ส.ว. ชำแหละ! 'ปธ.สภา' ด่านแรกแก้ 112 ฉบับก้าวไกล

30 มิ.ย. 2566 – นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฏรคนใหม่ ด่านที่ 1 ของการแก้ 112 แบบก้าวไกล โดยระบุว่า

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏรคนที่ 26 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 นี้ สำคัญมาก สำคัญไม่แพ้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

เนื่องจากจะมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลโดยตรง

การแก้ไขในลักษณะที่เป็นการลดระดับการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์!

เพราะชัดเจนแล้วว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 จะไม่ได้เสนอในนามคณะรัฐมนตรีของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่ลงนามใน MOU กันไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 แต่จะเสนอในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล

ตรงนี้แหละคือประเด็น !

การเสนอร่างกฎหมายในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 139 (2) จะไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในทันทีเหมือนการเสนอโดยคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 139 (1) แต่จะต้องผ่านการตรวจสอบและวินิจฉัยจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้บรรจุเข้าระเบียบวาระเสียก่อนจึงจะพิจารณาได้ โดยในการบริหารจัดการประธานสภาผู้แทนราษฎรอาจมอบหมายให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่แทนได้

ถือเป็นด่านที่ 1 ในจำนวนทั้งหมด 9 ด่านก่อนร่างกฎหมายจะผ่านออกมามีผลใช้บังคับ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างฯ มาครั้งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วตั้งแต่เมื่อต้นปี 2564

แต่แม้เสนอแล้ว ก็ไม่เคยได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลยจนครบวาระ แม้จะมีการทวงถามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลหลายครั้ง

เพราะนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฏรคนที่ 1 ในขณะนั้น ชึ่งได้รับมอบหมายจากนายชวน หลีกภัยประธานสภาผู้แทนราษฏรในขณะนั้นให้รับผิดชอบงานด้านพิจารณาบรรจุเรื่องเข้าระเบียบวาระการประชุม วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6

จึงไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ

ทั้งนี้ เป็นการวินิจฉัยโดยรับฟังความเห็นทางกฎหมายจากสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เจ้าหน้าที่หน่วยงานฝ่ายประจำที่รับผิดชอบโดยตรง

สำนักการประชุมได้ให้ความเห็นทางกฎหมายพอสรุปได้ตามภาษาราชการในบันทึกถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้ดังนี้

“ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากมีบทยกเว้นความผิดกับบทยกเว้นโทษ กรณีถ้าเป็นการติชม แสดงความเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ได้ว่าเรื่องนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน…”

“บทบัญญัติยกเว้นความรับผิดกับการยกเว้นโทษดังกล่าวนี้ เห็นว่าน่าจะขัดกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ…”

ทั้งนี้ สำนักการประชุมได้อ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 และ 28-29/2555 ประกอบความเห็นทางกฎหมายด้วย

ความเห็นทางกฎหมายของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2564 มีความสำคัญมากมาจนถึงวันนี้ เพราะเมื่อมีผู้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดขอให้ส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสั่งการให้พรรคก้าวไกลยกเลิกการเสนอแก้ไขมาตรา 112 เพราะมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 อัยการสูงสุดได้ขอทราบความเป็นมาและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายของประธานสภาผู้แทนราษฎร/รองประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2564 – 2565 มายังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จัดทำคำชี้แจงตอบกลับไป

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ โดยเฉพาะฉบับที่ 28-29/2555 ที่กล่าวถึงมาตรา112 โดยตรงก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

เพราะกรณีตามมาตรา 49 นี้ในที่สุดมีความเป็นไปได้ที่จะถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

ตัดภาพกลับไปที่ปี 2564

นายสุขาติ ตันเจริญ ได้จัดให้มีการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า 1 ครั้ง หลังจากอภิปรายกันทุกแง่มุมในทางปฏิบัติแล้ว ได้ความเห็นตรงกัน

จึงวินิจฉัยไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ และส่งร่างกฎหมายคืนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลผู้เสนอให้นำกลับไปแก้ไขไม่ให้มีเนื้อหาที่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6

พรรคก้าวไกลได้ส่งความเห็นโต้แย้งกลับมาว่าร่างกฎหมายของพวกเขาหาได้ขัดรัฐธรรมนูญแต่ประการใดไม่

นายสุชาติ ตันเจริญ จึงได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ผลการพิจารณายังคงยืนยันข้อวินิจฉัยเดิม

คือไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ

นายชวน หลีกภัย เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยนั้น

พรรคก้าวไกลไม่ได้แก้ไขปรับปรุงหลักการและเนื้อหาใหม่และส่งกลับเข้ามายังสภาผู้แทนราษฎรแต่ประการใด

ยังคงนำมาหาเสียงหาคะแนนนิยมตามหลักการของร่างฯเดิมที่ถูกวินิจฉัยว่าน่าจะขัดรัฐธรรมนูญทุกประการ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลเคยมีการอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566

วันนั้นมีการกล่าวหาประธานสภาผู้แทนราษฏรว่าไม่บรรจุวาระพิจารณาร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 เพราะกลัว

นายชวน หลีกภัย ชี้แจงจากบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฏรว่า…

“ผมเคยเรียนให้ทราบว่าเราไม่ได้ทำอะไรตามอำเภอใจ และไม่ได้กลัวเลยครับ แต่ยึดความถูกต้องเป็นสำคัญ โดยถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ที่เตือนไว้ตลอดเวลาด้วยความหวังดี ไม่ได้ตัดสินใจด้วยความกลัว แต่ใช้เหตุผลเป็นหลัก ไม่ใช่เราพูดอะไรไม่ได้”

พรรคก้าวไกลหาเสียงว่าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ 45 ฉบับภายใน 100 วันแรก จึงต้องการตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

ร่างฯแก้ไขมาตรา 112 เป็น 1 ใน 45 ฉบับ

ผมเชื่อในความเป็นมืออาชีพและความเป็นกลางทางการเมืองของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทุกคนทุกสำนัก โดยเฉพาะสำนักการประชุม ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคก้าวไกลจะเสนอเข้ามามีหลักการตามร่างฯเดิมที่เคยเสนอเมื่อปี 2564 ก็ไม่มีเหตุผลที่ความเห็นทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่จะเสนอขึ้นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ได้รับมอบหมายจะแตกต่างไปจากเดิม

แต่เมื่อความเห็นของเจ้าหน้าที่ส่งขึ้นไปแล้ว

ตรงนั้นแหละคือประเด็น

ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ และหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งที่อาจได้รับมอบหมาย จะวินิจฉัยอย่างไร และมีวิธีบริหารจัดการปัญหาอย่างไร เหมือนหรือต่างจากประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับมอบหมายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว

“ตัวตน” รวมทั้ง “พรรคต้นสังกัด” ของประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญยิ่งต่อคำตอบนี้

สำคัญอย่างไร คงไม่ตัองอภิปรายลงในรายละเอียดมากกว่านี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธานสภาฯ แนะดูรธน.เกาหลีใต้ ลงโทษผู้ทำรัฐประหารได้จริง ประชาชนต้องร่วมมือกัน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการกล่าวในการเปิดงานเสวนาวิชาการวันรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2567 ในหัวข้อ “อนาคตรัฐสภาไทย“ ระบุ อยากเห็นรั้วในการป้องกันการรัฐประหาร โ

นักการเมืองไทยอย่าทะลึ่ง! ยก 4 เคส บัวแก้วเคยประท้วงกัมพูชา อ้างสิทธิ 'เกาะกูด'

นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า คนกัมพูชาจำนวนไม่น้อยเคยเชื่อหรือยังเชื่อว่าเกาะกูดเป็นของเขา ไม่ทั้งหมดก็อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง!

รัฐบาลอย่าเสี่ยง! แจงยิบทำไม 'MOU 44' เข้าข่าย รธน. มาตรา 178

นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 178

'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง