อัยการพิเศษสหรัฐสอบ 'เขยทรัมป์' ดีลทุนต่างชาติช่วงถ่ายอำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างแหล่งข่าววงในว่า "โรเบิร์ต มุลเลอร์" อัยการพิเศษสหรัฐที่สอบสวนข้อกล่าวหารัสเซียสมคบทีมหาเสียงของ "โดนัลด์ ทรัมป์" เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐ กำลังสอบสวน "จาเร็ด คุชเนอร์" เขยขวัญของทรัมป์ ที่พยายามหาทุนต่างชาติมาสนับสนุนกิจการของครอบครัวเขา ในช่วงที่พ่อตากำลังรอถ่ายโอนอำนาจ

แฟ้มภาพ จาเร็ด คุชเนอร์ คุยโทรศัพท์ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ พ่อตา จะพบปะกับนายกฯ เทเรซา เมย์ ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 ภาพ AFP

ตามรายงานข่าวของซีเอ็นเอ็นเมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ทุนต่างชาติที่คุชเนอร์ติดต่อเจรจาธุรกิจด้วยนี้ไม่ใช่เฉพาะทุนจากรัสเซียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนายทุนจีนด้วย

เอเอฟพีรายงานในวันอังคารว่า เดิมว่ากันว่า การสอบสวนของมุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) มุ่งเน้นที่การติดต่อระหว่างรัสเซียกับคุชเนอร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของทรัมป์ แค่ในแง่ของการวิเคราะห์ข้อมูลการหาเสียง และความสัมพันธ์ระหว่างคุชเนอร์กับไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวที่ถูกไล่ออก

แต่ซีเอ็นเอ็นอ้างแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับการสอบสวนของอัยการพิเศษรายนี้ว่า ตอนนี้คณะทำงานของมุลเลอร์กำลังสอบสวนคำสนทนาของคุชเนอร์ ที่เกิดในช่วงการถ่ายโอนอำนาจภายหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ที่ตัวเขาพยายามหาเงินทุนสำหรับอาคารสำนักงานเลขที่ 666 ฟิฟธ์อเวนิว ในนครนิวยอร์ก ของคุชเนอร์คอมปานีส์ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อตั้งโดยพ่อของเขา

รายงานข่าวของซีเอ็นเอ็นเมื่อบ่ายวันจันทร์กล่าวว่า คณะสอบสวนของมุลเลอร์ยังไม่ได้ติดต่อบริษัท คุชเนอร์คอมปานีส์ หรือขอสอบปากคำพวกผู้บริหารของบริษัทนี้ ส่วนเหตุผลใดที่ทำให้บริษัทต้องติดต่อทาบทามทุนจากต่างชาตินั้นก็ยังไม่ชัดเจน

สามีของอีวานกา ทรัมป์ บุตรีคนโตของประธานาธิบดีสหรัฐ มีบทบาทสำคัญในการติดต่อระหว่างคณะทำงานถ่ายโอนอำนาจของประธานาธิบดี กับรัฐบาลประเทศต่างๆ และมีข้อมูลบ่งบอกว่า คุชเนอร์ได้พูดคุยกับติดต่อกับตัวแทนของ 15 ประเทศเป็นอย่างน้อย มากกว่า 50 ครั้ง

รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์กล่าวไว้ว่า ภายในสัปดาห์แรกหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 คุชเนอร์ได้พบปะกับประธานและผู้บริหารคนอื่นๆ ของบริษัทประกันภัย อันปังอินชัวรันซ์ จากจีน

นิวยอร์กไทมส์กล่าวว่า คุชเนอร์กับหวูเซียวหุย ประธานของอันปัง ใกล้จะบรรลุข้อตกลงเข้ามาลงทุนในอาคาร 666 ฟิฟธ์อเวนิวอยู่แล้ว แต่การเจรจากลับล่มลง

ยังมีรายงานของวารสารข่าวออนไลน์ ดิอินเตอร์เซ็ปต์ ด้วยว่า การติดต่อเจรจาธุรกิจที่คณะของมุลเลอร์กำลังให้ความสนใจ ยังรวมถึงการเจรจาต่อรองระหว่างคุชเนอร์กับเชคฮามัด บิน ยัสซิม อัลธานี อดีตนายกรัฐมนตรีของกาตาร์ เกี่ยวกับการลงทุนในอาคารหลังนี้ แต่การเจรจาล้มเหลวไปเช่นกัน

คุชเนอร์คอมปานีส์ซื้อตึกระฟ้าในนิวยอร์กหลังนี้เมื่อปี 2550 ด้วยราคา 1,800 ล้านดอลลาร์ (56,736 ล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นในรูปของข้อตกลงกู้ยืม แต่วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ 666 ฟิฟธ์อเวนิว และทำให้บริษัท วอร์นาโดเรียลิตีทรัสต์ เข้าฮุบหุ้นไปถึง 49.5% ในปี 2555

ด้านแอบบี โลเวลล์ ทนายความของคุชเนอร์ ชี้แจงกับซีเอ็นเอ็นว่า คุชเนอร์ให้ความร่วมมืออย่างดีกับการสอบสวนทั้งหมด และไม่เคยมีสักครั้งที่เขาถูกตั้งคำถาม หรือถูกขอให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการทำธุรกิจของอาคาร 666 หรือของบริษัทคุชเนอร์ อีกทั้งไม่มีเหตุผลให้ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับการติดต่อทางธุรกิจแบบปรกติเหล่านี้ด้วย

ในช่วงนั้น คุชเนอร์ได้พบกับเซอร์เกย์ กอร์คอฟ ประธานธนาคารวนีเชโคนอมแบงก์ ด้วย แต่เขาให้การต่อคองเกรสว่าเป็นติดต่องานราชการ แต่ธนาคารนี้กลับบอกว่าเป็นการพบทางธุรกิจ วอชิงตันโพสต์รายงานว่ามุลเลอร์ก็กำลังสอบสวนการพบปะครั้งนี้ด้วยเช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"