'ธรรมนัส-ชาดา' ลุ้นศาล รธน.รับเรื่อง-คำร้อง รัฐบาลขอคำจำกัดความ คุณสมบัติ รมต. อาจเป็นใบเบิกทางกลับเข้าเป็นเสนาบดีอีกรอบ หากไม่ซ้ำรอยคดี 'ไผ่ ลิกค์'
26 ก.พ.2568 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณี การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 25 ก.พ.ที่มีการประชุมลับ และ ครม.มอบหมายให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือตามคำแนะนำของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งคำร้องส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลระบุคำนิยามเรื่องคุณสมบัติของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี รวมถึงคุณลักษณะต้องห้ามฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) โดยใช้เหตุผลว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งไปต่อไป โดยมอบหมายให้นายชูศักดิ์ ที่รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ทำหนังสือสอบถามความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว
มีรายงานว่า แนวทางดังกล่าว เพราะรัฐบาล และ ครม.ต้องการความชัดเจนว่านิยามหรือคำจำกัดความในเรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ที่บัญญัติว่า ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์กับต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยที่21/2567 หรือคำวินิจฉัยกลางในคดีนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 14 สิงหาคม 2567 ว่าศาลมีคำจำกัดความหรือหลักการพิจารณาจากอะไร
การเตรียมส่งคำร้องดังกล่าวของรัฐบาลไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองว่า การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่มีกระแสข่าวการปรับ ครม. ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น ที่คาดว่าจะปรับช่วงปิดสมัยประชุมสภาประมาณเดือนพ.ค.-มิ.ย.2568 ที่ถึงตอนนั้นเท่ากับรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทำงานมาได้ประมาณ 8-9 เดือน
โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงการตั้งรัฐบาล น.ส.แพทองธาร มีแกนนำพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอย่างน้อยสองคน ที่เป็นรัฐมนตรียุครัฐบาลนายเศรษฐาที่ตอนตั้งรัฐบาล ฝ่ายพรรคเพื่อไทยเกรงว่าจะมีปัญหาในการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีจนทำให้ต้องเสนอชื่อเครือญาติไปเป็นแทน เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรฯ ที่สุดท้ายต้องส่งชื่อ น้องชายตัวเองคือ นายอัครา พรหมเผ่า อดีตนายกฯ อบจ.พะเยาไปเป็น รมช.เกษตรฯ และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต รมช.มหาดไทยจากพรรคภูมิใจไทย ที่ส่งนางสาวซาบีดา ลูกสาวไปเป็น รมช.มหาดไทยแทน
อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่า หากรัฐบาลส่งเรื่องหรือคำร้องไปแล้ว ทาง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องหรือการตอบข้อซักถามของฝ่ายบริหารหรือ ครม.ในลักษณะการให้นิยามหรือคำจำกัดความในคำวินิจฉัยกลางของทางศาลเองมาก่อน หากสุดท้าย รัฐบาลส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญหรือส่งผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามข่าวที่ออกมา ทำให้เริ่มถูกจับตามองว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่รับเรื่องที่รัฐบาลส่งมา
ทั้งนี้ พบว่าก่อนหน้านี้ คือเมื่อปี 2567 ปัญหาเรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ก็เคยมีนักการเมือง ไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว แต่ศาลไม่รับคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ นั่นคือกรณีของนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และเลขาธิการพรรคกล้าธรรม ซึ่งนายไผ่ร้องโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ที่บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”
คำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 3 เม.ย.2567 โดยมีหน่วยงานรัฐสี่แห่งตกเป็นผู้ถูกร้องในคดีดังกล่าว ที่นายไผ่เป็นผู้ร้องเรียงตามลำดับ คือ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญมีใจความสรุปว่า นายไผ่ได้ร้องต่อศาลว่า ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน(เศรษฐา1) พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอชื่อตนเองเป็น รมช.พาณิชย์ แต่ในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือเมื่อปี 2554 ในคดีอาญามีโทษจำคุกหกเดือน ปรับสองพันบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดสองปี คดีถึงที่สุด สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงเห็นว่าผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามในการถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 และต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องของนายไผ่ กฤษฎีกาก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่าผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามฯ จนเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็น รมช.พาณิชย์ ต่อมาผู้ร้องได้ร้องไปยังสำนักงาน กกต. แต่ กกต.ไม่รับเรื่องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า การพิจารณาเรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต. ทำให้ผู้ร้องได้ร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติเรื่องไม่ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ในกรณีที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เรื่องร้องเรียนของผู้ร้อง ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งคำร้องดังกล่าว ยังมีลักษณะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญแปลความ อธิบาย หรือขอให้วินิจฉัยความหมาย ของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (คุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี) ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายไผ่ ลิกค์ จึงระบุว่า ทางผู้ร้องจึงร้องต่อศาลว่า การที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ผู้ถูกร้องที่ 2) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 3) และผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ถูกร้องที่ 4) ให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) ทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม จำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 25
“ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสี่ เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสี่เป็นเพียงการให้คำปรึกษาและความเห็นทางกฎหมายโดยปฏิบัติตามหน้าที่ และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และการทูลเกล้าฯ รายชื่อบุคคลเพื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินเป็นหน้าที่และอำนาจของนายกรัฐมนตรี กรณีไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย”คำวินิจฉัยคำร้องคดีดังกล่าวระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อ.ไชยันต์' มั่นใจไม่มีปัญหาลักษณะต้องห้าม สมัครตุลาการศาลรธน.คนใหม่
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการปิดรับสมัครไปเมื่อ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา
ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องฟัน กกต.ปมฮั้วเลือก สว.
ศาล รธน.ตีตกคำร้อง "ณฐพร" ปมขอสั่งฟัน กกต.เหตุปล่อยฮั้วเลือก สว. ชี้ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ กกต.ทำตาม กม.หากเสียหายใช้สิทธิทางศาลอื่นได้
'สนธิญา' ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลรธน. วินิจฉัยกฎหมายกาสิโน ขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา
“สนธิญา” ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยร่างกฎหมายคาสิโน ขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา พร่อมส่งศาลรธน.สั่งระงับ นายกฯ-ครม.สิ้นสภาพ ซัดลุยงานเพื่อประโยชน์บางคน ไม่เห็นหัวประชาชน
ลิ้นพัน! 'ชูศักดิ์' ยันไม่ได้รีบเข็นกาสิโน เผยร่างกฎหมายไม่ได้เน้นการพนัน แต่ตัดบ่อนออกไม่ได้
ที่ทำเนียบรัฐาบล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเสนอบรรจุ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถ
ระทึก! อาคาร A ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะทรุด สั่งอพยพคนทันที
อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรืออาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการสำคัญหลายหน่วยงาน
'รมว.ยธ.' ติง 'ประธานวุฒิ' ไม่ควรเซ็นคำร้องศาลรธน.เหตุมีชื่อในโพยฮั้วเลือกสว.
'รมว.ยธ.'ไม่กังวล ศาลรธน.รับวินิจฉัยฝ่าฝืนจริยธรรม แทรกแซงรับคดีฮั้วเลือกสว.ติง 'ประธานวุฒิสภา' ไม่ควรเซ็นคำร้อง เหตุมีชื่อในโพย เผยทำหนังสือขอชื่อผู้ร้องทั้งหมดเพื่อตรวจสอบ ก่อนทำคำชี้แจงส่งศาล ชี้หลายข้อกล่าวหาคลาดเคลื่อนเหมือนวินิจฉัยแทน