'Living with Water' สถานีเรียนรู้รับมือกับภัยพิบัติทางน้ำ จากงานดีไซน์ของ น.ศ. สู่การก่อสร้างจริง

ภาพความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย อันเป็นผลมาจากพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พี่น้องประชาชนทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางตอนบน ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามตัวโตต่อมาตรการรับมือน้ำท่วมของภาครัฐอีกครั้ง

ไม่เพียงแต่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส หากแต่ภาพความเสียหายได้ทำให้คนกรุงเทพมหานคร (กทม.) หวาดผวา และหวนคืนความทรงจำอันเลวร้ายจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554

ท่ามกลางความรู้สึกไม่มั่นใจ ประชาชนจำนวนมากได้ลุกขึ้นมาสร้างระบบเฝ้าระวัง ตลอดจนสร้างนวัตกรรมในการอยู่ร่วมกับน้ำ หรือ “Living with Water” ด้วยตนเอง

หนึ่งในนั้นคือ “Am (phi) bious” ผลงานรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดแบบสถานีเรียนรู้การรับมือกับภัยพิบัติทางน้ำ ภายใต้โครงการ “Save Ubon” โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งขณะนี้กำลังจะถูกก่อสร้างและติดตั้งจริงในโรงเรียนบ้านหนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

โรงเรียนบ้านหนองกินเพล ถือเป็น “โมเดลต้นแบบ” ของการปรับตัวอยู่ร่วมกับน้ำที่พื้นที่อื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามบริบทของตัวเอง โดยโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษา หากไม่มีสถานการณ์น้ำท่วม พื้นที่ของโรงเรียนจะถูกใช้ไปเพื่อให้เด็กๆ ทำกิจกรรม

อย่างไรก็ดี นายธนบดี ธนะทักษ์ และ นายนราชิต โครตพรหม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองเห็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ในโรงเรียนเพื่อรับมือกับน้ำท่วม จึงได้ร่วมกันออกแบบสิ่งปลูกสร้างใหม่ขึ้นมา ในลักษณะ “อาคารลอยน้ำ” ซึ่งผู้คน 20-30 ชีวิต สามารถเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน มีทั้งแปลงผัก อาหาร และน้ำสะอาดเพียงพอต่อการอยู่อาศัยในระยะยาว

อาคารดังกล่าว ยังมีโซนห้องทำกิจกรรมสำหรับให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงข้อมูล และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหมาะสมเมื่อเกิดอุทกภัยอีกด้วย

นายธนบดี เล่าว่า รูปแบบของงานสถาปัตยกรรมได้ถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่น โดยรูปแบบการลอยน้ำของอาคารจะเหมือนกับแพที่มีถังน้ำมันอยู่ข้างล่าง ตัวอาคารเป็นระบบโมดูลาร์ทำให้สัดส่วนและขนาดของงานสถาปัตยกรรมมีความง่ายในการจัดการ และสามารถใช้วัสดุขนาดมาตรฐานที่หาซื้อได้ทั่วไป เพื่อลดปริมาณของวัสดุและลดค่าใช้จ่ายในเรื่องวัสดุลง ทำให้ต้นทุนของงานไม่บานปลายและเพิ่มความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง

“น้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต เราจึงออกแบบระบบเพื่อแยกน้ำสำหรับดื่มออกจากน้ำสำหรับใช้ทั่วไป และมีพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวที่ไม่ต้องนำไปแปรรูปหรือปรุงแต่ง เมื่อเกิดน้ำท่วมก็สามารถนำพืชผักส่วนนี้มาดำรงชีวิตได้เลย โดยความจุในการรองรับคนเพื่อมาพักพิงขณะเกิดน้ำท่วมอยู่ที่ประมาณ 20-30 คน” นายธนบดี ระบุ

แน่นอนว่า ผลงาน “Am (phi) bious” ได้รับความสนใจ และได้รับการต่อยอดเพื่อให้เกิดการก่อสร้างจริง แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดเพียง 2 แสนบาท ทำให้ในการก่อสร้าง ต้องปรับลดขนาดลงกว่าครึ่ง เปลี่ยนโครงสร้างบางส่วน จากแบบเดิมที่พักได้ 20-30 คน จึงเหลือแค่ประมาณ 10 คน 

“โชคดีที่ตอนออกแบบครั้งแรกใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นขนาดที่สั่งทำพิเศษ จึงไม่ต้องปรับลดอะไรมากนัก หลังสร้างเสร็จอาคารนี้จะถูกตั้งไว้บริเวณหน้าโรงเรียน ขณะสถานการณ์ปกติจะเป็นจุดนัดรับเด็กนักเรียนกับผู้ปกครองได้” นายธนบดี อธิบาย

นักศึกษา มธ. รายนี้ เล่าอีกว่า ได้นำความรู้ที่เรียนจากมหาวิทยาลัยทั้งหมดมาใช้ในการออกแบบ แต่เมื่อมาเจอหน้างานจริงก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยต้องสอดคล้องและยึดประโยชน์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก ซึ่งในกระบวนการการก่อสร้างนั้น อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ได้เข้ามาช่วยดูเรื่องวัสดุโครงสร้างเพื่อทำให้ราคาถูกลง 

สำหรับการก่อสร้างสถานีเรียนรู้การรับมือกับภัยพิบัติทางน้ำ “Am (phi) bious” ขณะนี้พูดคุยกับผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้ว และมีการประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ช่วยดูแลเรื่องการก่อสร้างด้วย เพราะอยู่ใกล้พื้นที่การก่อสร้างจริง โดยคาดว่าจะสร้างเสร็จก่อนสิ้นปีนี้  

“นี่เป็นงานการออกแบบชิ้นแรกที่รับรางวัลและได้สร้างจริงๆ แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ออกแบบแค่ในชั้นเรียน โดยปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นถือเป็นประสบการณ์สำคัญมากๆ ส่วนตัวรู้สึกสนุกและมีความสุขที่ได้ออกแบบ และยืนยันที่จะสร้างผลงานชิ้นใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไปอย่างแน่นอน” นักศึกษารายนี้ ระบุ.

ธนบดี ธนะทักษ์
นราชิต โครตพรหม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ อย. จัด e-Consult ช่วยผู้ประกอบการ

รัฐเร่งผลักดันงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ อย. จัด e-Consult พร้อมระบบสนับสนุนผู้ประกอบการ นักวิจัย ออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสุขภาพสู่ท้องตลาดเร็วขึ้น

ครั้งแรก! APCO สร้างชีวิตใหม่ให้ผู้ Bye Bye HIV เข้าทำงานที่ปรึกษาใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดจากพืช

ครั้งแรกของโลก! บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO ผู้นำนวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัดจากสารสกัดพืชธรรมชาติของไทย และทีมนักวิจัย Operation BIM ก้าวไปอีกขั้น

'บิ๊กตู่' ชื่นชม ศึกษาธิการ รากฐานสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

นายกฯ ชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และ coding เป็นรูปธรรม วางรากฐานสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี นำประเทศไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาการคำนวณ การออกแบบเทคโนโลยี พัฒนาศักย

วช.จับมือโซเชียลแล็บ ถอดบทเรียน 3 งานวิจัยพัฒนาผู้สูงวัย มีนวัตกรรมพร้อมใช้

วช.จับมือ โซเชียล แล็บ รับมือสังคมอายุยืน ถอดบทเรียน 3 สุดยอดงานวิจัย โชว์นวัตกรรมพร้อมใช้เพื่อขยายผลสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

ไทยเจ๋ง! มข. เปิดตัวแบตเตอรี่จากแร่เกลือหิน 'โซเดียมไอออน' ครั้งแรกในอาเซียน

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ดร.ธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้แทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมเปิดตัวแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแร่เกลือหินในประเทศไทย