมตร ที่น้ำจะไหลผ่านได้ (ประตูเขื่อนปากมูลกว้างบานละ ๒๒.๕ เมตร X ๘ บาน = ๑๘๐ เมตร) ส่วนพื้นที่อีก ๒๒๐ เมตร ถูกปิดกั้นไว้ (๔๐๐ - ๑๘๐ = ๒๒๐))

ดังนั้นจึงแทบจะหวังไม่ได้เลยครับว่า ในอนาคตน้ำจะไม่ท่วมจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงอีก ดังนั้นเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี และ จังหวัดใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมจึงใคร่ขอเสนอแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

๑. ปลดระวางเขื่อนปากมูล และให้โอนเขื่อนปากมูล ให้มาอยู่ในการกำกับของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

๒. เมื่อกรมชลประทานรับโอนเขื่อนปากมูลแล้ว ให้กรมชลประทาน เปิดทางระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพิ่มจาก ๑๘๐ เมตร เป็น ๓๖๐ เมตร เหมือนกับที่เขื่อนราษีไศล ที่เดิมอยู่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และเมื่อโอนมาสังกัดกรมชลประทานแล้ว กรมชลประทานได้เปิดทางระบายน้ำเขื่อนราษีไศลเพิ่ม (เส้นจากบ้านดอนงูเหลือมเข้าไปเขื่อนราษีไศล)

อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้ง ๒ ข้อนี้ หาได้เกิดจากอคติแต่อย่างใด แต่มาจากพฤติกรรมการการบริหารงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลติแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่บริหารเขื่อนปากมูล ผิดพลาดมาตลอด และนอกจากนี้ เขื่อนปากมูล ก็ไม่มีความจำเป็นในการผลิตไฟฟ้าอีกแล้ว จึงควรโอนไปสังกัดกรมชลประทาน ที่กำกับเขื่อนทั้งในแม่น้ำมูน และ แม่น้ำชี เพื่อจะได้เป็นเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขื้น และในส่วนของการเปิดทางน้ำเพิ่มนั้น กรมชลประทานก็เคยทำมาแล้วที่เขื่อนราษีไศล การเปิดทางระบายน้ำเพิ่ม จึงสามารถทำได้ เพราะกรมชลประทานเคยทำมาแล้ว

สงสารประชาชนบ้างนะครับ ประชาชนเดือดร้อนกันมากแล้ว เดือดร้อนแทบทุกปี สิ้นเนื้อประดาตัวกันถ้วนหน้า ให้ความเจ็บปวด ความเสียหายที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เลิกทำผิดซ้ำ ๆ กันได้แล้ว
************

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลเชิญชวนเกษตรกร-ประชาชน สมัครร่วมโครงการจ้างงาน ช่วงว่างเว้นทำเกษตร

ช่วยเกษตรกรฤดูแล้ง! 'รัฐบาล' เชิญชวนเกษตรกร-ประชาชน สมัครร่วมโครงการจ้างงานกับกรมชลฯ สร้างรายได้ทดแทนช่วงว่างเว้นจากการทำการเกษตร

นักวิชาการชี้โครงการ 'ผันน้ำยวม' มูลค่าแสนล้านเสี่ยงผิดกม. สร้างหนี้รัฐมหาศาล ไม่คุ้มค่า

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม โดยมี ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ชาวร้อยเอ็ด จัดเวทีใหญ่ 2.4 พันคนลงชื่อไม่เห็นด้วยสร้างเขื่อนกั้นน้ำชี

ชาวบ้านลุ่มน้ำชีและเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีกว่า 350 คน ได้ร่วมเวทีนำเสนอข้อมูล เพื่อให้กรมชลประทานยกเลิกโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำ-ประตูระบายน้ำ(เขื่อน)กั้นแม่น้ำชี ที่มีแผนดำเนินการศึกษาและก่อสร้างบริเวณหมู่บ้านไชยวาน ต.นาเลิง อ.เสลภูมิ

กรมชลฯ เร่งระบายน้ำแจ้งเตือนลุ่มเจ้าพระยาอาจได้รับผลกระทบ

กรมชลฯ แจ้งเตือนลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 4 เพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จาก 1,500 เป็น 1,800 ลบ.ม./วินาที พื้นที่ท้ายเขื่อนเฝ้าระวังน้ำสูงขึ้นจากเดิมอีก 80 ซ.ม. อาจกระทบชุมชนบางพื้นที่