อัยการเรียก 'ธีรยุทธ' มือร้องคดี 'ทักษิณ-พท.'ล้มล้างการปกครองฯ เข้าให้ถ้อยคำ ปิดห้องลับซักเครียด 3 ชั่วโมง ถามยิบปมนักโทษเทวดาชั้น 14 พบเรียกพ่อนายกฯ มาด้วย แต่โผล่แค่ ชูศักดิ์ ยื่นเพิ่มประเด็นใหม่ 'อุ๊งอิ๊งค์-เกาะกูด' เสี่ยงเซาะกร่อนบ่อนทำลายฯ ลุ้นพุธ 13 พ.ย. ศาลรธน.รับคำร้อง
07 พ.ย.2567 - ความคืบหน้าในคำร้องคดีที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีการยื่นไป 6 ประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ศาลมีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด ขอทราบการดำเนินการตามคำร้องดังกล่าว ที่ นายธีรยุทธเคยร้องอัยการสูงสุดไปก่อนหน้าที่จะมายื่นศาล โดยให้รวบรวมจัดส่งต่อศาลภายใน15 วัน ซึ่งเมื่อวันพุธที่ 6 พ.ย. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) และเป็นตัวแทนพรรคไปให้ถ้อยคำกับอัยการฯ ตามหนังสือเรียก ส่วนนายทักษิณยังไม่มีรายงานว่า ได้ไปให้ถ้อยคำกับอัยการแต่อย่างใด ซึ่งการครบกำหนด 15 วันดังกล่าว จะครบวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.นี้
นายธีรยุทธเผยว่า ได้รับหนังสือเรียกจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เดินทางไปให้ถ้อยคำและยื่นพยานหลักฐานต่อคณะทำงานของอัยการสูงสุดที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ได้ไปพบกับอัยการเมื่อวันพุธที่ 30 ต.ค. ซึ่งที่อัยการเรียกไปคงเกิดจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือถึงอัยการสูงสุด เพื่อขอให้แจ้งถึงการดำเนินการตามคำร้องฯ เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยไปยื่นต่ออัยการสูงสุดมาก่อน แต่เมื่อไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนครบ 15 วัน จึงได้ไปยื่นตรงต่อศาล รธน.ตามรัฐธรรมนูญ
นายธีรยุทธกล่าวว่า การไปให้ถ้อยคำดังกล่าว ได้ใช้เวลาในการให้ถ้อยคำเป็นเวลาร่วม 3 ชั่วโมง โดยทางคณะทำงานของอัยการสูงสุด ได้ซักถามรายละเอียดในหกประเด็นที่ได้เคยยื่นต่ออัยการสูงสุด และต่อมาไปยื่นต่อศาล รธน. โดยอัยการได้สอบถามว่า มีพยานหลักฐานในคำร้องคดีนี้อย่างไรบ้าง ก็ได้ชี้แจงไปว่า มีการเตรียมการไว้อยู่แล้ว เช่น ประเด็นแรกในคำร้องเรื่องนายทักษิณ นอนชั้น 14 ร.พ.ตำรวจ ก็จะอ้างอิงรายงานผลการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ที่ทำสรุปรายงานออกมา
นายธีรยุทธ บอกต่อไปว่า สำหรับประเด็นที่สองเรื่อง ผู้ถูกร้องที่ 1 กับกรณี MOU44 และเกาะกูด ก็ได้แจ้งกับอัยการว่า จะมีการขอเพิ่มเติมประเด็นเสนอต่ออัยการสูงสุดในประเด็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคเพื่อไทย ) ปรากฏพฤติการณ์ในลักษณะนายทักษิณไปร่วมคิดกับผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน(กัมพูชา) โดยอ้างเรื่องพื้นที่ทับซ้อน แล้วต่อมาไปพูดในงานของสื่อมวลชนแห่งหนึ่งในลักษณะการแสดงวิสัยทัศน์ว่า จะมีการรื้อฟื้นเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา และต่อมาพบว่า นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร นำเรื่องดังกล่าวไปบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
นายธีรยุทธ เปิดเผยว่า ประเด็นเพิ่มเติมที่แจ้งกับคณะทำงานของอัยการสูงสุดไปก็คือ การประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยเมื่อปี 2516 ทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้ใช้พระราชอำนาจประกาศเขตไหล่ทวีปเป็นอธิปไตยของประเทศไทย ที่บริเวณเกาะกรูด ซึ่งมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเวลานั้นก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ และปัจจุบัน นายกฯ คือ แพทองธาร จะต้องเป็นผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการฯ ดังกล่าว ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาเขตอธิปไตยแห่งรัฐฯ แต่ตอนนี้ ปรากฏข่าวที่สื่อมวลชนหลายแห่งรายงานว่า เมื่อ 1 ต.ค. 2567 ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลไทย กำลังเร่งเจรจาเรื่องการอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชา และต่อมามีข่าวออกมาอีกว่า พวกที่ไปเร่งรัดเจรจา คือตัวนายกฯ แพทองธาร ทั้งที่จะต้องเป็นผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการฯ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาเขตอธิปไตยแห่งรัฐ ฯ แต่ปรากฏว่า ไปเร่งรัดให้มีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ ที่อาจกระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ผมก็ได้ส่งเอกสารผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในอดีต ที่เคยวินิจฉัยชัดเจนว่า การทำหนังสือสัญญาใดกับนานาประเทศ หากหนังสือสัญญานั้น มีบทที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออธิปไตยแห่งรัฐ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจแห่งรัฐ หนังสือสัญญานั้นอยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
“หมายถึงว่าการใดที่คณะรัฐบาล หรือรัฐมนตรีหรือนายกฯ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าผู้ใดผู้หนึ่งหรือทั้งคณะ จะได้ร่วมกันกระทำการอย่างใด อันอาจส่อไปในทางทำให้ประเทศไทย สูญเสียอำนาจในการปกครองอธิปไตยแห่งรัฐบริเวณเกาะกูด รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ในบริเวณน่านน้ำตรงเกาะกูดก็อาจก้าวล่วงกระทบกระเทือนต่อเบื้องพระยุคลบาทและอาจเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ การกระทำเช่นนี้ซึ่งยังกระทำการต่อเนื่องอยู่มาโดยตลอด ผมเห็นว่ามันเข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ฯ ก็เลยนำเสนอประเด็นดังกล่าวต่ออัยการสูงสดให้ได้ตรวจสอบด้วย เป็นกรณีเพิ่มเติมจากที่เคยยื่นไว้ รวมถึงจะยื่นรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมไปที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกันจากที่เคยยื่นไว้หกประเด็น ซึ่งตามกระบวนการผู้ร้อง สามารถที่จะเพิ่มเติมคำร้องได้อยู่ ”นายธีรยุทธกล่าว
นายธีรยุทธกล่าวอีกว่า ได้ทราบจากอัยการว่า ได้มีการทำหนังสือถึงผู้ถูกร้องที่ 1 นายทักษิณและพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 ให้มาให้ถ้อยคำเช่นกัน ซึ่งตามกระบวนการ อัยการเรียกไปแล้วผู้ถูกร้องจะไม่มาก็ได้ แต่การมาก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ถูกร้องจะได้รับทราบ ได้ชี้แจงแสดงหลักฐาน ทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล ในชั้นอัยการได้ ที่หากไม่มาก็จะเป็นการเสียสิทธิไป
“ในการให้ถ้อยคำ 3 ชั่วโมง จากการสังเกตพบว่า อัยการให้ความสนใจในประเด็นเรื่อง การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ไปนอนที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14 เพราะอย่างในคำร้องที่ยื่นศาลฯ ได้เขียนไว้ว่า จะมีพยานบุคคลที่จะส่งชื่อในบัญชีพยานต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรืออย่างกรณีที่แกนนำพรรคการเมืองไปคุยกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อ 14 สิงหาคม เราก็มีพยานบุคคล ที่จะนำเสนอต่อศาล รธน.ด้วย โดยผมก็ได้บอกกับอัยการว่า พยานบุคคลที่จะเสนอให้มีการเรียกมาให้ถ้อยคำหากศาลรับคำร้อง ก็ทราบจากสื่อว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เคยออกมาบอกว่า เคยไปพบเยี่ยมเยียนที่รพ.ตำรวจ หรืออย่างในรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ก็ระบุชัดเจนว่า เชื่อว่าไม่ได้ป่วยถึงขั้นวิกฤต และมีการเอื้อประโยชน์กันในกลุ่มเจ้าหน้าที่เพื่อให้ผู้ถูกร้อง ได้พักอาศัยที่ชั้น 14 ผมให้ความเห็นกับอัยการว่า คำว่าได้พักอาศัยที่ รพ.ตำรวจ มันบ่งชัดโดยไม่ต้องตีความเลยว่า มันไม่ใช่การพักรักษาตัว เพราะใช้คำว่า พักอาศัย ไม่ได้ใช้คำว่า พักรักษาตัว จึงตีความหมายได้ว่า ไม่ได้ป่วยขั้นวิกฤตถึงขั้นจะได้รับสิทธิ อัยการก็ยังถามผมอีกว่า แล้วเรื่องชั้น 14 ใครที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ผมก็บอกว่า คือกรมราชทัณฑ์ เป็นตัวหลัก”นายธีรยุทธระบุ
นายธีรยุทธ กล่าวต่อไปว่า ได้ย้ำกับอัยการ หกประเด็นที่ยื่นในคำร้องคดีดังกล่าว จะทิ้งประเด็นใดประเด็นหนึ่งไปไม่ได้ เพราะทั้งหกประเด็นมีความเกาะเกี่ยวร้อยรัดเป็นห่วงโซ่กันอยู่ อย่างประเด็นเรื่องเกาะกูด ที่อยู่ในประเด็นที่สอง ก็จะมีความเชื่อมโยงไปยังประเด็นที่หก คือหลังผู้นำประเทศเพื่อนบ้านไปพบผู้ถูกร้องที่บ้าน ต่อมาก็มีการจะรื้อฟื้นเจรจาตามกรอบ MOU44 แล้วจากนั้น ผู้ถูกร้องที่หนึ่งก็ไปขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ แล้วนายกฯก็เอาเรื่องนี้ไปเขียนไว้เป็นนโยบายรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย ยินยอมให้ ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางอื่น ที่ไม่ได้ปรากฏในรธน.แห่งราชอาณาจักรไทย
“วันที่ 11 พ.ย.นี้จะครบกำหนด 15 วันที่ศาลให้อัยการสูงสุด แจ้งการดำเนินการคำร้องคดีดังกล่าวมายังศาลรัฐธรรมนูญก็คาดว่า อัยการคงส่งหนังสือถึงศาลภายในไม่เกินวันจันทร์หน้า แล้ววันพุธที่ 13 พ.ย.คาดการณ์ว่า ศาลคงจะมีการประชุมเพื่อลงมติว่าจะรับคำร้องที่ผมยื่นต่อศาลไว้วินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งผมยังคิดว่าศาลท่านจะเมตตารับคำร้องไว้วินิจฉัย”นายธีรยุทธกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ลั่นมีแต่ควายเท่านั้น ยกประเทศให้เพื่อนบ้าน บอกกัมพูชาลากเส้นไม่ถูก
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะวิทยากรพิเศษ บรรยายพิเศษหัวข้อ สถานการณ์ทิศทางโลกและการปรับตัว โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ตนไม่ได้ครอบงำนายกรัฐมนตรี
'ทักษิณ' สับแหลกพรรคร่วม หนีประชุม ครม. ออกพรก.ภาษี ไล่ส่งถ้าไม่อยากอยู่ก็บอกมา
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะวิทยากรพิเศษ บรรยายพิเศษหัวข้อ สถานการณ์ทิศทางโลกและการปรับตัว โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า
'ทักษิณ' เผย นายกฯอิ๊งค์ เตรียมมอบ ก.คลัง ศึกษาใช้บิทคอยน์ในภูเก็ต
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะวิทยากรพิเศษ บรรยายพิเศษหัวข้อ สถานการณ์ทิศทางโลกและการปรับตัว ว่า ต้องขอบคุณที่มีโพเดี้ยมให้เกาะ เนื่องจากอายุ 75 ปีแล้ว ยืนพูดแบบนายเศรษฐา ทวีสิน
'เพื่อไทย' พร้อมหนุนภรรยา 'สจ.โต้ง' หากต้องการลงสมัครนายก อบจ.ปราจีนบุรี
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงความชัดเจนในการส่งผู้สมัครนายก อบจ. ปราจีนบุรี
3 นายกฯ 'อิ๊งค์-ทักษิณ-เศรษฐา' ร่วมเปิดงานสัมมนาพรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทยจัดสัมนาภายใต้โครงการ เสริมศักยภาพ สส. และบุคลากรทางการเมือง มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯในฐานะหัวหน้าพรรค นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ รวมถึงแกนนำ
'ประเสริฐ' รับเพื่อไทยยังไม่มีผู้สมัครนายก อบจ.โคราช หลัง 'ยลดา' เมียกำนันป้อ ประกาศลงอิสระ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมาที่ลาออกไป