เรือนจำต้นแบบที่จังหวัดอยุธยา


เพิ่มเพื่อน    


    ในชีวิตนี้ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาดูงานในเรือนจำถึง 3 ครั้ง แต่ครั้งนี้ประทับใจมากที่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์ผู้ต้องขังในแดนหญิงของเรือนจำอยุธยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม Project J ของสถาบันยุติธรรมแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการยุติธรรม เป็นการเก็บข้อมูลใน “แดนหญิง” ซึ่งถูกยกให้เป็นเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ จากข้อกำหนดสหประชาชาติ สู่การปฏิบัติในประเทศไทยโดยความร่วมมือของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ และกรมราชทัณฑ์ จากการที่ได้สนทนากับผู้บัญชาการเรือนจำ รับรู้ได้ถึงความเป็นกันเอง ความเมตตาต่อผู้ต้องขัง การบริหารแบบโปร่งใส โดยมีความเชื่อว่า “คุก” คือที่ขังความประพฤติที่กระทำผิด ไม่ใช่การขังชีวิตมนุษย์ การขังคนหมายถึงการทำอะไรก็ได้โดยไม่คำนึงถึงความเป็นคน แต่การที่ศาลตัดสินเป็นการตัดสินพฤติกรรมที่กระทำความผิด เรือนจำจึงมีนโยบายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการยับยั้ง ตัดโอกาส แก้ไขและป้องกันการกระทำความผิด จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อเราถามผู้ต้องขังว่าอยู่ในนี้กลัวอะไรมากที่สุด ทุกคนตอบเหมือนกันว่ากลัวถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนจำอื่น เพราะเรือนจำแห่งนี้พวกเขาอยู่ได้แบบสบายใจ ทั้งผู้บัญชาการเรือนจำและผู้คุมทุกคนมีเมตตาและมีความเป็นกันเองกับผู้ต้องขังมาก ไม่มีการใช้อำนาจแต่อย่างใด ยามเจ็บป่วยก็ได้รับการดูแลอย่างดี มีการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตลอดจนการตรวจสุขภาพฟัน
    กิจกรรมยามเช้าพวกเขาจะตื่นตี 5 ครึ่งเพื่อสวดมนต์ หลังจากนั้นจะเป็นกิจกรรมอาบน้ำ 10 ขัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ พอ 7 โมงเช้าก็ได้เวลาเข้าแถว กินอาหารเช้า ใครสั่งอาหารอะไรไว้ เช่น โจ๊ก น้ำเต้าหู้ ก็ไปรับได้ที่ร้านค้าสงเคราะห์ ส่วนใครต้องการจะดื่มกาแฟ หรือมาม่า ก็จะมีน้ำร้อนไว้ให้บริการ ผู้ต้องขังที่ไม่มีเงินก็มีอาหารจากโรงเลี้ยง ซึ่งจะมีกับข้าวสองอย่างในแต่ละมื้อ 8 โมงเช้าจะมีการเรียกรวมแถวที่ลานหน้าเสาธงเพื่อเคารพธงชาติ โดยผู้คุมอาจมีการพูดคุยกับผู้ต้องขังผ่านทางไมโครโฟน ซึ่งเป็นการพูดคุยทั่วไปตามแต่สถานการณ์ หรือแจ้งข่าวสาร จากนั้นทุกคนจะต้องแยกไปเข้าแถวตามกองงานที่ได้รับมอบหมาย ในวันธรรมดาสิ่งที่ผู้ต้องขังรอคอยก็คือการรอญาติมาเยี่ยม นอกจากการเยี่ยมญาติแล้วก็จะมีการพบทนาย เรือนจำแห่งนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการเยี่ยมผู้ต้องขังได้ในวันอาทิตย์เดือนละครั้ง ญาติจะได้ไม่ต้องขาดงาน ขาดรายได้
    ที่โรงเลี้ยง จะมีอาหารเที่ยงบริการเวลาประมาณ 11 โมง อาหารเที่ยงจะเป็นอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม หรือหากมีของหวาน ส่วนใหญ่จะเป็นถั่วเขียว ส่วนใครที่สั่งอาหารจากทางร้านค้าก็สามารถนำมากินได้ในเวลานี้ เพราะทางเรือนจำจะมีข้าวเปล่าไว้ให้ด้วย เวลาประมาณบ่าย 2 โมงครึ่ง จะอนุญาตให้อาบน้ำและกินข้าวมื้อเย็น เป็นมื้อสุดท้ายก่อนขึ้นเรือนนอน ซึ่งจะมีโทรทัศน์เอาไว้ให้ผู้ต้องขังได้รับชมด้วย ทุกชีวิตในเรือนจำนี้อยู่กันตามข้อกำหนดกรุงเทพที่ได้เริ่มจัดตั้งขึ้นด้วยพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งได้ทรงเล็งเห็นความต้องการของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำที่มีความแตกต่างในด้านกายภาพ เพศสภาพ ก็ควรจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ โดยการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรจะได้รับ ก่อนพ้นโทษผู้ต้องขังจะต้องผ่านการอบรมวิชาชีพอย่างน้อย 3 อย่าง เพื่อเตรียมความพร้อมในการไปประกอบอาชีพหลังจากพ้นโทษ โดยมีเงินทุนให้เพื่อจะได้ไม่หวนกลับมาทำในสิ่งที่ไม่ดีอีก ที่นี่เปรียบเสมือนบ้านเปลี่ยนชีวิต ใครที่เข้ามาแล้วจะต้องมีชีวิต และพฤติกรรมที่ดีขึ้นนั่นเอง.

                จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
             ([email protected])


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"