‘ธรรมศาสตร์’ ฉลอง 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ บุคคลสำคัญของโลก

วโรกาสอันเป็นมงคลครบรอบ 100 ปีประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองใหญ่ เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านในฐานะ ‘บุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม’ ปี 2565-2566 ซึ่งเป็นไปตามมติการประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งประชาชาติ (UNESCO) ครั้งที่ 41

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่มีคุณูปการต่อประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะ ‘ด้านการศึกษา’ ที่ทรงส่งเสริมให้ผู้คนทุกกลุ่มได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ทรงส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากล และทรงเสริมสร้างสมรรถนะของครูผู้สอน

ตั้งแต่การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มเด็กเปราะบาง-ชายขอบ ตลอดจนเด็กในพื้นที่ห่างไกล-ทุรกันดาร การส่งเสริมศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ไปจนถึงประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นอกจากนี้ยังทรงเป็น “อาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ” ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ซึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นหนึ่งในนั้น

ความแตกฉานทางภาษา พระองค์ทรงเป็นนักวรรณกรรม นักแปล นักเขียน นักเรียบเรียงหนังสือ โดยเฉพาะ ‘ภาษาฝรั่งเศส’ ที่พระองค์ทรงโปรดและมีความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ ทำให้ระหว่าง พ.ศ. 2513-2519 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษจนถึง พ.ศ. 2526

ด้วยทรงตระหนักว่า “ทุกคนควรเรียน ... ภาษาอื่นๆ ด้วย ทัศนะจะได้กว้างขึ้น แบบมีหน้าต่างบานเดียวก็เห็นวิวเดียวหากมีหน้าต่างหลายๆ บาน ก็เห็นวิวมากขึ้น มีความคิดกว้างขึ้น”(2522)

ระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ ที่ทรงมุ่งมั่น ทุ่มเท ทรงงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ก้าวหน้าในระดับสากล ตลอด 13 ปีเต็ม พระองค์ทรงริเริ่มให้สร้างหลักสูตรเพื่อเปิดสอนวิชาภาษาต่างประเทศใหม่ๆ ทรงบริหารพัฒนาอาจารย์ผู้สอนภาษาต่างประเทศ ทรงพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินผลให้ทันสมัย ด้วยพระวิริยะอุตสาหะและพระวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลนี้ ส่งผลให้คณะศิลปศาสตร์กลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านภาษาต่างประเทศในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

นอกจากนี้ ในฐานะที่ทรงจบการศึกษาทางสายวิทยาศาสตร์ จึงทรงตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของ “วิชาการสายวิทยาศาสตร์” ว่าจะเป็นพื้นฐานของการคิดค้นทางด้านเทคโนโลยี อันจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และทรงสนับสนุนให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) เป็นองค์กรอิสระเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

ในส่วนของพระกรณียกิจด้านวัฒนธรรม ทรงมุ่งเน้นการเผยแพร่ความรู้ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเพื่อความเข้ากันระหว่างวัฒนธรรม ทรงตระหนักว่า “ความมั่นคงและลุ่มลึกทางวัฒนธรรมทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งดีและร้าย”

ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่อุทิศพระองค์เพื่อส่วนรวม พระกรณียกิจของพระองค์ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ประชาคมโลก ด้วยจริยวัตรอันงดงามประกอบกับคุณงามความดีของพระองค์ท่าน ในปี 2560 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และกองทุนการกุศล กว. จึงเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำเอกสารเสนอพระนาม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ UNESCO ร่วมเฉลิมฉลองยกย่องพระเกียรติคุณในฐานะบุคคลสำคัญผู้มีผลงานเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับภารกิจขององค์การยูเนสโก โดยได้นำเสนอบทบาทการทรงงานเพื่อสังคมและประเทศชาติใน 3 ด้าน

ประกอบด้วย 1. ด้านการศึกษา ได้แก่ การสร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของบุคลากรครูผู้สอนภาษา 2. ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและคณิตศาสตร์ ได้แก่ บทบาทในการส่งเสริมให้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาฯ เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นทรัพยากรบุคคลในการพัฒนาประเทศต่อไป 3. ด้านวัฒนธรรม ได้แก่ การส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างวัฒนธรรม

การเสนอพระนามในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก 6 ประเทศ คือสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐฝรั่งเศส สมาพันธรัฐสวิส สหพันธรัฐรัสเซีย ราชอาณาจักรโมร็อกโก และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ กระทั่งเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 UNESCO ได้เผยแพร่มติการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 41 อย่างเป็นทางการประกาศยกย่องให้พระองค์ท่านเป็น‘บุคคลสำคัญของโลก’

วโรกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดงานเฉลิมฉลองและเทิดพระเกียรติทั้งในและต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือนิทรรศการชื่อ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในความทรงจำ ซึ่งแสดงถึงพระประวัติและพระบุคลิกภาพ พระกรณียกิจด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข และพระเกียรติยศที่ทรงได้รับจากยูเนสโก โดยจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 16-17พฤษภาคม 2566 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง อว. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยเป็นการนำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตีพิมพ์ทั้ง 2 ครั้ง มานำเสนอในรูปแบบของภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ 1. แสดงพระประวัติและพระบุคลิกภาพ 2. แสดงพระกรณียกิจด้านการสร้างและพัฒนาเยาวชนอัจฉริยะของประเทศไทย ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 3. แสดงพระกรณียกิจด้านการสาธารณสุข 4. แสดงพระเกียรติยศที่ทรงรับจาก UNESCO 5. แสดงพระกรณียกิจด้านการส่งเสริมการศึกษา ในส่วนนี้สามารถใช้แว่นตาสามมิติ Virtual Reality หรือสแกน QR Code เพื่อนำผู้ชมนิทรรศการไปเยี่ยมชม “ห้องทรงงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งปัจจุบันได้รับการดูแลให้คงอยู่ในสภาพเดิมอย่างสมบูรณ์ 6.แสดงพระนิพนธ์และพระกรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและดนตรีคลาสสิก

สำหรับนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ ณ กรุงปารีส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นทูตสันถวไมตรีของ UNESCO ด้านการส่งเสริมศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อยและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานตามคำกราบบังคมทูลเชิญของคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน โดยมี นางออเดรย์ อาซูเล ผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO นางทามารา รัสโตวัค เซียมาชวีลีประธานคณะกรรมการบริหาร UNESCO ร่วมรับเสด็จ

ในส่วนของประเทศไทยก็ได้มีกิจกรรมการเฉลิมฉลองอย่างต่อเนื่อง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำห้องนิทรรศการถาวร พร้อมทั้งปรับปรุงห้องทรงงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติไว้ที่ตึกคณะศิลปศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชั้น 5 เพื่อแสดงหลักฐานต่างๆ ที่ทรงใช้ในการสอนรวมทั้งห้องที่ทรงงานระหว่างสอนที่คณะศิลปศาสตร์เป็นเวลา 13 ปี

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทุน กว. และสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายวิชาการทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องพระประวัติ แนวพระดำริและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และตีพิมพ์เป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติคุณ ประหนึ่งกตัญญุตานุสรณ์ที่จะน้อมกล้าวถวายด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณต่อคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนให้มีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “Language Education and Thai Studies” ภายใต้แนวคิด “Diversities and Voices in Language Education and Thai Studies” ณ ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM ชั้น 7 ในวันที่ 12-13 กันยายน 2566 และในวันที่ 22-16 กันยายน 2567 จะจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง "แก้วกัลยา:สายไยไทย-จีนสัมพันธ์" พร้อมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนมีงานออกร้านแสดงสินค้าจีนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ณ ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM ชั้น 2

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาฯ จัดละครชาตรี 'มโนราห์' ฉลองวาระ 100 ปี เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

มูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดการแสดงละครชาตรี เรื่อง มโนห์รา ในวันจันทร์ที่ 4 กันยายนนี้ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงโปรดให้ ผู้แทนพระองค์ ไปชมการแสดงดนตรีคลาสสิก น้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ประจำปี 2565

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงโปรดให้ หม่อมหลวงสราลี กิติยากร เป็นผู้แทนพระองค์ ไปชมการแสดงดนตรีคลาสสิก น้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประจำปี 2565

ยูเนสโก รับรอง 'สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ-พระยาศรีสุนทรโวหาร' เป็นบุคคลสำคัญของโลก

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้เสนอพระนามสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)