กสม.ชี้ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อจ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น จี้อบต. กำกับแก้ไขปัญหา

5เม.ย.2567- นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่.นครชัยศรี จ.นครปฐม และก่อให้เกิดปัญหามลพิษรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่มานานหลายปี เช่น เป็นแหล่งกำเนิดแมลงวันจำนวนมาก มีปัญหากลิ่นเหม็น และฝุ่นละออง เป็นต้น ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเคยร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอนครชัยศรีเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการแก้ไขให้ปัญหาหมดสิ้นไป จึงขอให้ตรวจสอบ


กสม. พิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 (2) รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการจัดการและบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครอง บำรุงรักษา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนตามมาตรา 57 (2) และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5 รับรองสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้ออกข้อมติเมื่อเดือนก.ค. 2565 รับรองให้สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนหรือสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (right to a healthy environment) เป็นสิทธิมนุษยชน ด้วย


นายจุมพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อในพื้นที่ตำบลสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากองค์การบริหารส่วนตำบลสัมปทวน (อบต. สัมปทวน) และได้รับการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการไปจนถึงวันที่ 11 ก.พ.2568 โดยผู้ร้อง ผู้เสียหาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ข้อเท็จจริงสอดคล้องตรงกันว่า การประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อของผู้ถูกร้องส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงเป็นเวลานานหลายปี โดยเฉพาะปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนและแมลงวัน และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวเนื่องด้วยสภาพอากาศปิด นอกจากนี้ โรงเรือนเลี้ยงไก่ยังมีสภาพเก่า บางโรงเรือนชำรุดทรุดโทรม แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหามลพิษและให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกร้อง และผู้ถูกร้องได้พยายามบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ใช้แกลบเป็นวัสดุรองพื้นโรงเรือนเพื่อดูดซับมูลและปัสสาวะไก่ ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ใช้สารเคมีกำจัดหนอนแมลงวันและแมลงวันตัวเต็มวัยในโรงเรือน แจกกาวดักแมลงวันให้แก่ประชาชน ปลูกต้นไม้บริเวณรอบฟาร์มเพื่อดูดซับกลิ่นและป้องกันฝุ่นละออง อีกทั้งได้ลดจำนวนไก่ที่เลี้ยงลงเพื่อลดผลกระทบด้านมลพิษ แล้ว แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง


เมื่อพิจารณาผลการตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นจากการประกอบกิจการเลี้ยงไก่เนื้อของผู้ถูกร้องโดยกรมควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนด จึงเชื่อได้ว่ามาตรการจัดการกลิ่นของโรงเลี้ยงไก่ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็นซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมหมักหมมของมูลไก่ และปัญหาแมลงวัน ได้รับการแก้ไขได้ทั้งหมด จึงถือได้ว่าการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนเป็นเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และไม่สอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน


ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 จึงมีมติเห็นควรมีเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายต่อผู้ถูกร้องและองค์การบริหารส่วนตำบลสัมปทวน สรุปได้ดังนี้


1. ให้ผู้ถูกร้อง นำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) มาใช้ในการประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ โดยประกาศเป็นนโยบาย กำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและใช้บังคับอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ เช่น การแจ้งให้ อบต. สัมปทวน ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับวันเวลาที่จะจับไก่ เพื่อให้ประชาชนเตรียมการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงกลิ่นเหม็น แมลงวัน และฝุ่นละออง และการกำหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนรับรู้ เป็นต้น


2. ให้ อบต. สัมปทวน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ออกคำสั่งให้ผู้ถูกร้องปรับปรุงสภาพโรงเรือนที่ชำรุดทรุดโทรมและจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษทุกกระบวนการให้ดีขึ้น ได้แก่ การเลี้ยงไก่ การเปิดโรงเรือนเพื่อจับไก่ การเคลื่อนย้ายไก่และซากไก่ การขนถ่ายมูลไก่ และกิจกรรมอื่นที่อาจก่อให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นและแมลงวัน และติดตามการดำเนินการของผู้ถูกร้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ให้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการเลี้ยงสัตว์ปีกโดยเฉพาะ โดยกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน และมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดตั้งฟาร์ม การขออนุญาตประกอบกิจการ ตลอดจนการประกอบกิจการ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน นอกจากนี้ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวด 5 ในการระงับ จำกัด หรือควบคุมเหตุรำคาญอันเกิดจากการประกอบกิจการของผู้ถูกร้องอย่างเคร่งครัด โดยในการพิจารณาต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรประสานหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยในพื้นที่เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาต่อใบอนุญาตให้แก่ผู้ถูกร้องทุกครั้ง


ทั้งนี้ ให้อ.นครชัยศรีขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกลิ่นเหม็นรบกวนจากฟาร์มไก่ในเชิงรุก อาทิ วางแผนการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เข้าตรวจฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเป็นระยะอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับปรุงโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ชี้ ประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค จี้เยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหม

กสม. ชี้กรณีประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน

กสม. แนะ 'พ.ร.บ.อากาศสะอาด' เน้นปชช.มีส่วนร่วม ผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายชดใช้

ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า

กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ห่วงเสรีภาพสื่อ ปมตร.จับนักข่าวเอี่ยวพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว

คณะกรรมการ​สิทธิมนุษยชน​แห่งชาติ​ (กสม.)​ออกแถลงการณ์​จากกรณีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ และช่างภาพ ถูกจับกุมตามหมายจับในฐานความผิดให้การสนับสนุนในการทำให้โบราณสถานเสียหายตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

กสม.ชี้กรมอุทยานฯเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเขื่อนศรีนครินทร์ช้า เป็นละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้กรมอุทยานฯช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ช้าถึงห้าสิบปีเป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอ ครม. เร่งแก้ไข