ข้อความอาลัยป๋าเป็นเหตุ 'ฮุน เซน' ฉะ 'ลี เซียนลุง' หนุนเขมรแดงล้างเผ่าพันธุ์


เพิ่มเพื่อน    

ข้อความแสดงอาลัยและเชิดชูพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยนายกฯ ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ เกี่ยวกับบทบาทผู้นำอาเซียนที่ต่อต้านการยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม กลายเป็นประเด็นบานปลาย "ฮุน เซน" ผู้นำกัมพูชาตอกกลับลี การต่อต้านกองทัพเวียดนามบุกกัมพูชาเพื่อยุติระบอบเขมรแดงเมื่อปี 2521 เท่ากับลีสนับสนุนระบอบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพล พต

นายกฯ ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ ขณะร่วมพิธีเปิดการประชุมไอไอเอสเอส แชงกรี-ลาไดอะล็อก เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 / AFP

    นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ลงข้อความไว้อาลัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนที่แล้ว เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เนื้อหาบางส่วนที่กล่าวถึงบทบาทของพลเอกเปรม ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนขณะนั้น ต่อต้าน "การรุกราน" และ "การยึดครอง" กัมพูชาของเวียดนาม เมื่อปี 2521 ทำให้ทั้งเวียดนามและกัมพูชาไม่พอใจ

    "พลเอกเปรมมีความแน่วแน่ที่จะไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และได้ร่วมมือกับเพื่อนสมาชิกอาเซียน ต่อต้านการยึดครองของเวียดนาม ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ" นายกฯ ลี เซียนลุง โพสต์ลงเพจเฟซบุ๊กของเขา "สิ่งที่กล่าวถึงนี้ป้องกันไม่ให้การรุกรานทางทหารและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปกป้องความมั่นคงของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้ภูมิภาคนี้มีทิศทางที่แน่นอน"

    รายงานของรอยเตอร์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน กล่าวว่า ลียังได้ให้ทัศนะแบบเดียวกันนี้ในที่ประชุมความมั่นคงระดับภูมิภาคที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว โดยกล่าวถึงการรุกรานกัมพูชาของเวียดนามว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์

    เมื่อวันอังคาร กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามแถลงว่า เวียดนามได้หยิบยกประเด็นนี้หารือกับสิงคโปร์แล้ว เล ทิ ทู หั่ง โฆษกกระทรวงกล่าวว่า เวียดนามเสียใจที่เนื้อหาบางช่วงบางตอนในคำกล่าวของลีไม่ได้เป็นการมองประวัติศาสตร์แบบวัตถุวิสัย ซึ่งก่อผลกระทบเชิงลบต่อความคิดเห็นของผู้คนทั่วไป

    นายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ซึ่งเคยเป็นทหารชั้นผู้น้อยของระบอบเขมรแดง แต่หนีไปเข้าร่วมกับเวียดนามแล้วกลับเข้าประเทศพร้อมกับกองทัพเวียดนามที่เข้าแทรกแซงกัมพูชาเมื่อปลายปี 2521 เพื่อขับไล่พล พต และระบอบเขมรแดง ได้โพสต์ตอบโต้ลีด้วยถ้อยคำรุนแรงลงเฟซบุ๊กของเขาเมื่อคืนวันพฤหัสบดี โดยกล่าวหาผู้นำสิงคโปร์ว่าสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง

    "คำกล่าวของเขาสะท้อนจุดยืนของสิงคโปร์ในขณะนั้น ที่สนับสนุนระบอบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และปรารถนาให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในกัมพูชาอีกครั้ง" ฮุน เซนกล่าว พร้อมกับโจมตีอีกว่า สิงคโปร์มีส่วนต่อการสังหารหมู่ชาวกัมพูชาอย่างแท้จริง

    นายกฯ กัมพูชาผู้นี้ซึ่งได้ครองอำนาจสืบต่อมายาวนานกว่า 30 ปี กล่าวด้วยว่า ลีดูถูกการเสียสละของทหารอาสาเวียดนามที่ช่วยปลดปล่อยกัมพูชา

    การบุกของกองทัพเวียดนามในคราวนั้นและการยึดครองกัมพูชายาวนาน 10 ปี ช่วยยุติระบอบของพล พต ที่ปกครองกัมพูชาระหว่างปี 2518 ถึงต้นปี 2522 และฆ่าหมู่เพื่อนร่วมชาติเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรเวลานั้น

    ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงนั้นมีความเป็นปฏิปักษ์กันชัดเจนในยุคสงครามเย็น สิงคโปร์และไทยเป็นสมาชิกอาเซียนที่มี 6 ชาติในสมัยนั้นและมีแนวทางฝ่ายนิยมตะวันตก แต่ระบอบเขมรแดงของกัมพูชามีจีนหนุนหลัง ส่วนเวียดนามได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต

    เวียดนามถอนกำลังจากกัมพูชาปลายปี 2532 นำไปสู่การทำสนธิสัญญายุติสงครามอย่างเป็นทางการในปี 2534 เวียดนามเข้าร่วมอาเซียนในปี 2538 ส่วนกัมพูชาเข้าร่วมในปี 2542.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"