54 ปี กฟผ. มุ่ง Go Green เพื่อ Green Growth

ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หน่วยงานวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงาน หรือ Ember พบว่า เมื่อปีที่แล้ว (2565) การผลิตไฟฟ้าทั่วโลกมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์รวมกันเกือบ 40% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 24% ส่วนพลังงานลมเพิ่มขึ้น 17%

แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะอยู่ระหว่าง ‘ยกเครื่อง’ แผนพลังงานชาติเพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) แต่ก็มีเป้าหมายชัดเจนในการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์พลังงานสะอาดตามเทรนด์โลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนระหว่างประเทศ ลดความกดดันทางการค้าจากมาตรการภาษีคาร์บอน เช่น CBAM ของสหภาพยุโรปที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยในภาคพลังงานไฟฟ้ามีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นแม่ทัพหลักในการขับเคลื่อนไฟฟ้าสีเขียวตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตไฟฟ้า การส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ครอบคลุมไปจนถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นปลายน้ำด้วย

รุกขยายโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสาน

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. หรือ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำเนื่องจากใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มประสิทธิภาพ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกผ่านโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้าประมาณ 47,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่

ในปี 2566 กฟผ. ได้เร่งเดินหน้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ชุดที่ 1 กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ซึ่งจะกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี โดยต่อยอดเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ดียิ่งขึ้นด้วยการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กฟผ. มีศักยภาพดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ โดยเตรียมเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงแหล่งที่มาของภาคธุรกิจซึ่งสามารถยืนยันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและเป็นมาตรฐานสากล

ไม่หยุด...ศึกษาพลังงานทางเลือก

นอกจากโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแล้ว กฟผ. ยังศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้ามาแปรรูปเป็นเมทานอล นำร่องศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

นำร่องต้นแบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะด้วยสมาร์ทกริด

พลิกโฉม จ.แม่ฮ่องสอน สู่ต้นแบบเมืองสีเขียวด้วยโครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์และโรงไฟฟ้าในพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสมดุล รวมถึงติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองจากไฟฟ้าสีเขียวอีกทางหนึ่ง ด้านการท่องเที่ยวได้ขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT และรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) ไว้ให้บริการประชาชน พร้อมจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟผ. แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาดรองรับการท่องเที่ยวสีเขียวแบบครบวงจร

โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย

นอกจากเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) ควบคู่ไปด้วย เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็น

  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ด้วยพลังน้ำที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ สามารถปล่อยน้ำมาผลิตไฟฟ้าได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที จึงรองรับความไม่เสถียรของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบัน กฟผ. มีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงจนถึงอีก 7 วันข้างหน้า ทำให้สามารถบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย กฟผ. ตั้งเป้าจัดตั้ง RE Forecast Center 17 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นระดับภูมิภาค 6 แห่ง และระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงอีก 11 แห่ง คาดว่าเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการได้ในปี 2567
  • นำร่องปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล(Digital Substation) เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงตราด จ.ตราด และอีก 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงสตูล จ.สตูล และสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 2 จ.ลำปาง คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปีนี้

แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ติดตั้งภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง

หนุนรับรอง REC สร้างแต้มต่อทางธุรกิจ

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยไฟฟ้าสีเขียวสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีกลไกยืนยันการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล และการใช้ “ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy Certificate) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า REC เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าโรงงานหรือบริษัทนั้นใช้พลังงานสีเขียว จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญและสามารถตอบโจทย์นักลงทุนได้ตามมาตรฐานสากล โดยปริมาณพลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 1 REC

The International REC Standard Foundation (I-REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มอบสิทธิ์ให้ กฟผ. เป็นผู้ออกใบรับรอง REC รายเดียวของประเทศไทย ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ออกใบรับรอง REC ให้แก่ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยแล้วกว่า 5.58 ล้าน REC โดยในปี 2565 การออกใบรับรอง REC ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 106% จากปี 2564 เพื่อสนับสนุนบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ของไทยในการเข้าถึงพลังงานสีเขียว เพิ่มแต้มต่อการแข่งในเวทีการค้าระดับโลก

เดินหน้าสู่สังคมสีเขียว เพิ่มพื้นที่-ลดคาร์บอน

การเติบโตสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Growth) ไม่เพียงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดย กฟผ. เปิดให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว 120 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าขยายสถานีให้ได้รวมกว่า 180 แห่ง ภายในปี 2566 รวมถึงขยายความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานพันธมิตรเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีชาร์จอีวี เป็น 12 หน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้อีวีสามารถดูหมุดสถานีชาร์จข้ามค่ายได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ด้านการจัดการใช้พลังงาน (DSM) ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 กฟผ. เตรียมยกระดับการใช้พลังงานของภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้นและลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โฉมใหม่ ที่นอกจากดาวยิ่งมากยิ่งประหยัดไฟแล้ว ยังสามารถแสดงค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า กำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้ รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โรงงานอุตสาหกรรมติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงาน ENZY Platform และระบบกักเก็บพลังงาน ENZY Wall เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอาคาร และลดค่าไฟฟ้าได้ด้วย

ส่งเสริมเยาวชนเรียนรู้กิจกรรมลดใช้พลังงาน

ระบบบริหารจัดการพลังงาน ENZY Platform

สำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน และป่าชายเลน ในปี 2565 สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกป่ารวมกว่า 1.03 แสนไร่ ตั้งเป้าปลูกป่าในปี 2566 จำนวน 1 แสนไร่ โดยมีเป้าหมายปลูกป่าให้ครบ 1 ล้านไร่ในปี 2574 

การเดินหน้าสู่สังคมสีเขียวมิใช่เป็นเพียงกระแสนิยมเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมกันตระหนักและเปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดย กฟผ. พร้อมร่วมเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาชีวิตของชุมชนให้อยู่ดีมีสุข เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฟผ.ชวนสัมผัส “ELEXTROSPHERE โลกใหม่ Right คาร์บอน” โซนใหม่ศูนย์การเรียนรู้ จัดเต็มความรู้คู่ความสนุก พบกัน 2 เมษายนนี้!

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งทำขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การแบ่งปันองค์ความรู้สู่สังคม หรือ Learning for Society

ฉลากเบอร์ 5 แบบใหม่ 5 ดาว ประหยัดไฟ รักษ์โลกมากกว่าเดิม

แม้ไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนเพียงไม่นาน แต่บางพื้นที่มีอุณหภูมิร้อนแรงแตะ 45 องศาเซลเซียส ทำให้หลายคนเตรียมปาดเหงื่อทั้งจากอากาศที่ร้อนจัด

“อว. For EV” เดินหน้า 23 หน่วยงาน MOU “ศุภมาส” ประกาศขับเคลื่อนประเทศสู่ Go Green

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบาย อว. For EV ของ 23 หน่วยงานสังกัดกระทรวง อว. เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปเป็น EV HUB

ตามโผ ‘ครม.’ ตั้ง ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ นั่ง ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่

ครม.มีเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายเทพรัตน์  เทพพิทักษ์  ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

กฟผ. พร้อมจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดในรูปแบบผสมผสาน กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ภายใน มี.ค. นี้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทดสอบการขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1 เข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าของสถานีไฟฟ้าแรงสูงเขื่อนอุบลรัตน์