ทำความรู้จักโรค Aphasia (อะเฟเซีย) ภาวะบกพร่องทางการสื่อความที่ทำให้ 'บรูซ วิลลิส' ต้องยุติอาชีพนักแสดง

บรูซ วิลลิส Photo by Angela Weiss / AFP)

31 มี.ค. 2565 บรูซ วิลลิส นักแสดงแอคชั่นชื่อดัง ประกาศอำลาการแสดงอย่างเป็นทาง เนื่องจากป่วยเป็นโรค ‘aphasia’ (ภาวะบกพร่องทางการสื่อความ )

หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักโรคนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ พบแพทย์ ระบุว่า Aphasia (อะฟาเซีย) หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อความ เป็นความผิดปกติทางการสื่อสาร ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับความเสียหายจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ และอาจมีปัญหาทางด้านการอ่านและการเขียนร่วมด้วย

ภาวะดังกล่าวมีอยู่หลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ แบบบกพร่องด้านความเข้าใจ แบบบกพร่องด้านการพูด แบบบกพร่องในการพูดทวนซ้ำ แบบบกพร่องทั้งด้านการพูดและการทำความเข้าใจ ซึ่งในแต่ละรูปแบบจะมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากรักษาที่สาเหตุแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการแก้ไขภาวะนี้ด้วยการบำบัดฟื้นฟู การใช้ภาษาและการสื่อสารร่วมด้วย
สำหรับ สาเหตุของ Aphasia

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความเป็นผลมาจากการที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย ทำให้การลำเลียงเลือดเข้าสู่ในบริเวณดังกล่าวถูกขัดขวางจนทำให้เนื้อสมองตายในที่สุด ซึ่งภาวะ Aphasia อาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหันหลังเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะสมองขาดเลือด การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือการเข้ารับการผ่าตัดสมอง นอกจากนี้ ในบางรายอาการอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยสาเหตุอาจมาจากเนื้องอก การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท หรือภาวะเสื่อมถอยของสมองอย่างโรคสมองเสื่อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาวะ Aphasia มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกมากที่สุด สำหรับภาวะ Aphasia แบบชั่วคราวมักมีสาเหตุมาจากอาการไมเกรน อาการชัก หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต

ส่วนแนวทางการรักษา Aphasia

แพทย์จะรักษาภาวะ Aphasia ด้วยวิธีการบำบัดทางการพูดและภาษาเป็นหลัก เพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษาและเสริมทักษะการสื่อสาร โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสุขภาพทั่วไป ระดับความผิดปกติของการใช้ภาษา และทักษะทางสังคมก่อนเข้ารับการบำบัดจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

การบำบัดดังกล่าวมีทั้งการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ การทำกลุ่มบำบัด และการทำครอบครัวบำบัด โดยในขั้นตอนของการบำบัด แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะฝึกหรือทบทวนการใช้คำ ใช้ประโยคที่ถูกต้อง การพูดทวน และการถามตอบที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้คำศัพท์และเสียงของคำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร เข้าร่วมบทสนทนา สื่อสารได้เมื่อถึงเวลาของตนเอง เข้าใจในข้อผิดพลาดทางการใช้คำและแก้ไขบทสนทนาที่ผิดพลาดนั้นได้
โดยทั่วไป อาการของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ได้ผลดีขึ้นหลังทำการบำบัดติดต่อกัน แต่บางรายอาจใช้เวลานานกว่าปกติในการบำบัด โดยจากการศึกษาพบว่าการบำบัดจะได้ผลที่ดีที่สุดเมื่อเริ่มทันทีหลังจากที่ร่างกายและสมองเริ่มฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บจนอยู่ในอาการที่ปลอดภัย

การป้องกัน Aphasia

การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Aphasia สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมองและดูแลสุขภาพของสมองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ งดการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

อ่านข้อมูลฉบับเต็มที่ PODPAD

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยืนยัน! โรคสมองเสื่อมของ 'บรูซ วิลลิส' ไม่มีทางรักษา

เมื่อปีที่แล้วมีข่าวการยุติอาชีพนักแสดงของ บรูซ วิลลิส ปรากฏออกมา สืบเนื่องจากอาการป่วย เขาได้รับการวินิจฉัยในเวลานั้นว่าเป็นความพิการทางสมอง (Aphasia) โรคที่นำไปสู่ความผิดปกติของการ