การเมืองมึนคำสั่งคลายล็อก


เพิ่มเพื่อน    

  พรรคการเมืองมึน คำสั่งคลายล็อกยังต้องตีความ อ้างไม่ชัดทำอะไรได้แค่ไหน ขณะที่ศึกใน ปชป. แบ่งขั้วเก่า-ใหม่ ดิสเครดิตกุข่าวส่งนอมินีฮุบพรรค ด้าน “มาร์ค” ปรับทัพสู้ศึกเลือกตั้ง ผุดทีมประชาสัมพันธ์นโยบายในโลกออนไลน์ พร้อมปัดเปล่ารังเกียจทหาร  "หมอวรรณรัตน์" สยบข่าว ชาติพัฒนายันไม่ไปสามมิตร

    เมื่อวันที่ 15 ก.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งคลายล็อกทางการเมืองบางส่วนว่า เป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย เพื่อให้พรรคการเมืองเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ จะประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช ภายในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 11.30 น. เพื่อเสนอร่างแก้ไขข้อบังคับพรรคและการรับสมาชิกพรรค ซึ่งเราเชื่อว่าภายในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่น่าจะเป็นปัญหา อีกทั้งเราจะพิจารณาการจัดประชุมใหญ่ของพรรค ซึ่งตั้งใจว่าจะให้มีขึ้นในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เราจะรีบส่งเรื่องแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทันทีเพื่อขอจัดประชุมใหญ่ตามแผนที่เราวางไว้ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา สำหรับการเปิดรับสมาชิกพรรคนั้น ถ้าพรรคได้จัดประชุมใหญ่ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ เราอยากจะรีบเปิดรับสมัครสมาชิกตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.นี้ แต่ต้องรอทาง กกต.แจ้งว่าจะเห็นชอบหรือไม่ 
    ขณะเดียวกันดูเหมือนว่ายังติดปัญหาหลายอย่าง อาทิ กรณีที่เราจะเปิดรับสมาชิกพรรคผ่านระบบออนไลน์ แต่ติดขัดที่ระเบียบของ กกต.กำหนดว่าต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนในการสมัคร ซึ่งเรื่องนี้ กกต.ยังไม่ตอบข้อสงสัยของเราว่าจะแก้ไขตรงนี้ได้หรือไม่ เราจึงเผื่อเวลาว่าจะเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคได้ในเดือน ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ถ้า คสช.ปลดล็อกการเมืองในคราวเดียว ทุกอย่างเดินหน้าเต็มที่และมีความชัดเจน ทำงานง่าย และการดำเนินงานต่างๆ จะเกิดความรวดเร็วมากขึ้น
    "อย่างการใช้โซเชียลมีเดียรับสมัครสมาชิกพรรค มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่เป็นการหาเสียง แต่ตรงนี้ยังไม่ชัดเจนว่าลักษณะใดที่เข้าข่ายการหาเสียง เพราะต้องมีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จะเกิดการโต้แย้งว่าการโน้มน้าวใจผิดหรือไม่ แต่ผมนับการหาเสียงคือการเลือกตั้งใหญ่ แม้จะมีการหาเสียง ก็ไม่เห็นว่าจะส่งกระทบต่อความสงบเรียบร้อย หากทุกพรรคทำทุกอย่างได้เหมือนกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ก็ไม่น่าจะมีปัญหา”
    นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการเสนอชื่อบุคคลต่างๆ เพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหา เพราะเชื่อในการแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตย จะต้องสร้างสรรค์ในบรรยากาศของการพูดคุย ซึ่งพรรคพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนอยู่แล้ว หากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ ตนคาดว่าหากสามารถเปิดรับสมัครผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และทำการหยั่งเสียงสมาชิกได้ในเดือน ต.ค. ก็จะได้เห็นความชัดเจนในตำแหน่งหัวหน้าพรรคภายในไม่เกินเดือน พ.ย.นี้
อาตี๋สักมังกร
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตการคลายล็อก 3 ข้อด้วยกัน คือ 1.คำสั่งที่ประกาศออกมาเป็นแค่การคลายล็อก ไม่ใช่การปลดล็อก เนื่องจากพรรคการเมืองยังไม่สามารถหาเสียงได้ 2.มีการยกเลิกการทำ Primary vote ในการเลือกตั้งครั้งแรก แต่ให้มาใช้คณะกรรมการสรรหา 11 คนแทน ซึ่งประเด็นนี้เปรียบเหมือนเรื่อง "อาตี๋สักมังกร" ที่เริ่มต้นจะสักมังกร 7 หัว 7 ตัว แต่ลงท้ายกลายเป็นสักไส้เดือนตัวเดียว และ 3.หลังกฎหมายบังคับใช้ ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ในวันที่ 24 ก.พ.2562 ก็เท่ากับจะมีช่วงเวลาในการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง การรับสมัครผู้แทนราษฎร รวมทั้งการหาเสียงและการลงคะแนนเลือกตั้งเป็นระยะเวลาประมาณ 75 วัน
    นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กระแสข่าวเรื่องการลงแข่งขันในตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลายคนนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความเป็นประชาธิปไตย ทุกคนเป็นเจ้าของพรรค ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง การมีส่วนร่วมของสมาชิกเป็นเรื่องที่ดี เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของพรรคที่สืบเนื่องมายาวนาน ทุกคนที่จะลงแข่งเชื่อว่าคิดดีต่อพรรคทุกคน และทุกคนก็ยอมรับว่าผลแพ้ชนะ และเดินหน้าพาพรรคก้าวสู่การเลือกตั้งด้วยกันต่อไป นี่คือความคลาสสิกของสถาบันพรรคการเมืองที่ชื่อประชาธิปัตย์
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวภายในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ โดยกลุ่มหนึ่งต้องการสนับสนุนเปิดโอกาสให้คนใหม่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำทัพเลือกตั้ง และอีกกลุ่มหนึ่งยังคงสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป เนื่องจากเกรงว่าหากนายอภิสิทธิ์ไม่ได้ไปต่อจะทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ เช่น อาจไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.ในครั้งที่จะถึงนี้ เป็นต้น โดยขณะนี้มีความพยายามเดินเกมปล่อยข่าวดิสเครดิตว่า คสช.จะเข้ามาฮุบพรรค เพื่อให้พรรคเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล โดยอาศัยผู้สมัครหน้าใหม่เป็นนอมินีให้ 
    มีรายงานว่า ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยดึงคนรุ่นใหม่เพื่อปรับทัพสู้ศึกเลือกตั้งครั้งที่จะถึง อาทิ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม.,  นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม., นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม หลานชายนายอภิสิทธิ์ เป็นต้น ทำงานด้านการประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคในโลกออนไลน์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล 
    อย่างไรก็ตาม มีผู้ใหญ่ในพรรคบางคนได้ทาบทามให้นายเอกนัฏเป็นโฆษกพรรคในเบื้องต้น เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสม อีกทั้งยังบอกด้วยว่าหากนายอภิสิทธิ์เอ่ยปาก ก็ขออย่าได้ปฏิเสธในเรื่องนี้ 
ไม่ปฏิเสธทหาร
    นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ถึงจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ปฏิเสธทหารแต่ประการใด เพราะถ้าสังเกตให้ดี นายอภิสิทธิ์บอกแค่เพียงว่าผู้สมควรได้จัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นของพรรคที่รวบรวมเสียงได้เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และแม้ส.ว. 250 คน จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเลือกนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่ต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งหากพรรคพลังประชารัฐลงเลือกตั้ง และได้เก้าอี้เสียง ส.ส. ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีประชาธิปัตย์และพรรคขนาดกลางเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นไปตามอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักที่พรรคยึดมาโดยตลอด 
    ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีความเคลื่อนไหวเช่นกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า พรรคเพื่อไทยได้เตรียมการที่จะจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อรับรองข้อบังคับพรรคใหม่ เลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ และเลือกกรรมการสรรหาผู้สมัครฯ ตามที่กำหนดในคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ทั้งนี้ เบื้องต้นจะได้หารือกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาคำสั่งคลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการประชุมและเตรียมการในการจัดการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำสั่งโดยคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ระบุให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน สิ่งที่ต้องหารือเป็นเรื่องสำคัญคือ จะกำหนดองค์ประกอบขององค์ประชุมใหญ่อย่างไร เนื่องจากคำสั่งที่ 13/2561 กำหนดให้มีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 250 คน มีกรรมการบริหารและสมาชิกโดยไม่ต้องมีสาขา เนื่องจากสาขาถูกยุบไปแล้ว คงต้องมากำหนดว่าจะมีตัวแทนสมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างไร จำนวนเท่าใด นอกจากนั้นคงต้องหารือว่าจะกำหนดวันประชุมใหญ่เมื่อใด เนื่องจากจะต้องแจ้ง กกต.ก่อนการประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 5 วัน
      เขากล่าวว่า พรรคได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคศึกษารายละเอียดของคำสั่ง ยังมีความสับสนในการตีความ เนื่องจากมีการซ้อนทับกันถึง 3 กฎหมาย คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560  และคำสั่งฉบับนี้ ซึ่งมีความสับสนอยู่ เช่น สามารถจัดตั้งสาขาได้ภายใน 1 ปี แปลว่าหากตั้งสาขาไม่ครบเลยเวลาการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ 24 ก.พ.2562 ก็สามารถส่งผู้สมัครได้ใช่หรือไม่ คงต้องสอบถามความชัดเจนกันต่อไป
    "ผมไม่ทราบรัฐบาลกลัวอะไรทำไมไม่ปลดล็อกไปเสียเลย เพราะควรถึงเวลาแล้วที่จะเปิดช่องทางทั้งหมดให้พรรคการเมืองได้สามารถติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชนที่จะได้ทราบข้อมูลทั้งหมดของพรรคการเมืองแต่ละพรรค เพื่อทำความเข้าใจและใช้สิทธิตัดสินใจให้ดีที่สุดในการเลือกพรรคการเมืองที่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่เขาเผชิญอยู่ เพื่อสร้างโอกาสของชีวิตให้พวกเขา
ผมไม่เข้าใจว่า คสช.และรัฐบาลยังกลัวว่าจะสูญเสียอะไร จึงยังไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองตามวิถีทางที่ควรจะเป็น หรือกลัวว่าหากประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอย่างเปิดกว้างและรอบด้าน และตัดสินใจอย่างชอบธรรม จะทำให้หนทางกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือกลับมาเป็นรัฐบาลครั้งใหม่ของพรรคพวกของตนไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าคิดเช่นนี้ถือว่าคับแคบและเห็นแก่ตัวเกินไป" นายภูมิธรรมกล่าว
ถล่ม คสช.เอื้อตัวเอง
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประชุมใหญ่ของพรรคที่ไม่ต้องมีตัวแทนสาขา โดยให้กำหนดองค์ประชุมให้มีเพียงกรรมการบริหารพรรคกึ่งหนึ่งของเท่าที่มี และสมาชิกจำนน 250 คน แต่ต้องแจ้งให้ กกต.รับทราบก่อน 5 วันนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคคงต้องไปหารือกันก่อนเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าสมาชิก 250 คนที่จะเข้าร่วมประชุมจะแบ่งสัดส่วนอย่างไร ก่อนที่จะแจ้งการจัดประชุมให้ กกต.รับทราบ การหารือของกรรมการบริหารพรรคคงเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ สิ่งที่ชัดเจนในคำสั่งดังกล่าวมีเพียงอย่างเดียวคือ การขยายกรอบเวลาการจัดหาทุนประเดิมพรรค จ่ายเงินค่าบำรุงพรรคของสมาชิกจำนวน 500 คนใน 180 วัน จำนวน 5,000 คนในหนึ่งปี ถือเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองตั้งใหม่ที่ไม่ต้องมากังวลกับสิ่งเหล่านี้ แต่สำหรับพรรคเก่าไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเขาทำกันครอบหมดแล้ว   
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การยกเลิกทำไพรมารีโหวตโดยไม่มีวิธีการที่ดีมาทดแทน การห้ามใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับประชาชน ภายใต้ข้ออ้างว่าห้ามหาเสียงและภายใต้ความสงบเรียบร้อย ที่ผ่านมามักห้ามโน่นห้ามนี่ โดยอ้างว่ากลัวจะเกิดความวุ่นวาย โดยเฉพาะห้ามทำกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมเกิน 5 คน ถือเป็นการมัวสุ่มทางการเมือง แต่การประชุมหารือเพื่อทำนโยบาย มันจะเป็นความไม่สงบไปได้อย่างไร เพราะประชุมกับกลุ่มประชาชนที่ทำอาชีพต่างๆ เป็นต้น 
    "เลวร้ายสุดห้ามสื่อสารโดยใช้โซเชียลมีเดีย โดยใช้คำว่าห้ามประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารที่เป็นการหาเสียง ซึ่งถือเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนนั่นเอง คำว่าหาเสียงหมายความอย่างไร คำนี้อาจถูกตีความจนพรรคการเมืองสื่อสารประชาชนทั่วไปไม่ได้ เพราะว่าอาจมีการตีความอำเภอใจ พูดถึงพรรคการเมือง นักการเมือง พูดถึงนโยบาย อาจตีความเป็นการหาเสียงไปได้หมด ทั้งๆ ที่การหาเสียงไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอะไร ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมองว่าการหาเสียงกับประชาชนเป็นสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับบ้านเมือง"
    เขากล่าวว่า คำสั่งที่ออกมาอาจต้องการเอื้อให้กับบางพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงต้องการสร้างความได้เปรียบให้กับ คสช. และรัฐบาลที่ต้องการจะเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งมากกว่าอย่างอื่น
    นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย  กล่าวว่า ทางคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคจะมีการประชุมในวันที่ 17 ก.ย.นี้ และจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ที่อนุญาตให้ดำเนินการ เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ซึ่งจะมีขึ้นน่าจะช่วงต้นเดือน ต.ค. เพื่อให้การดำเนินการนั้นมีผลบังคับตามกฎหมายต่อไป
สยบชาติพัฒนาแตก
    ที่สำนักงานพรรคชาติพัฒนา อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา นำอดีต ส.ส.พรรคชาติพัฒนา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค, ส.อบจ. และ ส.ท. กลุ่มโคราชชาติพัฒนา อาทิ นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรคฯ, นายวัชรพล โตมรศักดิ์ อดีต ส.ส. , นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม อดีต ส.ส., นายอุทัย มิ่งขวัญ อดีต ส.ส. และ ส.อบจ., นายสมบัติ กาญจนวัฒนา ประธานสภา อบจ. เป็นต้น พร้อมกับแสดงท่าการจับมือไขว้ประสานยืนยันตัวตนที่ยังอยู่กับพรรคชาติพัฒนา หลังเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อสยบข่าวยุบพรรคชาติพัฒนาไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มสามมิตร ตามที่นายภิรมย์ พลวิเศษ แกนนำและเลขาฯ กลุ่มสามมิตรปล่อยข่าวเป็นไปด้วยความคลาดเคลื่อน
          นพ.วรรณรัตน์กล่าวว่า ในนามพรรคชาติพัฒนา ขอขอบคุณ คสช.ที่มีการคลายล็อกทางการเมืองให้พรรคการเมืองทั้งหลายสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ยกเว้นการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว และยังเป็นการส่งสัญญาณที่ดีให้แก่ประชาชนทั้งประเทศและคนไทยที่อยู่ต่างประเทศได้ทราบว่า นับจากนี้ต่อไป บ้านเมืองเรากำลังเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งตามวิถีทางและครรลองระบอบประชาธิปไตยที่เราจะได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต่อไป
    "ยืนยันว่าพรรคชาติพัฒนายังดำรงความเป็นพรรคชาติพัฒนาอยู่ และเราพร้อมดำเนินการทางการเมืองต่อไป ไม่ได้ยุบไปไหนแน่นอน ยืนยันว่าเลือกตั้งครั้งหน้านี้มีพรรคชาติพัฒนา พรรคของคนโคราชอย่างแน่นอน ยืนยันตรงนี้ ส่วนเรื่องพรรคพลังประชารัฐหรือกลุ่มสามมิตรดูดอดีต ส.ส.ไปหลายคนนั้น ผมเรียนว่าเรื่องของพรรคอื่นเราไม่ทราบ แต่พรรคของเรายังอยู่ครบ" นพ.วรรณรัตน์กล่าว
     นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา   กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมประชุมกับ กกต.ในวันที่ 28 กันยายนแล้ว พรรคจะนัดสมาชิกพรรคให้เข้าประชุมใหญ่ ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เพื่อทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและตามสิ่งที่คำสั่ง คสช.อนุญาตให้ดำเนินการได้ ทั้งการประชุมใหญ่ เลือกหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค จัดตั้งสาขาพรรค แต่ตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ทำข้อบังคับใหม่ รวมถึงกระบวนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค หาสมาชิกพรรค รวมถึงหาทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท
     เมื่อถามว่า ขณะนี้เข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งที่ใกล้เป็นทางการแล้ว มองว่า คสช.ควรวางบทบาทของตนเองให้ชัดเจนอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าแทรกแซงการเลือกตั้ง นายนิกรยอมรับว่า รัฐบาล คสช.ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดรายละเอียดไว้ ดังนั้นเมื่อ คสช.จะดำเนินการสิ่งใด ที่อาจถูกมองว่าก้าวก่ายการเลือกตั้งหรือแทรกแซง จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะหากทำผิดกติกาหรือกฎหมาย รวมถึงระเบียบขอ กกต. ฐานะผู้มีอำนาจในการกำกับ ควบคุมการเลือกตั้ง อาจถูกฟ้องร้องได้ อีกทั้งอาจจะทำให้สังคมจับตาการเลือกตั้งไปอีกลักษณะหนึ่งด้วย
"เฮียตือ"ขอปลดล็อก
    ขณะที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่อ่านคำสั่ง คสช.แล้วเหมือนยังไม่สุด เพราะบรรยากาศทางการเมืองในวันนี้ เมื่อประกาศ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.และพ.ร.ป.ได้มาซึ่งส .ว.ลงมาแล้ว ทำให้บรรยากาศในเรื่องความเชื่อมั่นของการเลือกตั้งนั้นมีสูงมาก เห็นได้จากตลาดหุ้นที่พุ่งปรี๊ด สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นและฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้ง จึงควรที่จะทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งคืนสู่ภาวะปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศและความรู้สึก ความหวัง และความเชื่อมั่นของผู้คน
    “วันนี้การที่ยังไม่ปลดล็อก แต่คลายล็อกเพียงบางส่วนนั้น ทำให้เกิดมีความรู้สึกว่าอาจจะใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งไม่ได้เกิดผลดีต่อรัฐบาลเลย ผมอยากให้รัฐบาลเชื่อมั่นศักยภาพของรัฐบาลและ คสช. เพราะ 4 ปีกว่า เกือบ 5 ปี ทุกอย่างอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลและ คสช. ควบคุมได้ทั้งหมดแล้ว ดังนั้นควรจะมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจประชาชนด้วย ทำให้เป็นประชาธิปไตยตามที่ทุกคนต้องการอยากจะเห็น” นายสมศักดิ์กล่าว
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างสมาชิกกลุ่มสามมิตรบางคนกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย จนมีความพยายามจะขยายผลให้เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างแกนนำกลุ่มสามมิตรกับแกนนำพรรคภูมิใจไทยว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ไม่เคยให้สัมภาษณ์พาดพิงพรรคการเมืองไหนเลย เพราะต้องการเน้นไปที่การรับฟังปัญหาและการหาทางช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก รวมไปถึงการสร้างความปรองดองให้คนในชาติ 
    "ขอยืนยันว่าแกนนำกลุ่มสามมิตรกับพรรคภูมิใจไทยนั้นไม่ได้มีเรื่องบาดหมางอะไรกัน ขณะที่การแสดงความเห็นหรือการกระทำใดๆ ของสมาชิกกลุ่มสามมิตรคนใดคนหนึ่งนั้น ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่สามารถจะไปบังคับกันได้ เป็นเรื่องแต่ละพื้นที่ที่เขาอาจจะไปพบความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องตรวจสอบ และหากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็สามารถดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มสามมิตรนั้น ยืนยันว่าขณะนี้ยังมีเวลาดูว่านโยบายของพรรคการเมืองไหนที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหาให้กับประชาชนของกลุ่มสามมิตร เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะมีคำตอบให้กับประชาชนอย่างแน่นอน" นายธนกรกล่าว
    เฟซบุ๊กเพจ Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 2 นาที โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมสมัครสมาชิกพรรค ว่าคนไทยกำลังมาถึงทางเลือกสำคัญ จะเลือกอยู่กับความกลัวกับอำนาจเผด็จการต่อไป ยอมให้เขาขีดเส้น พาเราเดินไปในทิศทางที่เขากำหนดฝ่ายเดียวอีกอย่างน้อย 20 ปี หรือจะเลือกให้เรา ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศกำหนดเอง...
          นี่คือวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ที่จะล้างระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ค่าสมาชิก 100 บาทต่อปี หรือ 2,000 บาทตลอดชีพ ..ค่าสมาชิก 100 บาท คือการจ้างผมและทีมงานอนาคตใหม่ เอาประชาธิปไตยกลับคืนมา ไม่ใช่แค่คุณหรือผม ประเทศไทยต้องการเรา อนาคตใหม่ต้องการคุณ”.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"