ชงข้อเสนอสกัด 'คอร์รัปชัน' ในการจัดซื้อฯ ของ กทม.

6 ก.ค.2567 - ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ข้อเสนอเพื่อป้องกันคอร์รัปชันในการจัดซื้อฯ ของ กทม.

ที่ผ่านมา กทม. เต็มไปด้วยคอร์รัปชันแบบแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ ส่วนกลางกับเขตพื้นที่ ผู้บริหาร กทม. กับบางคนในสภา กทม. เพราะที่นี่มีงบประมาณ 9 หมื่นล้านบาทต่อปี มีการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชนผ่านการให้เช่าให้สัมปทานมูลค่านับหมื่นล้านบาทต่อปี มีอำนาจให้คุณให้โทษกับประชาชนและนักธุรกิจเล็กใหญ่ได้มากมาย

การป้องกันคอร์รัปชันเป็นเรื่องยาก การไล่ออกหรือโยกย้ายใครสักคนหรือกลุ่มหนึ่งก็ช่วยไม่ได้ เพราะคนใหม่ที่ถูกย้ายเข้ามาก็รู้เป็นอย่างดีว่าที่ผ่านมาตรงนั้นเขามีเทคนิควิธีโกงกินกันอย่างไร หากเขาไม่โกงคนรอบข้างก็โกงหรืออย่างน้อยตัวเขาเองอาจทำงานไม่ได้

การป้องกัน “คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง” ใน กทม. บริษัทและนิติบุคคลในสังกัด จึงต้องใช้นวัตกรรมที่ทำให้ “ระบบและสภาพแวดล้อม” เปลี่ยนแปลง ด้วยการเปิดเผยอย่างโปร่งใส ยกระดับการตรวจสอบ ความรับผิดชอบร่วมกัน และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้

1. ภายหลังชนะการเลือกตั้ง ท่านผู้ว่า กทม. และคณะประกาศแนวทางป้องกันคอร์รัปชันไว้น่าสนใจเช่น พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนใช้บริการและเข้าถึงข้อมูล กทม. ได้ง่าย สะสางโครงสร้างงบประมาณด้วยนโยบาย “Zero – Based Budgeting” ดึงกูรูจากภายนอกมาช่วยงาน ฯลฯ

ดังนั้นท่านควรเร่งนโยบายเหล่าให้เป็นจริง แต่หากยังไม่พร้อม ขอเสนอให้นำระบบ ACT Ai ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มาใช้ เพราะเป็นเทคโนโลยีเพื่อสาธารณะประโยชน์ ทำงานไวและไม่โกหก

1.1 กำหนดให้เป็นเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูลเพื่อการเขียนทีโออาร์เช่น คุณสมบัติของสินค้า ราคากลางและราคาที่ซื้อขายจริง เงื่อนไขบริการก่อนและหลังการขาย รายชื่อเอกชนผู้เคยขายและร่วมประมูลงานประเภทนั้น ฯลฯ และทุกครั้งผู้ปฏิบัติต้องแสดงหลักฐานการใช้ข้อมูลจาก ACT Ai

1.2 ใช้เป็นเครื่องมือเฝ้าติดตามการจัดซื้อฯ ว่ามีเงื่อนไขหรือพฤติกรรมที่ส่อฮั้วประมูลหรือไม่ และหากในช่วงครึ่งปีหรือหนึ่งปี การจัดซื้อของส่วนงานใดถูกระบบแจ้งเตือนบ่อยครั้งให้เพ่งเล็งว่า ผู้นำส่วนงานนั้นด้อยประสิทธิภาพแล้วตั้งกรรมการสอบสวนความผิด

1.3 พัฒนาต่อยอด ACT Ai ให้ สตง. เชื่อมโยงเข้าตรวจสอบข้อมูลแบบออนไลน์ได้

2. เปิดเผยงบประมาณประจำปีและรายงานการใช้จ่ายงบประมาณของ กทม. รวมถึงสำนักและเขตต่างๆ ให้ครบถ้วน ทันการณ์ โดยถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารทุกคนทุกระดับต้องรับผิดชอบ

3. เมื่อมีการโยกหรือแปรงบประมาณ การลงทุนในโครงการที่ไม่ใช่แผนงานปรกติ ต้องประกาศต่อประชาชนอย่างแจ้งชัดโดยหน่วยงานส่วนกลางและสำนักงานเขต

4. เปิดเผยข้อมูลและเอกสารการจัดซื้อฯ ในเว็บไซต์ของ กทม. ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งกว่าที่เปิดเผยในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางแล้ว เช่น มาตรฐานโครงการ CoST หากกรณีใดมีเอกสารจำนวนมากเกินก็ให้คัดเลือกที่จำเป็น พร้อมรับฟังความเห็นสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจว่า ต้องการทราบข้อมูลอะไรเพิ่มเติมจากที่เปิดเผยแล้ว

5. ยกระดับหน่วยงานตรวจสอบภายในของ กทม. ให้มีอิสระ เป็นมืออาชีพมากขึ้น

6. ใช้มาตรการทางวินัยและปกครอง “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” ตามมติ ครม. เมื่อ 27 มีนาคม 2561 และ 28 มกราคม 2563 เพื่อให้การตรวจสอบลงโทษเป็นไปอย่างรวดเร็ว

7. ฟังความคิดเห็นประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการนั้นๆ ในทุกการลงทุน

8. การทำสัญญาความลับใดๆ กับเอกชน เป็นเรื่องต้องห้าม หากจำเป็นต้องพิจารณาเข้มงวดสูงสุดและกำหนดความรับผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้องหากเกิดความเสียหาย

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานรัฐ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับข้าราชการได้เรียนรู้เทคนิคการใช้ ACT Ai จนสามารถใช้งานและต่อยอดเทคโนโลยีได้อย่างคล่องตัว

วันนี้ท่านผู้ว่าชัชชาติต้องรีบรายงานให้คน กทม. ทราบคือ ความคืบหน้าในการสอบสวนการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายและการจัดซื้อทุ่มลอยน้ำ รวมถึงโครงการเช่ารถอีวีเก็บขยะที่สังคมกำลังจับตา

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซุ้มประตู'มังกร' แลนด์มาร์กใหม่ไชน่าทาวน์

ซุ้มประตูจีน ถือเป็นแลนด์มาร์กแสดงอาณาเขตของไชน่าทาวน์หรือพื้นที่ของชุมชนชาวจีนทั่วโลก แน่นอนว่า ในประเทศไทยมีชุมชนชาวจีนอยู่แทบจะทุกพื้นที่ เกิดไชน่าทาวน์ขึ้นในหลายจังหวัด