อัยการนัด 10 เม.ย. ชี้คดี 112 เชื่อ 'ทักษิณ' ป่วยวิกฤต ไม่มีเสียงพูด

‘อธ.อัยการคดีอาญา’ นัด ‘ทักษิณ’ ฟังคำสั่ง อสส. ฟ้องคดี112 หรือไม่ 10 เม.ย.นี้ เผยอาการหนักขั้นวิกฤตนั่งรถวีลแชร์ เสียงไม่มี วางบัญชี 5 แสน ให้ประกันตัว

19 ก.พ. 2567 – ที่ชั้น 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นายประยุทธ เพรชคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา , นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด , นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่ อดีตอัยการสูงสุดเคยมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 58 ในคดีหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

นายประยุทธ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้ เวลา 8.30 น. พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดี ได้นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหา ส่งให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้รับผิดชอบดำเนินคดีนี้ โดยมีนายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และนายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นผู้รับตัวจากพนักงานสอบสวน

ด้วยคดีนี้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ผ่านพนักงานสอบสวนในขณะเข้าแจ้งข้อกล่าวหา ตามที่งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้เคยแถลงไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้พิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแล้ว เห็นว่า คดีมีประเด็นให้สอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือที่นายทักษิณ ชินวัตร ร้องขอความเป็นธรรม อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม และมอบหมายให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม

ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2567 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาคดีนี้ ได้รับการปล่อยตัวจากกรมราชทัณฑ์ในคดีอาญาเรื่องอื่นเนื่องจากได้รับการพักการลงโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้รับตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามหนังสืออายัดตัว ลงวันที่ 28 ส.ค. 2566 และพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันเดียวกัน ต่อมาในวันนี้พนักงานสอบสวนได้นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาส่งให้กับพนักงานอัยการ แต่เนื่องจากการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความ เนื่องจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าว อัยการสูงสุดจึงยังไม่อาจลงความเห็นและมีคำสั่งทางคดีได้ในขณะนี้

อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีหลักประกัน และนัดให้มาพบพนักงานอัยการในวันที่ 10 เม.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุดเเห่งนี้

ด้านนายปรีชา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า ส่วนหลักประกันที่นายทักษิณใช้ในการประกันตัว เป็นหลักทรัพย์ในสมุดบัญชีที่ได้รับการรับรองจากธนาคารมีเงินจำนวน 500,000 บาท ซึ่งทางอัยการจะอายัดบัญชีดังกล่าวไว้

เมื่อถามว่า มีเงื่อนไขในการปล่อยตัวหรือไม่ นายปรีชา กล่าวว่า สำหรับอัยการไม่มีเงื่อนไข แต่เงื่อนไขทางกรมคุมประพฤติที่กำหนดนั้น ตนไม่สามารถตอบได้ว่านายทักษิณจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรระหว่างพักโทษ

นายปรีชา ยังเล่าถึงบรรยากาศขณะที่รับตัวนายทักษิณว่า หลังจากที่ตำรวจนำตัวมาส่ง ตนเองต้องมีการพูดคุยกับนายทักษิณ ซึ่งจากสภาพที่ตนเห็น มองว่านายทักษิณมีอาการป่วยขั้นวิกฤต เพราะต้องนั่งรถวีลแชร์มา เพราะเดินไม่ไหว และจากการที่ได้พูดคุย นายทักษิณไม่มีเสียงพูด ดูท่าทางมีการป่วยหนัก และมีการสวมที่ดามคอมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ ได้เดินทางมาด้วยหรือไม่ นายปรีชา กล่าวว่า นายทักษิณเดินทางมากับคนสนิท ลูกสาวไม่ได้เดินทางมาด้วย

เมื่อถามว่านายประกัน คือ น.ส.แพทองธาร หรือไม่ นายปรีชา ตอบว่า ไม่ใช่ และไม่รู้ว่านายประกันคือใคร ตนดูเพียงคุณสมบัติของนายประกันว่าเข้าข่ายเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าคือใคร โดยขั้นตอนการเซ็น รายงานตัวและเข้าพบอัยการใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก่อนที่นายทักษิณจะกลับ

ส่วนวันที่ 10 เม.ย. จะมีคำสั่งทางคดีหรือไม่ นายปรีชา กล่าวว่า วันที่ 10 เม.ย. เป็นการนัดฟังผลคำสั่งทางคดีว่าจะมีคำสั่งว่าอย่างไร ถ้าผลสอบเพิ่มกลับมา ทางอัยการสูงสุดจะพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง หรือถ้าผลสอบเพิ่มยังไม่เเล้วเสร็จ ทางอัยการสำนักงานคดีอาญาก็อาจจะต้องเลื่อนนัดฟังคำสั่งออกไป ซึ่งจะต้องแจ้งให้ตัวนายทักษิณทราบในวันนั้น

สำหรับเรื่องการสอบสวนเพิ่มเติม คือ จะมีอัยการจากสำนักงานการสอบสวนไปร่วมสอบด้วย ซึ่งเป็นการสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งอัยการสูงสุดที่มีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา หากผลสอบสวนเพิ่มมาก็จะต้องส่งอัยการสูงสุดพิจารณา ทางอัยการสำนักงานคดีอาญาไม่ต้องเเนบความเห็นส่งไป คำสั่งอัยการสูงสุดถือเป็นเด็ดขาด

ขณะที่นายประยุทธ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนวนเดิมที่มีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องเป็นคำสั่งแรกตั้งแต่นายทักษิณยังไม่กลับเข้าประเทศไทย แต่เมื่อนายทักษิณกลับเข้าประเทศไทยและมีการแจ้งข้อกล่าวหากันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2567 รวมถึงมีการส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ทำให้ทางคณะพนักงานสอบสวนได้มีการสอบสวนสำนวนใหม่ จึงทำให้วันที่ 10 เม.ย.นี้ ตัวนายทักษิณจะต้องมารับฟังคำสั่งด้วยตนเอง ว่าทางอัยการจะเห็นสมควรสั่งฟ้องทางคดีหรือไม่ โดยคำสั่งจะแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง 1.สั่งฟ้อง 2.ไม่สั่งฟ้อง 3.เลื่อนนัดฟังคำสั่ง ถ้าหากสำนวนที่สอบเพิ่มเติมนั้นยังไม่ครบถ้วน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรจะต้องแจ้งให้ตัวนายทักษิณทราบ

“คดีนี้ถือว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร หากวันที่ 10 เม.ย. หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องจะต้องนำตัวนายทักษิณเข้าสู่กระบวนการศาลทันที แต่หากมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวถือว่าสิ้นสุดในชั้นของอัยการ ไม่ต้องส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาเหมือนกับคดีอื่นๆ เนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักรที่อัยการสูงสุดมีอำนาจสอบสวนและพิจารณาเด็ดขาด” นายประยุทธ ระบุ

เมื่อถามถึงหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่นายทักษิณร้องมามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง มี 10 ประเด็น ที่ขอให้สอบเพิ่มเติม อสส.อนุญาตทุกประเด็นหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ไม่สามารถลงรายละเอียดได้

ส่วนข้อกล่าวหาจากสังคมสำหรับตัวนายทักษิณว่ามีการให้การช่วยเหลืออำนวยความสะดวกทางด้านคดีให้กับนายทักษิณหรือไม่นั้น นายประยุทธ ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า คดีนี้มีอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่อัยการสูงสุด จึงขอให้ไปดูประวัติการทำงานของอัยการสูงสุดว่ามีชื่อเสียงด้านความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ เเละมีทิศทางการทำงานตามกฎหมาย และขอให้สังคมมั่นใจในการพิจารณาของอัยการสูงสุด แม้ว่าคดีดังกล่าวจะมีผู้ต้องหาเป็นบุคคลสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย พร้อมคาดการณ์ 7 วันข้างหน้า

ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 26 เมษายน 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้

งบ68ทร.ซื้อเครื่องบินลำเลียง “เรือดำน้ำ-ฟริเกต”ไปถึงไหน?

ฟันธงกันว่าปิดจ๊อบปรับคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 2” ที่โรงแรมหรูกลางกรุงไปแล้ว โดยมี ทักษิณ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะคุยรอบสุดท้ายโดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ว่ากันว่า โผนี้ชื่อของ เกรียง กัลป์ตินันท์ กับ สุทิน คลังแสง ยังเหนียว