มนุษย์ 'ชาวเกาะ' กับ 'สำนึกและความรับผิดชอบ'


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันครอบครัวมีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมไทย เพราะครอบครัวหมายถึง การอยู่ร่วมกันของกลุ่มบุคคลที่เป็นสมาชิก ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ผูกพันกัน และมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน เด็กๆ เราได้รับการเลี้ยงดูอบรมส่งเสียให้เล่าเรียนโดยบิดามารดา หรือบุคคลในครอบครัว เมื่อโตขึ้นต่างมีงานมีการทำ ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ต่างก็แยกย้ายไปมีครอบครัวของตัวเอง คนไหนไปไม่รอดก็กลับมาพึ่งบิดามารดา กลายเป็นภาระให้ท่านในวัยเกษียณ คนไหนประสบความสำเร็จก็ช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวตามอัตภาพ ทุกครอบครัวที่ไม่ได้มีสมบัติหรือมรดกตกทอดคงต้องเจอกับสมาชิกในครอบครัวที่เอาตัวไม่รอดแล้วกลับมาเป็นภาระให้ครอบครัว ซึ่งบางครั้งไม่ได้กลับมาเดี่ยว มีลูกมีหลานหรือคู่ชีวิตที่ไม่เอาไหนเหมือนกันมาเพิ่มภาระให้อีก แต่ละครอบครัวจึงต้องมีผู้ที่ต้องแบกภาระดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและคุณธรรมในใจที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันหนักหน่วงที่ต้องดูแล “ชาวเกาะ” เหล่านี้

“ชาวเกาะ” บางคนก็มาเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และช่วยแบ่งเบาภาระหรืองานบ้านในครอบครัว อันนี้ถือว่าโชคดีทั้งสองฝ่าย แต่บางครอบครัวมาด้วยการเรียกร้อง อ้างถึงบุญคุณ และคิดว่านี่คือสิ่งตอบแทนที่คนในครอบครัวเดียวกันต้องรับผิดชอบ คนประเภทนี้มักจะงอมืองอเท้าและเรียกร้องฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจว่าผู้ที่แบกภาระจะเหนื่อยกายหรือหนักใจขนาดไหน เพราะตัวเองไม่ต้องดิ้นรนหาเงิน ที่น่าหนักใจกว่านั้นคือพวกรสนิยมสูงแต่รายได้ต่ำ หรือไม่มีรายได้เลยแต่อยากได้อยากมี เห็นใครมีอะไรต้องมีบ้าง หลายครอบครัวเจอปัญหาเหล่านี้จนเกิดสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก กลายเป็นภาระและหน้าที่จำยอมที่ต้องรับผิดชอบไปตลอดชีวิต เคยถามน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยทำงานร่วมกันว่า ทำไมหนูถึงไม่แต่งงานในเมื่อมีผู้ชายดีๆ มากมายมาจีบ น้องคนนี้ตอบว่าหนูต้องดูแลแม่ พี่สาวน้องสาว และส่งเสียหลานอีกสามคน เหมือนเป็นเสาหลักของครอบครัว ทั้งพี่สาวและน้องสาวตลอดจนหลานๆ พูดใส่หูทุกวันว่าจะแต่งงานเพื่อทิ้งพวกเขาไปสบายคนเดียว ในขณะเดียวกันชายหนุ่มที่มาจีบพอเห็นภาระครอบครัวที่หนูแบกรับอยู่ ให้รักยังไงก็คงมาทนแบกชาวเกาะเต็มบ้านแบบนี้ไม่ไหว และถ้าหนูทำตามหัวใจก็เหมือนกับเป็นคนเห็นแก่ตัว ซึ่งคนที่จะเสียใจที่สุดคือของแม่หนูเอง

บางคนมาปรับทุกข์ว่าการเป็นคนดีกับผลลัพธ์ที่ต้องแบกไปตลอดชีวิตมันดีตรงไหน คุ้มแล้วเหรอที่ต้องพาคนรักซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องมาแบกรับภาระนี้ร่วมกันในฐานะสมาชิกในครอบครัว เป็นปัญหาโลกแตกที่คนที่เป็นฝ่ายรับก็จะเรียกร้องตลอดเวลาและมากขึ้นๆ คนที่เป็นฝ่ายให้ หาเงินเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ บางครั้งมันก็ไม่ใช่ปัญหาเรื่องมูลค่าของเงิน แต่มันกระทบมาถึงบรรยากาศในครอบครัว ความสุขในชีวิตของคนสองคนที่ต้องมาแบกภาระจำยอมเพียงเพราะคำว่า “กตัญญู” และ “การตอบแทนบุญคุณ” และคนที่เป็นฝ่ายรับนานๆ เข้าก็จะเคยชินและไม่มีความเกรงใจหรือละอายใจ ในเมื่ออยู่เฉยๆ ก็มีกินมีใช้ พอลูกโตก็ให้ลูกรับภาระต่อ เรียกว่ายึดอาชีพ “ชาวเกาะ” ไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว

เศรษฐกิจที่ตกสะเก็ดแบบนี้คงมีชาวเกาะกันทุกบ้าน มากบ้างน้อยบ้าง หนักบ้างเบาบ้าง ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึก กรอบความคิด และความละอายใจของแต่ละคน เคยคุยเรื่องนี้กับเพื่อนรอบข้าง ไม่มีบ้านไหนเลยที่จะไม่มีปัญหาชาวเกาะ นอกจากบ้านที่ร่ำรวยและมีมรดกก็จะเจอปัญหาต่างกัน คือ การฟ้องร้องแย่งมรดก ซึ่งปัญหาแบบนี้เรื่องเงินเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร ทำให้ถึงขั้นตัดญาติขาดมิตรกันเลยทีเดียว ถ้าพระเจ้ามีจริงก็คงยุติธรรมพอที่จะสร้างโลกนี้ให้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือร่ำรวยล้นฟ้า ก็เจอปัญหาที่เกิดจากความไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ความอยากได้อยากมีที่ไม่รู้จักพอ และไม่รู้จักขวนขวายด้วยตนเอง ความขยันความอดทนที่มีไม่เท่ากัน และในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกและความรับผิดชอบของทั้งผู้ให้และผู้รับ ที่หากไม่มีความพอดีก็คงถึงจุดที่สิ้นสุดกันทั้งสองฝ่าย คำว่า “บุญคุณ” คงไม่มีความหมายอีกต่อไป.

จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์  ([email protected])


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"