ฟิลิปปินส์จัดลงประชามติ ตั้งเขตปกครองตนเองมุสลิม 'บังซาโมโร'


เพิ่มเพื่อน    

ชาวฟิลิปปินส์บนเกาะมินดาเนาภาคใต้ของประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมได้ใช้สิทธิลงประชามติเมื่อวันจันทร์ เพื่อจัดตั้งเขตปกครองตนเอง "บังซาโมโร" อันเป็นบทสรุปสำคัญที่สุดของกระบวนการสันติภาพเพื่อยุติการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนที่คร่าชีวิตคน 150,000 คนในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

สตรีมุสลิมฟิลิปปินส์ชูนิ้วเปื้อนหมึกภายหลังใช้สิทธิลงคะแนนที่เมืองโคตาบาโต เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 / AFP

    รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2562 กล่าวว่า ประชาชนราว 2.8 ล้านคนในเขตมินดาเนาจะต้องลงประชามติว่าพวกเขาเห็นด้วยกับข้อตกลงของรัฐบาลกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่มีแผนจัดตั้งเขตปกครองตนเองที่เรียกว่า บังซาโมโร หรือไม่

    ฟิลิปปินส์ได้วางกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ 20,000 นายเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย เนื่องจากหวั่นเกรงว่ากลุ่มก่อความไม่สงบที่ต่อต้านแผนสันติภาพจะก่อเหตุรุนแรงขัดขวางการลงคะแนน โดยเอเอฟพีรายงานว่า มีความพยายามปาระเบิดมือโจมตีที่ทางเข้าหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในเมืองโกตาบาโตเมื่อช่วงเช้า แต่ระเบิดไม่ทำงาน

    มีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแก่นแกนของบังซาโมโรโดยเฉพาะทางใต้ของเกาะมินดาเนา และคาดกันว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะสนับสนุนแผนการจัดตั้งบังซาโมโร ซึ่งจะเป็นเขตปกครองตนเองที่มีอำนาจบริหาร, นิติบัญญัติ และงบประมาณของตนเอง แต่รัฐบาลกลางจะยังคงมีอำนาจในการกำกับดูแลด้านกลาโหม, ความมั่นคง, นโยบายการต่างประเทศ และการเงิน

ตำรวจขนย้ายหีบบัตรลงประชามติ ที่หน่วยลงคะแนนในเมืองโคตาบาโต บนเกาะมินดาเนา / AFP

    กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (เอ็มไอแอลเอฟ) เริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่กระบวนการนี้ไม่นับรวมกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งรวมถึงพวกที่ประกาศเข้าร่วมกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ทางใต้ของฟิลิปปินส์

    มูรัด อิบราฮิม ประธานของเอ็มไอแอลเอฟ กล่าวกับซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์เมื่อวันจันทร์ว่า พวกตนมั่นใจว่าฝ่ายเห็นด้วยจะชนะมติ และถ้าไม่มีการข่มขู่หรือใช้กลอุบายยักย้ายคะแนน ก็จะเป็นการชนะอย่างท่วมท้นด้วย

    คาดว่าผลการนับคะแนนจะเปิดเผยได้ภายใน 4 วันหรือภายในวันศุกร์นี้ การสนับสนุนการจัดตั้งบังซาโมโรอย่างล้นหลามจะช่วยเพิ่มเครดิตเชิงนโยบายแก่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ได้ ถึงแม้ว่าผู้นำที่ยังได้รับความนิยมอย่างมากรายนี้จะไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพก็ตาม แต่เขามีส่วนในการผลักดันให้กฎหมายผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา หลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ทำไม่สำเร็จ

ตำรวจฟิลิปปินส์เข้ากันตัวชายต้องสงสัยว่าเวียนลงคะแนน ป้องกันการโดนรุมประชาทัณฑ์ ที่เมืองโคตาบาโต / AFP

    เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดูเตร์เตเรียกร้องผู้มีสิทธิลงคะแนนสนับสนุนแผนดังกล่าว และแสดงให้เห็นว่าผู้คนที่นั่นต้องการสันติภาพ, การพัฒนา และการมีผู้นำท้องถิ่นของตนเองที่ "เป็นตัวแทนและเข้าใจความต้องการของประชาชนชาวมุสลิมจริงๆ"

    ฝ่ายที่สนับสนุนแผนนี้กล่าวกันว่า การจัดตั้งบังซาโมโรจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ขัดแย้งทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคอทอลิก ทั้งปัญหาอัตราการจ้างงาน, รายได้, การศึกษา และการพัฒนา ที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดของประเทศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวกันว่าเป็นผลจากความรุนแรง การจี้ปล้น ลักพาตัว โดยกลุ่มติดอาวุธและกลุ่มอิสลามิสต์ที่เป็นพวกพ้องกับไอเอส

    กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟประณามพวกหัวรุนแรงสุดโต่งเหล่านี้ พวกเขากล่าวด้วยว่า ความผิดหวังที่กระบวนการกระจายอำนาจคืบหน้าล่าช้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการบุกยึดเมืองมาราวีด้วยพวกนักรบกบฏที่สวามิภักดิ์ต่อไอเอสเมื่อปี 2560 ที่ยืดเยื้อ 5 เดือนกว่าจะยุติ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"