'หมอยง' แจงโรค 'RSV' ความจริง 10 เรื่องที่ควรรู้

14 มี.ค. 2568 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า RSV ความจริงที่ควรรู้

ข้อควรรู้สำหรับ RSV เมื่อทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ จะมีการออกข่าวทางสื่อสังคม เพื่อเข้าทางของผลิตภัณฑ์

1.RSV ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย

2.เป็นไวรัสที่เป็นแล้วเป็นอีกได้ หรือเป็นได้ทุกปี เช่นเดียวกับโควิด 19

3.การเป็นครั้งแรกอาการจะรุนแรง และเมื่อเป็นครั้งต่อๆ ไปความรุนแรงจะลดลง จนกระทั่งแทบจะไม่มีอาการอะไร ยกเว้นร่างกายอ่อนแอมีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุ

4.ฤดูกาลที่เป็น ในประเทศไทยฤดูกาล จะพบอยู่ช่วง 5 เดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นในช่วงเวลาขณะนี้ จึงเป็นช่วงที่ปลอดการติดเชื้อ RSV

5.ถึงแม้ว่า RSV จะมี 2 สายพันธุ์ใหญ่ คือ A และ B แต่ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดียวกันหรือต่างสายพันธุ์

6.ถึงแม้ว่าไวรัสนี้จะเป็นไวรัสที่สำคัญ มีการพัฒนาวัคซีนมาร่วม 50 ปี เพื่อให้ในเด็ก แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ การศึกษาในครั้งแรกๆ พบว่าเด็กที่ฉีดวัคซีน เคยมีเป็นอันตรายจึงต้องล้มเลิกไป ปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะพัฒนาวัคซีน แต่ก็ยังไม่สำเร็จที่จะให้เด็กได้ มีให้ในผู้สูงอายุ แต่มีราคาแพงมาก และประสิทธิภาพของ vaccine ส่วนใหญ่ ในการศึกษาทางคลินิก จะมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เกือบทุกวัคซีน เมื่อมาใช้ในชีวิตจริง ส่วนใหญ่ประสิทธิภาพจะลดลงอย่างน้อย 10% จากการศึกษาทางคลินิก

7.มีการพัฒนาวัคซีนเพื่อให้ในคนท้อง เพื่อให้ภูมิต้านทานส่งผ่านมาปกป้องลูกน้อย แต่ที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือการคลอดก่อนกำหนด จนทำให้วัคซีนบริษัทหนึ่งต้องหยุดการทดลองไป แต่ก็ยังมีวัคซีนที่ผ่านการทดลอง ถึงเอาใช้จริงแล้ว ก็ยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะเรื่องการคลอดก่อนกำหนด

8.มารดาทุกคน มีภูมิต้านทานแล้วในระดับสูง และภูมิต้านทานจะส่งต่อมายังปกป้องลูกน้อย แต่ภูมิต้านทานที่ปกป้องลูกน้อยจะอยู่ประมาณ 6 เดือนแรก เด็กแรกเกิดที่ครบกำหนด จะพบว่าภูมิต้านทานต่อ RSV ของลูก จะสูงกว่าแม่ประมาณ 1.1 เท่า ปัญหาของภูมิต้านทานในเด็กเล็ก จะมีปัญหาในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ภูมิจากแม่จะส่งผ่านมาได้น้อยตามอายุครรภ์ และจะได้เต็มที่เมื่อคลอดครบกำหนด การให้ภูมิต้านทานเสริมในทารก อาจมีความจำเป็นในทารกที่คลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะที่คลอดในช่วงของฤดูกาลของ RSV ( เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน) และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวที่เมื่อเป็นแล้วจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น

9.ปัจจุบันมีเซรุ่ม หรือภูมิต้านทานสำเร็จ ชนิดปกติและชนิด ที่อยู่ยาว ถ้าเป็นชนิดปกติต้องฉีดทุกเดือนเดือนละ 1 ครั้งในฤดูกาล ในช่วง 5 เดือน แต่ที่มีฤทธิ์ยาวจะอยู่ได้นานประมาณ 5 เดือน เพื่อครอบคลุมฤดูกาลของโรคในปีนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่า ราคาของภูมิคุ้มกันดังกล่าว มีราคาแพงมากๆ เช่นเดียวกันกับที่เราเคยใช้ภูมิคุ้มกันระยะยาวที่ใช้ในการป้องกันโควิด 19 ที่มีราคาแพงมากๆ ครั้งหนึ่งที่เราเคยนำมาใช้ และในที่สุดก็เลิกกันไป การนำมาใช้ควรใช้ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะเป็นโรคแล้วรุนแรงเท่านั้น และควรศึกษาความคุ้มทุน และคุ้มค่า

10.ทุกครั้งเมื่อมีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นยาหรือวัคซีน จะมีการประชาสัมพันธ์ทางสื่อสังคม ทำให้โรคดูน่ากลัวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลการศึกษาส่วนใหญ่ยังเป็นข้อมูลการศึกษาจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว การศึกษาในประเทศไทย อย่างละเอียด ทั้งทางด้านระบาดวิทยา ความรุนแรงของโรค กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญที่ควรจะได้รับ และความคุ้มทุน ในการใช้ มีความจำเป็น ส่วนใหญ่ขณะนี้การพูดถึงแนวทางการให้ จะเป็นการลอกมาจากทางตะวันตกหรือประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น โดยไม่ได้ใช้ข้อมูลของประเทศเลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' แนะผู้ปกครองเตรียมลูกหลาน รับมือ 6 โรคทางเดินหายใจ ก่อนเปิดเทอม

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การเตรียมลูกไปโรงเรียน ก่อนเปิดเทอม"

'หมอยง' ไขข้อโต้แย้ง 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' กับ Hippocratic Oath

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ข้อโต้แย้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับ Hippocratic Oath

'หมอยง' แจงการระบาด 'โควิด' ช่วงเทศกาลสงกรานต์

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 การระบาดในช่วงสงกรานต์