ทะเลเดือดของจริง! 'ดร.ธรณ์' เผยอ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา อุณหภูมิน้ำสูงจนน่าสะพรึง

4 เม.ย.2567 - ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้วแม่เจ้าเอ๊ย

เตือนเพื่อนธรณ์มาตั้งแต่ปีก่อน เอลนีโญบวกโลกร้อนจะทำให้ทะเลเดือด เมื่อวานพูดถึงอุณหภูมิน้ำที่สูงจนน่าสะพรึง วันนี้สูงกว่าเมื่อวานครับ

เมื่อเทียบกับต้นเมษาปีก่อน น้ำแถวภาคตะวันออกร้อนกว่าเยอะ ยังเป็นน้ำร้อนประหลาด กลางคืนก็แทบไม่เย็นลง แช่อยู่ที่ 31.5+ องศา

กลางวันไม่ต้องพูดถึง น้ำช่วงนี้ร้อนเกิน 32 องศาเกือบทั้งวัน ที่สำคัญคือช่วงนี้เพิ่งเริ่มพีค (ดูภาพประกอบ จุดแดงคือน้ำร้อนวัดบ่ายเมื่อวาน)

พีคน้ำร้อนของทะเลไทยอยู่ที่ปลายเมษา/พฤษภา สถิติในปีก่อนๆ บอกว่าน้ำอาจร้อนกว่าต้นเมษา 1 องศา

หมายถึงปีนี้ในช่วงนั้น น้ำทะเลอาจร้อนเกิน 33+ องศา ขาดอีกนิดเดียวก็ออนเซนแล้วครับ (38 องศา)

ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า จุดที่เราวัดลึก 3-5 เมตร มิใช่น้ำแค่เข่าแค่เอวริมชายฝั่ง แถวนั้นน้ำจะร้อนยิ่งกว่า ถ้าวันไหนแดดแรงๆ จะร้อนจัด

อาบแดดแช่ออนเซนอาจเเป็นสโลแกนใหม่เที่ยวทะเลไทยในไม่ช้า

น้ำร้อนส่งผลอะไรบ้าง ? ปะการังฟอกขาว เรื่องนั้นแน่นอน หากร้อนระดับนี้ต่อไปอีก 2-3 สัปดาห์ ผมว่าเราจะเริ่มเห็นในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออก

NOAA ประกาศเตือนอีก 4-8 สัปดาห์ อาจเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในแถบบ้านเรา

ปะการังฟอกขาวทำให้เราต้องปิดจุดท่องเที่ยว ถ้าต้องปิดเยอะ ส่งผลกระทบแน่ โดยเฉพาะช่วงเที่ยวทะเล

สัตว์น้ำชายฝั่งลดลง เมื่อน้ำร้อนจัด ออกซิเจนในน้ำลดลง ปลายังต้องใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นตามเมตาโบลิซึมร่างกาย สัตว์เล็กอยู่ไม่ได้ ปลาไม่มีอาหารเพียงพอ

สัตว์ล้วนมีลิมิตของสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ได้ ปลาไม่มีแอร์ ปลาต้องว่ายหนีไปที่ลึก แต่ชาวประมงพื้นบ้านตามไปจับไม่ได้ เพราะออกไปไกลเกิน

เราไปเที่ยวทะเล หวังอยากกินอาหารทะเลสดๆ ซีฟู้ดราคารับได้ อาจไม่ได้กินอย่างที่คาดไว้

การเพาะเลี้ยงเดือดร้อน ปลาในทะเลยังว่ายหนีได้ แต่ปลาในกระชังไปไม่ได้ น้ำร้อนจัดอาจเสี่ยงกับสัตว์ตายยกกระชัง หนี้สินมหาศาลในชั่วข้ามคืน หอยหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ก็เกิดผลกระทบ โตช้า ตัวเล็ก หรือไม่ก็ตายไปเลย

น้ำเขียวมาถี่ น้ำร้อนทำให้แพลงก์ตอนบลูมง่าย เป็นเหตุการณ์ที่เตือนกันไว้ทั่วโลก ปีที่แล้วทะเลไทยเกิดแพลงก์ตอนบลูม 70+ ครั้ง มากกว่าเมื่อ 15-20 ปีก่อน ประมาณ 5 เท่า

ชายฝั่งตะวันออกคือเขตน้ำร้อนจัดในไทย (น้ำทะเลร้อนไม่เท่ากัน) แถวนั้นเป็นเขตฮอตสปอตของน้ำเขียวอยู่แล้ว น้ำร้อนขนาดนี้ยิ่งน่าห่วง

พายุฤดูร้อนที่มาปุ๊บ ฝนถล่มน้ำท่วมฉับพลันเป็นจุดๆ ตามที่เคยเกิดเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ยังกวาดเอาธาตุอาหารลงทะเล ช่วยกระตุ้นให้เกิดน้ำเขียวง่าย

ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง เท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการังหลายแห่ง แหล่งหญ้าทะเล มันก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว เปรียบเสมือนคนป่วยที่โดนโรครุมเร้า น้ำร้อนจัดในครั้งนี้อาจเป็นตัวปิดจ๊อปสำหรับแนวปะการังหรือแหล่งหญ้าทะเลบางแห่ง

ทั้งหมดนั้น เราทำอะไรกับน้ำร้อนไม่ได้ แต่เราช่วยลดโลกร้อนทุกทางได้ ช่วยบรรเทาผลกระทบอื่นๆ เช่น ขยะทะเล น้ำทิ้ง เที่ยวทำลายล้าง ฯลฯ

เรายังต้องป้อมเตรียมรับมือและปรับตัวกับเหตุการณ์น้ำร้อนเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ได้

เตรียมตัวไว้ให้ดี ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้ว แม่เจ้าโว้ย จะมารายงานสถานการณ์ให้เพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.ธรณ์ เปิดภาพปะการังไทยยุคทะเลเดือด บอกทำงานในทะเลเกือบ 40 ปี ไม่เคยเห็น

นี่คือปะการังไทยในยุคทะเลเดือด เป็นปะการังหน้าตาประหลาด ทำงานในทะเลมาเกือบ 40 ปี ผมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน จนมาถึงยุคนี้แหละ

อุตุฯ พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ต้น พ.ค. ฝนเพิ่มเริ่มคลายร้อนบ้าง

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น. วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 29 เม.ย. - 8 พ.ค. 67

อุตุฯ เตือนร้อนจัด ทะลุ 44 องศา บางพื้นที่ฝนฟ้าคะนอง ลมแรง

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด