โรงเรียนนอกกะลา


เพิ่มเพื่อน    


    เมื่อเดินเข้าสู่โรงเรียนนี้จะเห็นก้อนหินก้อนใหญ่ มีตัวหนังสือติดไว้ว่า ”ไม่มีก้อนหินใดโง่ โรงเรียนนอกกะลา” ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเบื้องหลังแนวความคิดนี้คืออะไร คำตอบจากคุณครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ก็คือ “หินแต่ละก้อนก็เป็นเพียงหินก้อนหนึ่ง ไม่ได้มีความฉลาดหรือความโง่ นกที่บินอยู่เราจะไม่เห็นว่านกตัวใดโง่ มันจะใช้ชีวิตอิสระตั้งแต่เกิดจนตาย แต่การศึกษาซึ่งเป็นเครื่องพัฒนาคนกลับทำให้มีคนเก่งจำนวนน้อยนิด ที่เหลือจะกลายเป็นคนปานกลางและโง่” การศึกษาในปัจจุบันจึงเหมือนโรงงานที่คัดแยกสินค้า เน้นการจำและความรู้เพื่อมาสอบแข่งขัน ผู้แพ้ถูกคัดออก และตีค่าความรู้จากใบประกาศนียบัตรมากกว่าความสำคัญของปัญญาภายใน การศึกษาในปัจจุบันจึงเหมือน “กะลา” ใบใหญ่ที่ยึดติดใน “ความรู้” ซึ่งเป็นเพียงแค่เปลือกของการศึกษา โรงเรียนนอกกะลาจึงเป็นโรงเรียนที่ไม่มีการสอน ไม่มีเสียงระฆัง ไม่มีดาวให้ผู้เรียน ไม่มีแบบเรียน ไม่มีครูอบรมหน้าเสาธง ไม่มีการจัดลำดับความสามารถของผู้เรียน เป็นโรงเรียนที่ครูสอนด้วยเสียงเบาที่สุด และพ่อแม่ต้องมาเรียนกับลูก เป็นโรงเรียนที่ทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนไปถึงทั้ง “ปัญญา” ภายนอกและภายใน
    โรงเรียนนอกกะลาเป็นโรงเรียนที่มีแนวคิดที่ว่า การเรียนรู้ต้องไม่จำกัดแค่ในโรงเรียนหรือห้องเรียน ต้องเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เน้นทักษะกระบวนการเรียนรู้และทักษะการคิดมากกว่าความรู้ เน้นการทำงานเป็นทีมและการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายบนความต่าง ครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ นักเรียนเป็นผู้เลือกสิ่งที่อยากเรียน เน้นที่การจัดการความรู้ร่วมกัน โดยใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า “จิตศึกษา” ในการทำให้ผู้เรียนไปถึง “ปัญญาภายใน” ได้แก่ การมีจิตใหญ่เพื่อรักได้อย่างมหาศาล การเคารพคุณค่าตัวเองและคนอื่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างภราดรภาพ การมีสติชำนาญเพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ การมีสมาธิเพื่อกำกับความเพียรให้สำเร็จ การมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น “จิตศึกษา” เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะทำให้ผู้เรียนได้ใช้พลังงานด้านในเพื่อแสวงหาความเข้าใจแห่งตนและความหมายของการดำรงอยู่ด้วยการดำเนินการ 3 กระบวนทัศน์ ได้แก่ การสร้างชุมชนที่มีสนามพลังด้านบวก การใช้จิตวิทยาเชิงบวก และการใช้กิจกรรมจิตศึกษา โดยใช้แนวทางการบูรณาการการสอนแบบ PBL (Problem Based Learning) ซึ่งเติมเต็มเรื่องการเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน พร้อมกับการลงมือปฏิบัติจนเกิดทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตจริงๆ การเรียนรู้อย่างอิสระเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนได้เลือกในสิ่งที่ตนสนใจและคิดว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตนเอง รวมทั้งได้การออกแบบการเรียนรู้ว่าตนอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไร โดยมีครูเป็นผู้มีบทบาทช่วยสนับสนุนให้เด็กได้แก้ปัญหาเหล่านั้นและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีการสอบปลายภาค แต่จะให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการประเมินการเรียนรู้ของตนเองโดยการ reflection คือ การพินิจอย่างใคร่ครวญและรับฟังเสียงสะท้อนจากครูและเพื่อนๆ ด้วยความเมตตา ซึ่งก่อให้เกิดการประเมินและการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ถูกวัดไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นการวัดความเข้าใจและทักษะที่เด็กแสดงออกมา แค่ได้ไปสังเกตการเรียนการสอน ได้เห็นผลงานของเด็กๆ ที่สรุปเป็น mind map ก็คงไม่ต้องถามหาวิธีประเมินผล เพราะขนาดเด็กอนุบาลยังสามารถสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปในแต่ละสัปดาห์เป็น mind map ได้อย่างชัดเจน โรงเรียนนอกกะลาแห่งนี้มีชื่อว่า “โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา” สนใจแวะไปศึกษาดูงานกันได้ ท่านจะพบกับโรงเรียนในฝัน และเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง.

                จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์                         

             ([email protected])
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"