ไฟเขียวปรับเอกสารรับรอง 'วัคซีนโควิด' รวมกับวัคซีนอื่นเป็นฉบับเดียว เพิ่มความสะดวกการเดินทาง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติต่อต้านวัณโรคระยะที่ 2 ลดอุบัติการณ์วัณโรคให้เหลือ 89 ต่อแสนประชากร ในปี 2570 เตรียมออกร่างประกาศฯ ปรับเอกสารรับรองวัคซีน “โควิด” รวมกับวัคซีนอื่นเป็นฉบับเดียวเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ส่วนสถานการณ์โควิดดีขึ้น ย้ำกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนคู่สู้หน้าฝน

วันนี้ (6 กรกฎาคม 2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 4/2566 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้ 1.แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศไทย ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค ภายในปี 2578 (ค.ศ. 2035) ซึ่งแผนปฏิบัติการฉบับนี้มีเป้าหมายหลัก ลดอุบัติการณ์ของวัณโรคลงจาก 143 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2564 ให้เหลือ 89 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2570 2.ร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพิ่มเติมผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐ ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 จังหวัดตาก ได้แก่ ผู้แทนจากสาธารณสุขอำเภอแม่สอด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านวังตะเคียน เพื่อให้การปฏิบัติงานที่ด่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับจำนวนผู้เดินทางที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

3.ร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตามความในมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ฉบับเอกสารรับรองกรณีโรคโควิด 19 ซึ่งแยกเป็นเล่มเฉพาะโควิด 19 และปรับเป็นเอกสารฉบับรวม เพื่อความสะดวกของประชาชนผู้เดินทางระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่ประเทศปลายทางกำหนด เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น วัคซีนอหิวาตกโรค วัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึงวัคซีนโควิด 19 จะได้ถือเอกสารเพียงฉบับเดียว โดยมีหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมควบคุมโรค เช่น โรงพยาบาลรัฐ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้ออกหนังสือให้

และ 4.การบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความต้องการวัคซีนและความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและความคุ้มค่า ให้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับกลุ่มเป้าหมายในปี 2567 โดยสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาถือว่าดีขึ้นมาก จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล และผู้เสียชีวิต ลดน้อยลงมาก ส่วนการระบาดเป็นกลุ่มก้อนลดลงเช่นกัน แต่ที่น่าห่วงคือ ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดยังคงเป็นกลุ่ม 607 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีด 2 เข็มนานแล้วและไม่ได้รับเข็มกระตุ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรค เรื้อรัง 7 กลุ่ม เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฤดูฝนนี้ เพื่อลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต

สำหรับโรคไข้เลือดออก พบการระบาดในหลายพื้นที่ตั้งแต่ต้นฤดูฝน ได้สื่อสารให้ทุกจังหวัดเร่งรัดกิจกรรมการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เช่น กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ควบคุมยุงลายในพื้นที่ระบาด และให้ความรู้เรื่องอาการป่วย เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต โดยมี อสม.เป็นกำลังสำคัญในหมู่บ้าน ช่วยสอดส่องดูแล แนะนำชาวบ้านให้ร่วมมือกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำในบ้านเรือน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน และสถานที่สาธารณะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' การันตี ภท. ไม่ปรับ ครม. ชี้ 8 รมต. ทำงานคืบหน้า

'อนุทิน' ย้ำรัฐมนตรีภูมิใจไทย 8 คน ไม่มีขยับ ชี้ทุกคนทำงานเต็มที่ผลักดันนโยบายคืบหน้าตลอด นายกฯ ยังไม่ส่งสัญญาณปรับ ครม. พร้อมอุ้ม 'เกรียง' มอบ พช. ดูแลเพิ่มอีกกรม