APEC CEO Summit 2022 วิสัยทัศน์ภาคธุรกิจ สู่การขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน

นอกจากการประชุม APEC 2022 ระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีอีกการประชุมคู่ขนานอีกรายการหนึ่งที่เกิดขึ้น และส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่คนไทยไม่ต่างกันคือ การประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค ระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ หรือ APEC CEO Summit 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 โดยกระทรวงการต่างประเทศและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือกันเกี่ยวกับประเด็นที่ไทยจะผลักดันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อกำหนดทิศทางของหัวข้อการหารือและการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ภาครัฐและเอกชน นำไปสู่การกำหนดวาระและประเด็นการหารือที่ครอบคลุมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม

ในที่สุด จึงได้มาซึ่งแนวคิดของการประชุม คือ “Embrace Engage Enable” โดยสื่อความหมายดังนี้ Embrace: แสดงให้เห็นถึงการเปิดรับโอกาสที่กำลังเข้ามาใหม่ เปิดกว้างเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจหลังจากหยุดนิ่งจากสภาวการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก Engage: สื่อถึงการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อสรรค์สร้างทิศทางเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตร่วมกัน และ Enable: ขยายข้อจำกัดความสามารถทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ทุกที่ทุกเวลา ในภาพรวมแนวความคิดดังกล่าวมุ่งส่งเสริมความมั่งคั่งและการเติบโตของประชาชน และสังคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการค้า การลงทุน แบ่งปันมุมมองทางนวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกัน สร้างความร่วมมือ ตลอดจนผลักดันผู้ด้อยโอกาสในภูมิภาคให้เข้าถึงตลาดและโอกาสใหม่ ๆ

เวที APEC CEO Summit 2022 จัดขึ้นคู่ขนานกับ APEC 2022 โดยทำหน้าที่เป็นเวทีให้ภาคเอกชนรวมตัวกันเพื่อหารือนโยบาย แลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถือเป็นโอกาสสำคัญของภาคเอกชนที่จะร่วมออกแบบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และนำไปสู่การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ยั่งยืน ครอบคลุมทุกภาคส่วนทั้งในระดับประชาชน กลุ่มธุรกิจ MSMEs จนถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การกลับมาประชุมในรูปแบบพบหน้าอีกครั้ง ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพร้อมเดินหน้าทำธุรกิจอย่างเต็มที่อีกครั้งภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสให้ฟื้นฟูความเชื่อมโยง รื้อฟื้นความสัมพันธ์ และสานต่อความร่วมมือระหว่างกัน

APEC CEO Summit 2022 ดำเนินการประชุมโดยแบ่งออกเป็น 5 คณะทำงาน ขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration), การเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล (Digital), การส่งเสริมความพร้อมของธุรกิจในทุกขนาด (MSMEs and Inclusiveness), ความก้าวหน้าเชิงวิถีปฏิบัติด้านความยั่งยืน (Sustainability) และระบบการเงิน (Finance & Economics) ซึ่งคณะทำงานจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อตอบสนองและรับมือความท้าทายต่าง ๆ เช่น สงคราม ปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ภาวะเงินเฟ้อ การก่อการร้าย ความมั่นคงอาหาร พลังงาน ความยั่งยืน ตลอดจนภัยคุกคามอื่น ๆ และเตรียมความพร้อมด้านการค้าการลงทุนเพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสามารถเคลื่อนต่อไปอย่างมีพลวัต

การประชุม APEC CEO Summit ประกอบด้วย 16 การประชุมย่อย โดยมีหัวข้อที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักหลักของการประชุม อาทิ The Future of Asia Pacific Trade and Investment (อนาคตการค้าและการลงทุนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก) The Global Economy and the Future of APEC (เศรษฐกิจโลกกับอนาคตของเอเปค) และ Building Sustainable Economies, Businesses and Societies (การสร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคมที่ยั่งยืน) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาโดยให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือเพื่อจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและกำหนดนโยบายร่วมของภูมิภาค เพื่อส่งมอบการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับอนาคต

นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทย ที่ทั่วโลกจะมองมาที่เราในฐานะเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่มีบทบาทนำ ในการร่วมกำหนดนโยบายและบรรทัดฐานทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก โดยความร่วมมือที่เข้มแข็งและสร้างความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและครอบคลุม”

ในขณะที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ต่างแสดงวิสัยทัศน์ในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มองว่า การเปิดกว้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความก้าวหน้า ในขณะที่การขัดขวางห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มก่อตัวขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก จะเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จีนมุ่งมั่นที่จะ“ส่งเสริมการสร้างชุมชนเอเชีย-แปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกัน”

ขณะที่ “เหวียน ซวน ฟุก” ประธานาธิบดีเวียดนาม ย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความครอบคลุม และความยั่งยืน โดยกล่าวว่า การลงทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การดูแลสุขภาพและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงจะถูกกำหนดให้เป็นตัวขับเคลื่อนกระแสการลงทุนจากต่างประเทศ

ด้าน “แฟร์ดินันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนีย” ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เห็นพ้องว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ และความมั่นคงทางอาหารเป็นความท้าทายสำคัญที่โลกต้องเผชิญ และเรียกการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศว่าเป็น ‘ความท้าทายที่กดดันที่สุดต่อความอยู่รอดในยุคสมัยของเรา’

และ “จาซินดา อาร์เดิร์น” นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวว่า การเติบโตจำเป็นต้องมีความครอบคลุม และไม่ทิ้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสไว้เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ธุรกิจขนาดเล็ก หรือชนพื้นเมือง เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในช่วงการระบาดของโควิด-19

อีกประเด็นที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจต่างให้ความสำคัญ คือการส่งเสริมสันติภาพและสเถียรภาพ ในฐานะกุญแจสู่ความรุ่งเรืองของภูมิภาค และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง “เอมานูว์แอล มาครง” ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ สนับสนุนกลไกพหุภาคีเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของโลก ตลอดจนเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมและความไร้เสถียรภาพ

“คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ย้ำความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการไหลเวียนของเงินทุนอย่างเสรี และเรียกร้องให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจให้กระจายสู่ทุกภาคส่วนของสังคม

เช่นเดียวกับภาคเอกชนนานาชาติที่เห็นพ้องกันในเกี่ยวกับการหลอมรวมภาคธุรกิจเข้ากับการกำหนดนโยบาย โดย “จอห์น เดนตัน” เลขาธิการสภาหอการค้านานาชาติ กล่าวว่าการหลอมรวมดังกล่าวเป็นจุดแข็งที่สำคัญของเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และเขายังส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของพลังงานและคาร์บอน รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนด้วย

ขณะที่ “ศาสตราจารย์เคล้าส์ ชวาป” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลกได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ โอบรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล การคิดเชิงกลยุทธ์ และแนวคิดเรื่องเงินทุนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความไว้วางใจจากสาธารณะ

“โรเบิร์ต มอริทซ์” ประธานบริษัท ไพร้ซ์วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส (PwC) กล่าวว่า ความยืดหยุ่น ความยั่งยืน และความคล่องตัว จะมีความสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากสาธารณชน ผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีความสามารถในการกำหนดแนวทางและดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต

ส่วนผู้นำจากภาคเอกชนไทย ให้ความสำคัญกับการจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาทิ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เห็นว่า การร่วมมือกันเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากอัตราความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืน และยังให้ความสำคัญกับ “การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ขณะที่ “ฮาราลด์ ลิงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือกันจากใจและความเป็นหุ้นส่วนกัน คือปัจจัยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่พอสำหรับการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบาย

“กฤษณะ ศรีนิวาสัน” ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า การผลักดันด้านนโยบาย ความร่วมมือข้ามพรมแดน และการส่งเสริมด้านนวัตกรรมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทานอาหารและพลังงาน ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีสามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงตลาดและโอกาสใหม่ ๆ ได้ แม้ว่าความรู้ด้านดิจิทัล มาตรฐานระหว่างประเทศ และความปลอดภัยทางไซเบอร์จะยังเป็นประเด็นที่น่ากังวล

ภายหลังการหารือของภาคเอกชนใน APEC CEO Summit 2022 สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคได้นำรายงานซึ่งรวบรวมข้อเสนอแนะจากที่ประชุมฯ เสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในการหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Leaders’ Dialogue with ABAC) โดยข้อเสนอแนะเหล่านี้จะได้รับการแปรรูปเป็นผลลัพธ์ที่เกื้อหนุนกับผลการหารือของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค อาทิ การปรับปรุงขั้นตอนการประกอบธุรกิจและหลักคิดในการทำธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกิจได้สะดวกขึ้น และกำหนดทิศทางการประกอบธุรกิจที่มุ่งยกระดับความยั่งยืนที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร การพัฒนาการเกษตรยั่งยืน การปรับปรุงและยกระดับคุณภาพเกษตร การลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำธุรกิจ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตอาหารผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขและยั่งยืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปานปรีย์' คุยทูตญี่ปุ่นแล้ว ยังไม่ยกเลิกฟรีวีซ่าให้คนไทย กลางปี 68 ค่อยดูใหม่

นายปานปรีย์ พหิทานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าญี่ปุ่นอาจยกเลิกฟรีวีซ่าให้คนไทย หากจำนวน 'ผีน้อย' หรือ คนไทยที่อยู่เกินวีซ่ายังคงเพิ่มขึ้นว่า หลังมีเรื่องดังกล่าว ตนจึงได้เชิญเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยมาพูดคุย

โฆษกกต. แจงอนุมัติคำขอเมียนมา นำเครื่องบินลงแม่สอด ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม

นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงรายงานข่าวกรณีเครื่องบินของเมียนมามาลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตาก เพื่อรับทหารเมียนมาที่มอบตัวกับฝ่ายกองกำลังเคเอ็นยู

รมช.กต.แจง ‘เมียนมา’ นำเครื่องบินลงแม่สอด ย้ายสิ่งของพลเรือน ไม่มีทหาร-อาวุธ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่าน X ชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลเมียนมาประสานไทยขอเครื่องบินทหารลงจอด ท่าอากาศยานแม่สอด ลี้ภัยข้าราชการ -ตร.-ตม.ในเมียวดี หลังถูกฝ่ายต่อต้านตีแตก