มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัว “7 นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย” ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ เตรียมพร้อมรับมือ Super Aged Society พร้อมมอบนวัตกรรม SIT-TO-STAND TRAINER อุปกรณ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงพลัดตกหกล้ม ให้กับกรุงเทพมหานคร ด้าน “ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์” เดินหน้าขับเคลื่อนงานวิจัย มธ. ให้บริการ-ดูแลสังคม
10 ก.ย. 2567 - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดมหกรรมงานวิจัย 90 ปี นวัตกรรมธรรมศาสตร์ เพื่อประชาชน Thammasat innovation for the people ภายใต้ธีม “ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันพลัดตกหกล้ม” ซึ่งภายในงานมีการเปิดตัว “7 นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อสังคมสูงวัย” พร้อมทั้งพิธีส่งมอบนวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อสังคม “อุปกรณ์ออกกำลังกายและฟื้นฟูสำหรับการฝึกลุกยืนสำหรับผู้สูงอายุ” (SIT-TO-STAND TRAINER) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายและกายภาพบำบัด ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อรยางค์ส่วนล่าง ลดความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมี ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้แทนส่งมอบ และ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนรับมอบ ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ เปิดเผยว่า การจัดแสดงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัยในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในวาระโอกาสของการเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างงานวิจัย ใช้วิชาการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะโจทย์ท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ที่จะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ต่อไปภายใน 10-15 ปีข้างหน้า
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวว่า ภายใต้สังคมสูงวัย ทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการดูแลประชากรสูงอายุ ที่ส่วนหนึ่งจะมีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยทำงานมีจำนวนน้อยลง เท่ากับว่าภาระของประเทศทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ หรือสุขภาพ ก็จะเยอะมากขึ้นตาม ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญจึงเป็นการทำให้ผู้สูงวัยในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่กลายไปเป็นผู้ป่วยหรือผู้ติดเตียง สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้อย่างยาวนาน และนวัตกรรมที่ มธ. นำมาจัดแสดงรวมถึงมอบให้กับ กทม. ในครั้งนี้ ก็จะมีส่วนช่วยตอบโจทย์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างได้
“อย่างนวัตกรรมช่วยลุกยืนที่เรามอบให้กับทาง กทม. แม้จะดูเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ก็เป็นการประยุกต์ใช้หลักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มาผนวกกับการดูแลสุขภาพ อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการดูแลผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการลุกเดินหรือขยับร่างกาย ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ ล้วนเป็นความภาคภูมิใจของธรรมศาสตร์ ที่สามารถคิดค้นงานวิจัยใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ให้กับสังคม และรับใช้ประชาชนตามเจตจำนงค์ของมหาวิทยาลัย ที่ในวันนี้ ธรรมศาสตร์ไม่ได้มีความเข้มแข็งแค่ในมิติเชิงสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง แต่ทั้งหมดสะท้อนแล้วว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และอื่นๆ ด้วย ยืนยันว่าจะสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อให้บริการและดูแลสังคม” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว
ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้พัฒนานวัตกรรม SIT-TO-STAND TRAINER กล่าวว่า นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นนี้ นอกจากจะดูแลผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยมีทางเลือกในการฟื้นฟูดูแลสุขภาพและออกกำลังกายแล้ว ยังมีอีกกลุ่มสำคัญ คือผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่สถิติปัจจุบันพบว่ามีถึงประมาณ 2.5 แสนคนต่อปี และในจำนวนนี้มีถึง 70% ที่ยังมีความพิการหลงเหลือหลังจากรักษาหาย ซึ่งหากไม่ได้รับการฟื้นฟูดูแลอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ก็จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้มหาศาล เพราะไม่เฉพาะค่าใช้จ่ายจากการรักษาเท่านั้น แต่ยังเป็นในเชิงสังคมภาพรวมที่ต้องสูญเสียกำลังแรงงานไปกับการดูแลผู้ป่วยด้วย
ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า สาเหตุที่ผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการฟื้นฟูดูแลกายภาพที่ดีได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอุปกรณ์ที่มีในประเทศนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนนวัตกรรมทันสมัยที่นำเข้าจากต่างประเทศก็มีราคาสูงมาก คืออย่างต่ำ 3-4 ล้านบาท ส่วนใหญ่จึงมีอยู่ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น เกิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยตามมา จึงอยากตอกย้ำว่าแนวทางในการแก้ปัญหานั้น จำเป็นจะต้องนำนวัตกรรมฟื้นฟูดูแลกายภาพเหล่านี้กระจายลงไปถึงในระดับชุมชน หรือถ้าให้ดีคือมีการพัฒนาเป็นเวอร์ชันที่ใช้ในครัวเรือนได้ด้วย
“ในส่วนอุปกรณ์ SIT-TO-STAND นี้ เราตั้งต้นจากโจทย์ปัญหาการพลัดตกหกล้มของผู้สูงวัย ที่เกิดขึ้นมากถึง 1 ใน 4 ของผู้สูงวัย ซึ่งปัญหาหลักมาจากความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ จึงต้องการพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงวัยลุกนั่งได้ด้วยตัวเอง เพราะตราบใดที่ยังทำได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ โดยข้อดีของเครื่องนี้คือสามารถปรับแรงดันท้ายที่ช่วยให้ลุกยืนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องใช้แรงมาก จึงสามารถฝึกได้บ่อยถึง 50 ครั้งต่อรอบ เทียบกับฝึกด้วยเก้าอี้ธรรมดาที่ผู้สูงวัยอาจลุกยืนได้เพียง 4-5 ครั้งก็เหนื่อย” ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากตัวเลขของผู้สูงวัยทั่วประเทศที่มีอยู่ 12.7 ล้านคน มากถึง 10% หรือกว่า 1.2 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ กทม. จึงต้องการงานวิจัยหรือนวัตกรรมต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น SIT-TO-STAND TRAINER ที่อาจกระจายไว้ตามศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ทั้ง 69 แห่ง ตลอดจนศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ คลินิกผู้สูงวัยที่ปัจจุบันให้มีการเปิดไว้แล้วในทุกโรงพยาบาลของ กทม. ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยและผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างครอบคลุม
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า การสนับสนุนอุปกรณ์เหล่านี้จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าทั้งกับผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยตามศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะฟื้นฟู (IMC) นอกจากนี้ก็ยังจะช่วยให้เจ้าหน้าที่เหนื่อยน้อยลง สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น และไม่เฉพาะประเด็นของการพลัดตกหกล้มเท่านั้น เพราะเราต่างก็พยายามที่จะดูแลผู้สูงวัยที่ยังไม่ป่วย ให้มีเครื่องมือการออกกำลังกายที่จะช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อแก่ไปตามอายุ ซึ่งกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่จะช่วยให้ประชาชนแข็งแรงขึ้นได้เหล่านี้ ก็จะเกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์จากภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เข้ามาทำงานนวัตกรรมร่วมกัน
อนึ่ง ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการจัดแสดงนิทรรศการ 7 Wonders : นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ ตั้งแต่วันที่ 10-11 ก.ย. 2567 ณ บริเวณห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ธรรมศาสตร์'ฉลอง90ปี จัดใหญ่'กีฬามหาวิทยาลัยฯครั้ง50' มี126สถาบันฯร่วม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 50 "ธรรมศาสตร์เกมส์" (Thammasat Games 2025) ภายใต้แนวคิด "Unity of diversity, Victory for all - รวมความหลากหลาย สู่ชัยชนะเพื่อคนทั้งมวล” ตั้งเป้าหมายผลักดันศักยภาพนักกีฬาไทยให้ก้าวไกลไปสู่ระดับโลก พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการยอมรับความหลากหลาย การเคารพในความแตกต่าง สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านตราสัญลักษณ์การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ รวมทั้งสนับสนุนสร้างสุขภาวะที่ดี ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยการแข่งขันจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 18 มกราคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ชวนลูกแม่โดมร่วมงาน “วันธรรมศาสตร์ 90 ปี 2567” ชมรายการพิเศษทางโทรทัศน์เนื่องในวันธรรมศาสตร์ 9 ธันวาคม และสังสรรค์รำลึกความหลัง “วันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม”
สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคม ชวนลูกแม่โดมร่วมงาน “วันธรรมศาสตร์ 90 ปี 2567” ชมรายการพิเศษทางโทรทัศน์เนื่องในวันธรรมศาสตร์ คืนวันที่ 9
สร้างภูมิคุ้มกัน 'พลัดตกหกล้ม' 10-11 ก.ย.นี้ เชิญชมนิทรรศการ 7 นวัตกรรมธรรมศาสตร์ เพื่อสังคมสูงวัย
เพราะทุกห้วงยามแห่งการร่วงหล่น มีหลายชีวิตพลัดหลงในกาลเวลา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete
'เกษียร' แย้ง 'พุทธทาส' เมื่อไหร่เอาศาสนกิจมาเป็นเกณฑ์กำหนดการเมือง เมื่อนั้นจะได้เผด็จการโดยธรรม
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์อาวุโส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Kasian Tejapira ว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีไว้เพื่อ
'ธรรมศาสตร์' จัดงานครบรอบ 79 ปี วันสันติภาพไทย
“ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” นำอ่านประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 ในงาน “ครบรอบ 79 ปี วันสันติภาพไทย” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดรำลึกปฏิบัติการกอบกู้ชาติของ “ขบวนการเสรีไทย” จน
'ธรรมศาสตร์' ชวนรำลึกวันวาน กับคอนเสิร์ตเพื่อคุณภาพชีวิต
ธรรมศาสตร์ ณ ลุ่มเจ้าพระยา ชวนรำลึกวันวาน 90 ปี ธรรมศาสตร์ กับ คอนเสิร์ตการกุศล เพื่อคุณภาพชีวิต 90ปี ธรรมศาสตร์ กับสุนทราภรณ์ พบกับวงดนตรีสุนทราภรณ์เต็มวงชุดใหญ่ พร้อมนักร้องรับเชิญ อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ รองชนะเลิศอันดับ 1 KPN Award เคยรับบทเป็น อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ วัยหนุ่มในละครเวที มังกรสลัดเกร็ด