ฉับไว! 20 กันยา เสนอร่างแก้รธน. ฉบับลดทอนมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง

19 ก.ย.2567 - ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย โดยคาดว่า จะมีการเสนอในวันที่ 20 ก.ย.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากวันนี้มีการลงชื่อกันอยู่

ส่วนมีการติดใจอะไรหรือไม่นั้น นายวิสุทธิ์ ระบุว่า เนื้อหาไม่ได้เหมือนกันทุกพรรค แต่เป็นความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย ที่ต้องเจรจากัน ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เรื่องใหญ่คือการแก้ร่วมกันรายมาตรา ไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่า เนื่องจากวันนี้เป็นวันครบรอบการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พรรคประชาชน ได้โพสต์พาดพิงพรรคการเมืองที่มีการสลายขั้วมาสมานฉันท์ปรองดองกัน ทั้งที่เคยเป็นคู่ขัดแย้ง นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า บ้านเมืองต้องการการฟื้นฟู จึงต้องมีการเจรจาต่อรองกัน เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ทะเลาะเบาะแว้งกันได้ประโยชน์อะไร ขนาดข้างบ้านทะเลาะกันตนยังไม่ฟังเลย ประชาชนก็รำคาญ เบื่อเต็มที นักการเมืองทะเลาะกันไม่มีที่สิ้นสุด นักการเมืองที่มีใจบริสุทธิ์รักประชาชน จะต้องช่วยกันพาประเทศไปข้างหน้า วาทกรรมไม่ต้องมาพูดกัน คนรุ่นใหม่ต้องคิดเรื่องที่ดีต่อประเทศชาติ ประชาชนจะมีความสุขได้อย่างไร นักการเมืองต้องคิดเรื่องเหล่านี้

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมแต่ละครั้ง ซึ่งล้วนเป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองเป็นส่วนใหญ่ กังวลว่าจะถูกข้อครหาหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า การเมือง ประชาชน ประเทศชาติ ไปด้วยกันทั้งหมด ถ้าไม่แก้ไขบางเรื่อง เช่น เรื่องจริยธรรมก็จำกัด ความซื่อสัตย์สุจริต ต้องขนาดไหน แล้วประเทศชาติจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ใครมาเป็นก็โดนหมด จึงไม่ควรสนใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม

"ไม่ใช่ว่าไม่ต้องซื่อสัตย์สุจริต แต่ต้องมีข้อจำกัด เรื่องที่ผ่านมา 50 ปี ยังต้องมาว่ากันอีกหรือไม่ กฎหมายต้องเขียนให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาร้องเรียนกันไปทุกสิ่ง มีที่ไหนทำมินิฮาร์ทก็ร้อง หายใจดังอีกหน่อยจะร้องหรือเปล่าก็ไม่รู้"

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีผลย้อนหลังไปถึงผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายวิสุทธ์ กล่าวว่า คงต้องมีการมาคุยกันอีกครั้ง วันนี้ต้องยื่นเข้า เป็นข้อตกลงระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เราไม่ได้ค้านกันทุกเรื่อง แต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ก็ต้องทำร่วมกันได้

สำหรับสาระร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิมเติม ฉบับพรรคเพื่อไทย แบ่งเป็น 6 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย

ประเด็นที่ 2 แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็นไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตโดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูฉบับแก้ไขบังคับใช้

(5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา

และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

ประเด็นที่ 3 แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา 246

ประเด็นที่ 4 แก้ไขมาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

ประเด็นที่ 5 แก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของสส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

ประเด็นที่ 6 แก้ไขหมวด 15 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มเป็นวรรคสองของมาตรา 255 กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้ โดยแก้ไข (8) ของมาตรา 256 เดิมกำหนดว่าการแก้ไขในเรื่องต่างๆ ทั้งการแก้ไขหมวด 1 หมวด2 การแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ก่อนนำร่างร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนนั้น ได้แก้ไขเป็น เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้นที่ต้องจัดทำประชามติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กอ้วน' ชี้ 'สนธิ' แค่หนึ่งเสียงการบริหารประเทศไม่ควรโฟกัสแค่คนคนเดียว!

'ภูมิธรรม' ยังไม่เห็นข้อเรียกร้อง 'สนธิ' บอกเป็นแค่ความเห็นหนึ่งต้องรับฟังทุกฝ่าย เปรียบเหมือนมองปี๊บหนึ่งใบ ต้องมองให้รอบด้าน ไม่หมิ่นประมาทม็อบจุดติดหรือไม่

ดร.ณัฏฐ์ ชำแหละ 92 ปีรัฐธรรมนูญ วัฏจักรการแย่งชิงอำนาจ!

ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม ระบุครบรอบ 92 ปีวันรัฐธรรมนูญ ยังวนเวียนอยู่กับวัฏจักรการแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง มากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

'อนุทิน' สวนเพื่อไทย! จุดยืน 'ภท.' ไม่เอาด้วย กม.สกัดปฏิวัติ

'อนุทิน' ย้ำจุดยืนภูมิใจไทย ไม่เอาด้วยกฎหมายสกัดปฏิวัติ ชี้นักการเมืองอย่าสร้างเงื่อนไข ทำตัวให้ดีอย่าขึ้โกง ชงกฎหมายแค่สัญลักษณ์ ถึงเวลารัฐธรรมนูญโดนฉีกอยู่ดี

ผลโพลสูสี คนอยากแก้ กับ ไม่อยากแก้ 'รธน.' มีใกล้เคียงกัน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ

ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้ 'กฎอัยการศึก' สส.ไทยไม่สามารถยกเลิกได้ แตกต่างจากเกาหลีใต้

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เผย กฎอัยการศึกสถานะเป็นพระราชบัญญัติ การยกเลิกในประเทศเกาหลีใต้กระทำโดยมติสภา แตกต่างจากประเทศไทย สส.ตัวแทนประชาชน ไม่สามารถยับยั้งยกเลิกได้