นักวิชาการธรรมศาสตร์ จับตา “กสทช.” เปิดประมูลคลื่นสากล 6 ย่านความถี่ ทั้งที่มีแนวโน้มผู้ประกอบการเข้าร่วมเพียงแค่ 2 ราย ตั้งคำถามคลื่นกระจุกอยู่กับรายใหญ่และการประมูลแข่งขันกันน้อย เหตุบางคลื่นยังไม่หมดสัญญาแต่เปิดช่องให้ประมูลล่วงหน้าได้ แนะควรกำหนดราคาตั้งต้นประมูลให้ใกล้เคียงราคาประเมิน ไม่ต้องลดเพื่อสร้างแรงจูงใจเหมือนในอดีต ชงคลอดแพกเกจดูแลผู้บริโภค จี้มาตรการกำกับ “ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ MVNO รายเล็ก เพิ่มทางเลือกประชาชน
18 มีนาคม 2568 - จากกรณีที่ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงจุดยืนคัดค้านและเรียกร้องให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT – International Mobile Telecommunications) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2568 รวม 6 ย่านความถี่ เนื่องจากกังวลว่าการประมูลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม โดยเฉพาะเมื่อมีผู้มีศักยภาพเข้าร่วมประมูลเพียงแค่ 2 รายหลักเท่านั้น อีกทั้งการประมูลไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด
ผศ. ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ และอาจารย์ประจำคณะคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ส่วนตัวรู้สึกกังวลในประเด็นที่สอดคล้องกับที่สภาผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแสดงความกังวล เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้ในการประมูลครั้งนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก และบางส่วนเป็นการเปิดให้ยื่นประมูลล่วงหน้าทั้งที่คลื่นยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเดิม เช่น 2100 MHz ซึ่งยังเหลืออายุอีก 3 ปี จึงน่ากังวลว่าคลื่นอาจกระจุกตัวอยู่กับผู้ให้บริการ 2 รายใหญ่ ทั้งที่ยังไม่มีมาตรการส่งเสริมการแข่งขันที่ชัดเจน
ผศ. ดร.พรเทพ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมราว 2 ปีก่อน ได้ส่งให้ผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่มีโอกาสเข้ามาร่วมการประมูลน้อยมาก ทำให้การแข่งขันในการประมูลน้อยลงไปตาม และไม่มีหลักประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับบริการที่ดีจากผู้เข้าประมูล 2 ราย จึงข้อเสนอว่า แม้ในอดีต กสทช. มักจะลดราคาตั้งต้นให้ต่ำกว่าราคาประเมินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมการประมูล แต่ในครั้งนี้ชัดเจนว่ามีผู้เข้าร่วมน้อยมาก จึงควรกำหนดราคาตั้งต้นประมูลให้ใกล้เคียงกับราคาประเมินเพื่อไม่ให้ภาครัฐสูญเสียโอกาสในการจัดเก็บรายได้โดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ กสทช. จะต้องยืนยันให้ได้ว่าในการประมูลครั้งนี้ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย ในประมูลคลื่นมากถึง 6 ย่านความถี่ กสทช. จะสามารถรักษาผลประโยชน์และสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคได้ เช่น การจัดทำมาตรการด้านราคาที่ยืดหยุ่น หรือการออกแพ็คเกจที่ถูกลงสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลการแข่งขันอย่างเข้มงวด ตามอำนาจที่ กสทช. มีอยู่เดิม ผ่านการตรวจสอบและกำหนดว่า ผู้ประกอบการรายใดกำลังเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ จากนั้นให้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกำกับและควบคุมไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดใช้อำนาจของตนไปในทางที่ไม่ชอบ
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากการประมูลคลื่นความถี่สิ้นสุดลง กสทช. ควรจะต้องมีมาตรการในการรองรับเพื่อเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้บริโภค เช่น มาตรการการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่มีคลื่นความถี่เป็นของตนเองสามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ โดยไม่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงข่ายโทรคมนาคม เช่น เสา หรือเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ MVNO จะต้องเข้าไปทำความตกลงกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีคลื่นความถี่และโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองเพื่อขอใช้ airtime (Voice) และบริการข้อมููล (Data) เพื่อมาให้บริการแก่ผู้บริโภคในตลาดค้าปลีก ซึ่งผู้ประกอบการ MVNO ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลย เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
“ถึงแม้ว่าประเทศเราจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่อยู่เพียงแค่ 2 ราย แต่ถ้าเราสามารถที่จะสร้างผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง MVNO ที่ไม่ต้องมีเครือข่ายเป็นของตัวเอง ไม่ต้องลงทุนเยอะ แต่สามารถที่จะให้บริการหรือสร้างตลาดที่เป็น ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ได้ขึ้นมา ก็อาจจะเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ ทว่ามาตรการเหล่านี้ก็ยังไม่เห็นท่าทีการผลักดันที่ชัดเจนจาก กสทช.” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าว
สำหรับข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ระบุให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เป็นทางเลือกด้านโทรคมนาคมให้ประเทศ ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวว่า NT มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย ได้น้อย ทั้งส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ไม่ถึง 10% และคลื่นความถี่ที่ NT ให้บริการก็มีเพียงแค่ 3G ซึ่งในทุกวันนี้ผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ใช้บริการโครงข่าย 4G และ 5G ไปแล้ว หาก NT ต้องการที่จะขยายการให้บริการโครงข่ายก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมผ่านการร่วมมือกับผู้ร่วมลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเครือข่ายต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลอาญาคดีทุจริตยกฟ้อง 4 กสทช. ไม่ผิดปมซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก-เปลี่ยนรักษาการแทนเลขาฯ กสทช.
ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ ตลิ่งชัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อท.155/2566 ที่ นายไต
แนะบรรจุวิชาบังคับ 'ความรู้การเงิน' ป.1- ป.ตรี แก้ 'หนี้ครัวเรือน-NPL' ยั่งยืน
นักวิชาการธรรมศาสตร์ เผยไทยต้องผลักดัน ‘ความรู้ทางการเงิน’ เป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง-ตัวเลขการออมคนไทยต่ำ รัฐต้องแบกรับภาระงบอุดหนุน-ช่วยเหลือ แนะเร่งจัดทำหลักสูตรความรู้การเงิน ตั้ง ป.1 – ป.ตรี ทันที ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่!
นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ รบ.ต้องยกหูเจรจา 'ทรัมป์' ภายในคืนนี้! นักวิชาการ มธ. ระบุ 'ยิ่งช้ายิ่งเจ็บ'
นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้การตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ คือสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเร่งเจรจาอย่างช้าที่สุดภายในคืนนี้
ชงตั้ง 'ผู้จัดการภัยพิบัติ' สู้ 'เฟกนิวส์' แนะรัฐผนึก Google ตรวจจับแรงสั่นสะเทือน ใช้แอนดรอยด์ 2,000 ล. เครื่องเป็น sensor
นักวิชาการธรรมศาสตร์ แนะรัฐบาลเร่งจัดตั้งผู้จัดการภัยพิบัติ ทำหน้าที่สื่อสารสังคม-ประชาชน สร้างความชัดเจนข้อมูลแผ่นดินไหว ป้องกันประชาชนตระหนก เสนอผนึก Google ใช้ ‘แอนดรอยด์’ กว่า 2,000 ล้านเครื่อง ทำหน้าที่เป็น sensor ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนขนาดเล็ก
มหกรรมล้อมคอก! กสทช. รายงานนายกฯ ใช้รวมการเฉพาะกิจ รายงานเหตุสำคัญของชาติ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมการแก้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยพิบัติในทุกมิติของประเทศที่ทำเนียบรัฐบา
รัฐบาลเรียก 'ปภ.-กสทช.-โอเปอเรเตอร์' สางปัญหาระบบเตือนภัยประชาชน
'รองนายกฯ ประเสริฐ' เรียก 'ปภ.-กสทช.-โอเปอเรเตอร์' สางปัญหาระบบเตือนภัยประชาชน วางระบบ-ขั้นตอนเคร่งครัด ย้ำให้ประสานงานกันใกล้ชิด แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินให้ถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว