ศาลนราธิวาสสั่งจำหน่ายคดีตากใบ แต่ความทรงจำของประชาชนไม่หมดอายุความ

ภาพ:มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

29 ต.ค.2567- ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี ในคดี หมายเลขแดงที่ อ.1516/2567 ระหว่าง นางสาวฟาตีฮะห์ ปะจูกูเล็ง ที่ 1 กับพวกรวม 48 คน โจทก์ กับพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี ที่ 1 กับพวก รวม 9 คน จำเลย ซึ่งเป็นคดีที่ศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องและออกหมายจับจำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นๆ รวม 7 คน โดยในวันนี้ ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบความ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมจำเลยทั้ง 7 คน มาดำเนินคดีที่ศาลได้ภายในกำหนดอายุความ 20 ปี ซึ่งสิ้นสุดลงแล้วในวันที่ 25 ตุลาคม 2567

บรรยากาศในห้องพิจารณาของศาลจังหวัดนราธิวาส ศาลให้โอกาสญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บได้แถลงอย่างเต็มที่ มีญาติผู้เสียชีวิตและตัวแทนโจทก์ได้กล่าวขอบคุณศาลที่ดำเนินคดีอย่างเต็มที่แล้วแต่ผิดหวังในกระบวนการยุติธรรมของรัฐในชั้นเจ้าพนักงานที่ปล่อยให้เรื่องเงียบหายจนใกล้จะขาดอายุความ โดยเพิ่งมาดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคนหลังจากที่ชาวบ้านเริ่มฟ้องคดีแล้ว และแม้เมื่อศาลรับฟ้องและออกหมายจับจำเลยทั้ง7คนแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่จับตัวจำเลยมาดำเนินคดีที่ศาลได้แม้แต่คนเดียว ทำให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดลอยนวล ชาวบ้านมาศาลทุกครั้ง แต่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลับหนีคดี ไม่เคารพกฎหมายและไม่ให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่ผิดจะหนีทำไม “แม้คดีขาดอายุความ แต่ความทรงจำของพวกเราไม่มีขาดอายุความ พวกเรายังเจ็บปวดเพราะคนในครอบครัวบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากเพราะการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังอยู่ในใจพวกเราตลอดไป” ตัวแทนชาวบ้านกล่าวในที่สุด

จำเลยทั้ง 7 คนที่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ออกหมายจับได้แก่ จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการพล.ร. 5 ในขณะนั้น จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้าในขณะนั้น จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในขณะนั้น จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสภอ.ตากใบในขณะนั้น จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี รองผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น และจำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะเกิดเหตุ

โดยจำเลยทั้ง 7 ถูกออกหมายจับในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 83, 288 ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 310 วรรคสองประกอบมาตรา 290 ,83

การที่จำเลยในคดีอาญาตากใบไม่มาปรากฏตัวต่อศาลไม่ว่านัดใด แม้ศาลนราธิวาสจะออกหมายจับจำเลยที่ประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ทั้ง 7 คน และ ศาลจังหวัดปัตตานีจะออกหมายจับผู้ต้องหาในสำนวนคดีอาญาที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ จำนวน 8 คน รวมเป็น 14 คน (เนื่องจากมีจำเลยหนึ่งคนที่มีชื่ออยู่ในทั้งสองคดี) แล้วก็ตาม อีกทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่โดยตรงในการติดตามจับกุมจำเลยทั้ง 14 คนนั้นก็ไม่ได้จับกุมนำตัวจำเลยมาศาลให้ทันก่อนอายุความหมดลง ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความไม่บริสุทธิ์ใจของจำเลยและผู้ต้องหาทั้งหมดที่ไม่มาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่ยังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่ยังคงดำรงอยู่ในรัฐไทยอย่างยาวนาน และทำลายหลักนิติธรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ตลอด 20 ปีที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและความรุนแรง ทำให้ได้รับความเจ็บปวดและบาดแผลจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและกว้างขวาง โดยเหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งสำคัญที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญ รวมถึงการดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายพิเศษกว่าสามฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน และกฎอัยการศึก มากว่าสองทศวรรษ ในขณะที่ปัจจุบันสังคมยังคงตั้งคำถามถึงความจำเป็นและชอบธรรมของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนในพื้นที่อย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่มีการต่ออายุทุก 3 เดือน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ต่อเป็นครั้งที่ 78

ถึงแม้ว่าเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ก่อนหมดอายุความเพียง 1 วัน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และตนได้ออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษในเรื่องดังกล่าว และมีการชดเชยจ่ายค่าเยียวยาไปแล้ว และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะเป็นนายแถลงว่าจะทำให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกแล้วก็ตาม แต่ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ตากใบ ชุมชนและสังคมยังคงแสวงหาและเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลและรัฐสภาต่อไป ตามสิทธิที่จะรู้ความจริง (Rights to Truth) ที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและสังคมพึงได้รับจากรัฐ การเยียวยาที่รัฐต้องปรึกษาหารือกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และชุมชนเพื่อแก้ไขเยียวยาในมิติต่างๆ จนเป็นที่พอใจตามหลักสิทธิมนุษยชน การป้องกันมิให้เกิดการละเมิดซ้ำโดยรัฐต้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันมิให้การสังหารหมู่และการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเกิดขึ้นอีก ด้วยการลงโทษทางวินัยข้าราชการที่กระทำผิด ทบทวนยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉิน แก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมตากใบ รวมทั้งพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาญาจักรบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน และการแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อให้คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเดียวกับคดีตากใบ อุ้มฆ่า ทรมาน และสังหารนอกระบบกฎหมาย เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ เป็นต้น

นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องตรวจสอบ สอบสวนเรื่องที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมละเลย ซ่อนเร้นหรือจงใจบิดเบือนคดีตากใบ ด้วยการไม่ดำเนินการสืบสวน สอบสวนดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอย่างเที่ยงตรง จนคดีหมดอายุความ

การฟ้องร้องคดีอาญาเหตุการณ์ตากใบเกิดจากความพยายามของกลุ่มผู้เสียหาย ได้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต และตัวผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากเหตุการณ์ และชาวบ้านในท้องที่ ที่ได้ขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากทนายความสิทธิมนุษยชน โดย คดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ควันหลงคดีตากใบ 'เพื่อไทย' สะเทือนหนักทางลบ

นิด้าโพลเปิดผลสำรวจ พรรคการเมืองใดเดือดร้อนจากกรณีตากใบ ชี้เพื่อไทยผลกระทบหนักทางลบ ขณะที่ปชช.ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ระบุไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งต่อไป

สั่งผู้ว่าฯ นครพนมสอบข้อเท็จจริงปลัดอำเภอท่าอุเทนโผล่ทำงานหลังคดีตากใบหมดอายุความ!

'อนุทิน' มอบ ปลัด มท.สั่งผู้ว่าฯนครพนม สอบข้อเท็จจริง 'ปลัดอำเภอท่าอุเทน' 1 ใน 14 จำเลยคดีตากใบ ภายใน 15 วัน โผล่ทำงานวันแรก หลังคดีขาดอายุความ

มท.1 สั่งปลัดมท. ตั้งกก.สอบ 'ปลัดอำเภอท่าอุเทน' จำเลยคดีตากใบ โผล่ทำงานหลังคดีหมดอายุความ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัดอำเภอ