'หมอจุฬาฯ' แนะยาความดันบ้านๆ ลดสมองเสื่อมได้

6 มี.ค. 2566 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สว. ยาความดันบ้านๆ ลดสมองเสื่อมได้

เราทราบกัน มานานแล้วว่าความดันสูงเป็นสาเหตุหนึ่งที่โน้มนำทำให้เกิด สมองเสื่อมได้เร็วและเมื่อเป็นไปแล้วจะรุนแรง ขึ้นเรื่อย ๆ

ในเวลาที่ผ่านมา การควบคุมความดัน ให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะไม่สูงไป ในขณะเดียวกันต้องไม่ต่ำเกินไป โดยในคนสูงอายุนั้น ระดับ ตัวบน 130-140 กว่าหน่อยๆ ก็เป็นระดับที่พอเหมาะแล้ว (อาจจะไม่ถึงกับ 120 ตามSPRINT trial ของฝรั่ง) เพราะคนไข้มากหลายต่างรู้สึกเพลียล้า หมดแรง ทำอะไรนิด อะไรหน่อย ก็ไม่ไหวแล้ว ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขความดันออกสวยงาม

ในขณะเดียวกัน การใช้ยา ไม่ควรทำให้ความดันผันผวนมาก โดยสังเกตง่ายๆ ว่า ถ้านอนแล้วลุกขึ้นนั่ง หรือนั่งแล้วลุกขึ้นยืน มีอาการหน้ามืด หรือ แม้ไม่มีหน้ามืดก็ตาม แต่เมื่อวัดความดันแล้วความดันตัวบนตกลงกว่าเดิม 15 ถึง 20 แสดงว่ามีความจำเป็นที่ต้องปรับขนาดยาหรือระยะเวลาที่กินยาใหม่บ้าง ให้ความดันไม่ตกพรวดพราด ปะเหมาะเคราะห์ไม่ดี หกล้ม กระดูกหัก หัวฟาด ต้องเข้าโรงพยาบาล ผ่าตัดไปอีก

ในระยะประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา มีการคำนึงถึงชนิดของยาความดันตามกลุ่ม ตามประเภท และชนิดต่างๆ ที่น่าจะให้ผลดีเป็นทวีคูณ นอกจากที่จะลดความดันเฉยๆ และโดยหวังว่าจะสามารถป้องกันการเกิดสมองเสื่อมได้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการที่เส้นเลือดฝอยเล็กๆอุดตันทั่วไป (vascular dementia) หรือสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นจากอัลไซเมอร์

การศึกษาตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา เริ่มเห็นว่า ยาความดันที่ออกฤทธิ์กระตุ้น ตัวรับ angiotensin II (AT II) ชนิดที่ 2 และ 4 มีแนวโน้มในการลดสมองเสื่อมได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาที่ว่า กลุ่มที่ทำการศึกษาจะมีความดันสูงอยู่แล้ว และมีจำนวนของผู้เข้าการศึกษาไม่มากพอที่จะได้ข้อสรุปชัดเจน แต่หนักแน่นพอทีควรจะต้องทำการศึกษาต่อ

รายงานในวารสารของสมาคมแพทย์อเมริกัน JAMA network open ในวันที่ 4 มกราคม 2023 ยืนยันประโยชน์ของยาความดันประเภทนี้

ทั้งนี้ โดยรวมกลุ่มผู้ที่อยู่ในประกัน Medicare จำนวน 57,773 ราย ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและได้รับการวินิจฉัยใหม่เอี่ยมว่า มีความดันโลหิตสูง ทั้งนี้อายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 73.8 ปี โดย 62.9% เป็นสตรี และ 86.9% เป็นคนขาว จากนั้น ทำการเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้ยาความดันประเภทต่างกัน

กลุ่มที่กระตุ้นตัวรับ ATII เป็นจำนวน 4,879 ราย กลุ่มที่ยับยั้ง ATII จำนวน 10,303 ราย และที่เหลือได้รับผสมปนเปกัน หรือได้รับประเภทอื่น

จากบัญชีรายชื่อยา ในรายงานนี้ สำหรับยาที่กระตุ้น ATII นั้น ได้แก่ amlodipine azilsartan bendroflumethiazide candesartan chlorothiazide chlorthalidone eprosartan felodipine hydrochlorothiazide hydroflumethiazide indapamide irbesartan isradipine losartan methyclothiazide nicardipine nifedipine nimodipine nisoldipine olmesartan polythiazide telmisartan trichlormethiazide valsartan

กลุ่มที่ยับยั้งได้แก่ acebutolol atenolol benazepril bepridil betaxolol bisoprolol captopril carteolo carvedio diltiazem enalapril fosinopril labetalol lisinopril metoprolol mibefradil moexipril nadolol nebivolol penbutolol perindopril pindolol propranolol quinapril ramipril sotalol timolol trandolapril verapamil verapamil

ทั้งนี้ในการวิเคราะห์ ได้ปรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางหัวใจและเส้นเลือดรวมกระทั่งถึงสภาพสถานะ การใช้ชีวิต และ เศรษฐานะต่างๆ

ผลหลังจากการติดตามเจ็ดปี ปรากฏว่า กลุ่มที่ใช้ยากระตุ้นจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ลดลง 16% ในขณะที่กลุ่มที่ใช้ผสมปนเปกัน ก็ยังสามารถลดความเสี่ยงได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยายับยั้ง

สำหรับสมองเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยตีบตัน กลุ่มใช้ยากระตุ้น จะลดความเสี่ยงได้ดีกว่าถึง 18% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยายับยั้ง และกลุ่มที่ใช้ผสมปนกันก็ลดความเสี่ยงได้เช่นกันแม้ว่าจะน้อยกว่า

ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถระบุกลไกชัดเจนที่จะอธิบายถึงประโยชน์เหล่านี้ได้ ทั้งนี้จะเกี่ยวเนื่องจากการที่ปรับเลือดที่ไปเลี้ยงสมองได้พอเหมาะขึ้น รวมกระทั่งการที่สามารถขจัดโปรตีนที่เป็นพิษต่อสมองได้หรือไม่

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับยาความดันในกลุ่มที่ยับยั้ง ยังไม่ถึงกับต้องปรับเปลี่ยนยาทันทีทันใด แต่ถ้าเป็นไปได้อาจจะค่อยๆ เลือกชนิดของยาตามเป้าประสงค์

ประการที่สำคัญ สำหรับคนไทยโดยทั่วไปก็คือ เมื่อดูรายชื่อยาที่อยู่ในกลุ่มกระตุ้น จะพบว่ายาหลายชนิดหมดสิทธิบัตรแล้วสามารถใช้ได้โดยไม่ลำบากและราคาถูกจับต้องและเข้าถึงได้ทั่วทุกคน

จะเห็นได้ว่า การรักษาสุขภาพนั้น ต้องเป็นทั่วทุกระบบของร่างกาย จะเอาแต่หัวใจ หัวสมอง โดยไม่สนใจระบบอวัยวะอื่นไม่ได้ อีกทั้ง ยังต้องรวมการออกกำลังสม่ำเสมอ ถ้าออกไม่ไหวแบบรุนแรงขั้นคาร์ดิโอ แบบหนุ่มสาว ก็ออกแบบก้าวเดิน ยาวๆ วันละเข้าใกล้ 10,000 ก้าว ตากแดด ตอนไหน ก็ได้ และอาหารสุขภาพ เข้าใกล้ มังสวิรัติ หนักผัก ผลไม้ พริกหวาน พริกขี้หนู ปลอดสาร ถั่วได้เยอะ เนื้อสัตว์น้อย ปลามาก แป้งน้อย ลดขนม ของหวาน กิจกรรมเสริมสมอง ไม่เอาแต่นั่งทอดหุ่ย ดูทีวี หลับคาจอ สุดท้าย ดื่มน้ำมากๆ ไม่ใช่กลัวปวดท้องฉี่ เพราะดื่มน้ำมาก จะไปฝึกกระเพาะฉี่ และหูรูด และระบบกลั้น เบ่ง ให้เข้าที่ และทำให้ท้องไม่ผูกอีกต่างหาก เพื่อชีวิตที่ดี ลงทุนบ้าง ถึงเวลานั้น ไปสบายไม่เป็นภาระคนอื่น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' ประกาศลาออกจาก หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

เช็กเงื่อนไข 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ รับเดือนละ 3 พัน

'รองโฆษกรัฐบาล' เผยเงื่อนไขคุณสมบัติ 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 3 พันบาท เริ่มยื่นเรื่องได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.

รัฐบาล เน้นย้ำความปลอดภัยเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า ช่วงสงกรานต์ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขึ้นฟรี

รัฐบาล เน้นย้ำ ความปลอดภัยเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย ให้ ปชช.เดินทางสะดวกและปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ เปิดบริการให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขึ้นรถไฟฟ้า MRT ฟรี ระหว่าง 13 – 15 เมษายน

'กลุ่มผู้สูงวัย' จี้ 'วราวุธ' เพิ่มเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้าในปีนี้ จ่อบุกทำเนียบฯหลังสงกรานต์

กลุ่มเครือข่ายผู้สูงอายุประมาณ 35 คน นำโดย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยได้มีการชูป้ายเรียกร้องให้รัฐเห็นความสำคัญของการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ

'ผู้สูงวัย' นัดรวมตัวบุก พม. ทวงถามเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้า

ศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เพื่อทวงถามถึงมติเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567

รัฐบาล เร่งสร้างความตระหนักรู้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง