เทียบชัดๆ 16 เดือน ‘นช.เทพไท’ นอนคุก กับ 4 เดือน ‘นช.ทักษิณ’ นอนรพ.ตำรวจ

18 ธ.ค.2566-นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก “เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง” หัวข้อ “16เดือน ในเรือนจำ ของ น.ช.เทพไท กับ 4เดือน ในโรงพยาบาลตำรวจ ของ น.ช.ทักษิณ” ระบุว่า แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ผมขอสะท้อนชีวิตของนักโทษธรรมดา ที่ถูกคุมขังในเรือนจำคนหนึ่งว่า การถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 14 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับการพักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ทำไมมันช่างแตกต่างกันอย่างลึกลับ ระหว่าง น.ช.ทักษิณ ชินวัตร กับ น.ช.เทพไท เสนพงศ์ ไม่ต้องเปรียบเทียบกับนักโทษคนอื่นๆเลย

1.ผมเข้าสู่เรือนจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 หลังจากนั้นมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในวาระพระชนม์มายุ 70 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และวาระพระชนม์มายุ 84 พรรษา ของสมเด็จพระพันปีหลวง ในท้ายพระราชกฤษฎีกา ได้กำหนดเงื่อนไข ลดโทษให้ผู้ต้องขัง จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษ หรือไม่น้อยกว่า 8 ปีของโทษจำคุก 25 ปีขึ้นไป และต้องเป็นนักโทษชั้นดี ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวเป็นมติคณะรัฐมนตรั ไม่เคยมีมาก่อน แต่เมื่อมีเงื่อนไจเช่นนี้ ทำให้ผมหมดสิทธิ์ได้รับการลดโทษ ซึ่งผมยอมรับได้ถือว่า เป็นกติกาที่ออกมาใช้บังคับกับนักโทษทุกคน แต่ขอให้เงื่อนไขดังกล่าวบังคับใช้ทุกครั้ง ต้องไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือเกิดความลักลั่นของเงื่อนไขในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ

2.เมื่อผมถูกคุมขังเป็นเวลา 8 เดือน ครบเงื่อนไข 1ใน 3 ของโทษทั้งหมด ได้ขอให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาพักโทษ ตามประกาศของกรมราชทัณฑ์ที่เคยใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 และได้ยกเลิกในโอกาสต่อมา ผมจึงเสนอให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขของประกาศให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และประกาศใช้บังคับกับนักโทษทั่วไป แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับคำตอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ผู้มีอำนาจแต่อย่างใด ทำให้ผมพลาดโอกาสการพักโทษครั้งแรก จากเหตุผลความลักลั่นในการพักโทษของกรมราชทัณฑ์

3.เมื่อคุณทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อรับโทษตามคำพิพากษา จึงได้ขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จาก 8 ปีเหลือ 1 ปี ผมเห็นว่าคุณสมบัติของผมกับของคุณทักษิณไม่ได้แตกต่างกัน จึงได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ ผ่านกรมราชทัณฑ์ เช่นเดียวกัน

4.ระหว่างที่ผมถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เกิดอาการป่วย ปวดท้อง แน่นหน้าอก ขอเบิกตัวไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราชได้พักรักษาตัวอยู่ 5 วันได้มีคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ กดดันให้ผู้บัญชาการเรือนจำ และเจ้าหน้าที่นำตัวผมกลับสู่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชในทันที ซึ่งแตกต่างกับกรณีของคุณทักษิณ ที่ยังคงรักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ทราบอาการป่วย และยังคงรักษาตัวต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

5.ผมเคยได้รับการจำแนก มาอยู่กองงานพัฒนาวิชาชีพ ที่เรือนจำชั่วคราวเกษตรห้วยพระประมาณ 7 เดือน จนได้มีคำสั่งให้นำตัวกลับเข้าสู่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชอีกครั้ง และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราข อีกเกือบ 2 เดือน กว่าจะได้รับคำสั่งจากกรมราชทัณฑ์ ให้ออกมาอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวเกษตรห้วยพระ อีกครั้งหนึ่ง

6.ผมได้รับการพักโทษตามประกาศของกรมราชทัณฑ์ ที่ใช้บังคับกับนักโทษทั่วไป คือถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 2 ใน 3 ของโทษทั้งหมด จึงได้รับการพักโทษ ระหว่างที่ผมถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เป็นเวลา 16 เดือน พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 บังคับใช้แล้ว แต่ไม่มีการออกกฎกระทรวง หรือระเบียบของกรมราชทัณฑ์ แต่ประการใด ที่เป็นประโยชน์ต่อการถูกคุมขังของผมเลยแม้แต่ฉบับเดียว ซึ่งแตกต่างกับกรณีของคุณทักษิณ ที่มีการเร่งรีบออกกฎกระทรวง และระเบียบกรมราชทัณฑ์ เพื่อรองรับการถูกคุมขังของคุณทักษิณ ใช่หรือไม่

ผมอยากจะให้สังคมจับตาดูว่า ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ครบ 120 วัน ที่คุณทักษิณพักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ อยากจะรู้ว่า กรมราชทัณฑ์จะดำเนินการอย่างไร มีมาตรการใดนำตัวคุณทักษิณกลับเข้าสู่เรือนจำ และในขณะเดียวกันประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2566 คุณทักษิณจะได้สิทธิ์ตามประกาศฉบับนี้หรือไม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' เที่ยวสวนน้ำภูเก็ต เตรียมทัวร์อีสานปลายเดือน พ.ค.

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ด้วยภารกิจส่วนตัว ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. หลังจากไม่ได้มาเยือนกว่า 17 ปี ทั้งนี้ได้มีโอกาสพปปะเพื่อนฝูงเก่าๆ และนักธุรกิจเก่าๆ ที่รู้จัก

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

‘เทพไท’ เชื่อมีอาฟเตอร์ช็อก หลัง ‘ปานปรีย์’ ไขก๊อก จับตาจะเกิดอะไรขึ้นเร็วนี้

เทพไท ชื่นชมการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวของนายปานปรีย์ มหิทธานุกร ในการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ