อ.ธรรมศาสตร์ ชำแหละผลกระทบ 'วิกฤติเด็กไทยเกิดน้อย' เขย่าสังคมไทย

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุ สถานการณ์เด็กเกิดน้อยจะเขย่าประเทศทั้งระยะสั้น-ยาว “จำนวนคน-ครอบครัว-สภาพสังคม” จะเปลี่ยนไป แนะรัฐคลอดนโยบายเอื้อการมีบุตรและต้องเริ่มทันที ย้ำสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือการปรับเปลี่ยน mindset “มีลูกไม่เท่ากับมีภาระ”

28 ม.ค. 2565 - รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงอัตราการเกิดของเด็กไทยที่ลดต่ำลงตอนหนึ่งว่า อัตราเกิดหรือจำนวนเด็กแรกเกิดของประเทศไทยที่ลดลงนั้น เริ่มต้นและลดลงเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่มีประชากรเกิดมากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปีราวปี พ.ศ.2506-2526 ซึ่งเราเรียกการเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปีในช่วงนั้นว่า ยุค Baby Boom จากนั้นก็เริ่มลดลงจนกระทั่งในปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนคนที่ตายไป

รศ.ดร.ธีระ กล่าวว่า อัตราการเกิดที่ลดต่ำจนน้อยกว่าอัตราการตายนั้น จะทำให้จำนวนประชากรไทยเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนกว่าจะมีจำนวนเด็กแรกเกิดสูงกว่าหรือเท่ากันกับจำนวนประชากรที่ตายไปอีกครั้ง จึงจะทำให้จำนวนประชากรไทยมีโอกาสที่จะคงที่หรือเพิ่มจำนวนขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดีจากข้อมูลสถิติผลการสำรวจศึกษาและวิจัย พบว่าแนวโน้มที่อัตราเกิดจะเพิ่มขึ้นในภาวการณ์เช่นดังปัจจุบันคงเป็นไปได้ยาก เพราะตัวเลขการเกิดที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้า

“ในปี พ.ศ.2554 เรายังมีตัวเลขการเกิดสูงเกือบ 8.5 แสนคน ในขณะที่ 10 ปีผ่านไป ตัวเลขการเกิดต่ำกว่า 5.5 แสนคน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ตัวเลขการเกิดลดลงมากกว่า 1 ใน 3 โดยใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น อีกทั้งยังมีการคาดการณ์กันอีกด้วยว่า จากจำนวนประชากรไทยในปัจจุบันที่มีไม่ถึง 70 ล้านคนนี้นั้น จะลดลงมาเหลือเพียงครึ่งเดียวคือไม่เกิน 35 ล้านคน หรือคนไทยเราจะหายไปครึ่งหนึ่งเพราะเด็กเกิดใหม่น้อย ในขณะที่มีคนสูงอายุที่จะทยอยกันตายไปตามอายุขัยภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี ซึ่งต้องกล่าวว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ในหลายประเทศก็อยู่ในภาวการณ์เช่นเดียวกัน” รศ.ดร.ธีระ กล่าว

รศ.ดร.ธีระ กล่าวต่อไปถึงผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากตัวเลขการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หรือที่ในทางประชากรเราเรียกว่า ภาวการณ์เจริญพันธุ์ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราทดแทน กล่าวคือจำนวนเด็กที่เกิดใหม่ไม่ได้สัดส่วนที่จะทดแทนคนรุ่นพ่อและแม่ได้

สำหรับผลกระทบระยะสั้น 1. คนจะลดลง ด้วยตัวเลขการเกิดต่ำกว่าตัวเลขการตาย จำนวนประชากรจึงลดลง ส่งผลให้อะไรก็ตามที่ตระเตรียมไว้สำหรับการรองรับคนจำนวนที่มากขึ้นหรือเพิ่มขึ้นก็จะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย ธุรกิจร้านค้าและบริการต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเกษตรกรรมจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมากๆ จะเสียเปล่า

2. ครอบครัวจะเปลี่ยนไป ครอบครัวขยายจะหายไปกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันไม่กี่รุ่น การอยู่ลำพังและตายจากอย่างโดดเดี่ยวหรือมีแต่เพื่อนญาติห่างๆ จะมีมากขึ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นที่จะถูกถ่างขยายออกมากขึ้นด้วยสาเหตุจากการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสด หรือความไม่พร้อมในการมีบุตร รวมถึงความต้องการชีวิตส่วนตัวและมีอิสระที่มากขึ้น

3. สังคมจะเปลี่ยนแปลง นอกจากความสำคัญของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมแล้ว การที่คนลดน้อยลง จึงมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ หากไม่เกิดการรวมกลุ่มใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกเสมือนแทนกันมากยิ่งขึ้น สังคมของคนเราจะถูกผลักให้ออกห่างจากกันมากขึ้นด้วยความไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องใดๆ ต่อกันดังเช่นสังคมในอดีตที่ใกล้ชิดผูกพันในเชิงเครือญาติที่ยังพอสืบทราบที่มาได้บ้าง

ในส่วนของผลกระทบระยะยาวนั้น เป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดปัญหาและภาวการณ์หลายสิ่งอย่างที่จะต้องเตรียมการรับมือและพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัญหาความมั่นคง ขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ ปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลทุกชุดรับทราบสถานการณ์นี้ดี แต่ยังไม่สู้จะมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนและต่อเนื่องเด็ดขาดในการแก้ไขหรือเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนเมื่อได้เห็นตัวเลขการเกิดที่ลดลงและต่ำกว่าการตายจึงเริ่มที่จะเป็นกระแสอีกครั้ง สิ่งที่สามารถทำได้และหลายประเทศได้ดำเนินการไปก่อนหน้า เช่น การมีนโยบายส่งเสริมการเกิดผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี การสนับสนุนให้มีบุตรโดยรัฐดูแลค่าใช้จ่ายในการคลอดและสงเคราะห์บุตร การให้ทุนการศึกษา การให้สิทธิ์การเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับเงินเดือนทั้งพ่อและแม่ การส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์ทำความรู้จักก่อนเข้าสู่การทำงาน เป็นต้น” รศ.ดร.ธีระ กล่าว

รศ.ดร.ธีระ กล่าวต่อไปอีกว่า การเลื่อนอายุเกษียณเพื่อชะลอการขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองหรือช่วยดูแลในยามสูงอายุผ่านการออมเงิน การลงทุนในการทำประกัน กองทุน หรือรูปแบบอื่นใด เพื่อให้ใช้ชีวิตในยามสูงวัยอย่างมีอัตภาพและคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการหรือนโยบายรัฐที่ใช้กันโดยทั่วไปในต่างประเทศ บางเรื่องไทยเราก็นำมาใช้ภายใต้บริบทและเงื่อนไขหลักเกณฑ์และประโยชน์ที่คาดหวังได้แตกต่างกันออกไป

“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดโดยส่วนตัวในการตั้งรับและเตรียมรุกสำหรับสถานการณ์นี้คือ กรอบความคิด (mindset) ต่อการมีบุตรจำเป็นต้องทำให้เกิดความรับรู้และเข้าใจก่อนตัดสินใจจะมีคนรัก มีคู่ครอง จนกระทั่งเป็นคู่ชีวิตที่พร้อมจะสร้างครอบครัวให้เกิดกรอบคิดทางบวกและลบเพื่อร่วมกันคิดอ่านก่อนการมีบุตร” รศ.ดร.ธีระ กล่าว

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าทัศนคติต่อการมีบุตรหลายสิบปีที่ผ่านมาถูกป้อนความคิดในเชิงลบทั้งในเชิงมโนทัศน์และข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏผ่านสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าการมีลูกนั้นเป็นทั้งภาระและขาดอิสระ ต้องมีห่วงทั้งหน้า คือเลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตไปดีมีคุณภาพ และห่วงทั้งหลัง คือยังมีพ่อแม่พี่น้องหนี้สินภาระที่ดูแลจะทำอย่างไร ซึ่งความกดดันบีบคั้นทางสังคมที่ถูกสร้างโดยคำว่า “ลูกมากยากจน” “ไม่มีคู่/ลูกเป็นลาภอันประเสริฐ” “รักสนุกแต่ไม่ผูกพัน” “มีลูกเหมือนเอาโซ่ตรวนมาคล้องคอ” และอีกหลายวลีที่ยังติดตรึงอยู่ในความรับรู้ของคนยุคพ่อแม่ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันยังไม่ได้สร่างซาไป

“การปรับเปลี่ยนกรอบคิดเช่นนี้จึงมีความสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดไม่เพียงเพื่อให้ประชากรกลับมาอยู่ในภาวะสมดุลหรืออยู่ในระดับภาวะทดแทนได้ หากแต่ยังช่วยให้เห็นสังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยประชากรที่เกิดมาใหม่นั้นเป็นพลังบวกและเป็นความหวังให้กับคนรุ่นก่อนหน้าได้อีกด้วย แม้ไม่อาจทำให้เปลี่ยนได้ในทันทีแต่ต้องเริ่มในทันที” รศ.ดร.ธีระ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บ่อน้ำ' ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา

อาจารย์ปริญญา จบกฎหมายมหาชน จากเยอรมัน จึงน่าจะเป็นเหตุผล ที่ทำให้ อาจารย์ มักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของประเทศไทย อยู่หลายๆครั้ง ทำเหมือนไม่รู้ว่า “เมื่อเป็นคนไทยทำผิด ก็

มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง

รมว.พม. ยันไม่ส่งตัวเด็กต่างด้าว 19 คนกลับประเทศต้นทาง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกระแสข่าวโจมตีกระทรวง พม.ในขณะนี้ เกี่ยวกับกรณีการส่งตัวเด็กต่างด้าว 19 คน ที่อยู่ในบ้านพักเด็ก