จี้ปปช.สอบกก.สรรหาสว. ฝ่ายค้านจ้องถล่มในสภา


เพิ่มเพื่อน    

 "วิษณุ" ยันคำสั่งตั้ง กก.สรรหา ส.ว.ไม่ต้องลงประกาศราชกิจจาฯ ระบุเป็นเรื่องภายใน "พรเพชร" ชี้ กม.ไม่ห้ามกรรมการนั่ง ส.ว. ลั่นการคัดเลือกไม่เข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ "ศรีสุวรรณ" จ่อร้องป.ป.ช.ให้สอบสวน "พท." จี้โชว์เอกสารแต่งตั้งกรรมการสรรหา พร้อมยื่นศาล รธน.ตัดสิน "7 พรรคฝ่ายค้าน" คึกนัดคุย 17 มิ.ย. เตรียมลุยบี้ในสภา

    เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่ง ไม่ใช่กฎหมาย ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะเป็นขั้นตอนภายใน ไม่เกี่ยวกับประชาชน แต่ถ้าการสรรหาใช้วิธีสมัครจะต้องประกาศให้ประชาชนรู้ว่าสมัครกับใคร ที่ไหน อย่างไร ดังนั้นเมื่อเป็นสรรหา เป็นขั้นตอนภายใน จึงไม่ต้องประกาศ 
    นายวิษณุกล่าวว่า การประกาศหรือไม่ประกาศไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย และบัดนี้ได้มีการแจกจ่ายกันไปแล้ว นอกจากนี้ขอยืนยันไม่มีกรรมการสรรหา ส.ว.คนใดคัดเลือกตัวเองมาทำหน้าที่ อย่างนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่มีชื่อเป็นกรรมการสรรหา ส.ว.ด้วยนั้น ได้ลาออกตั้งแต่ต้นก่อนจะมีการประชุมครั้งแรกเสียอีก
    ถามว่า มีเสียงท้วงติงการไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะทำให้ไม่มีผลทางกฎหมาย รองนายกฯกล่าวว่า ไม่จริง ไม่ใช่ อะไรที่มีผลเกี่ยวกับประชาชนนั้นใช่ แต่คำสั่งนี้จะถือว่าเกี่ยวกับประชาชนไม่ได้ เพราะประชาชนไม่มีส่วนจะมาสมัครอะไรทั้งสิ้น การจะรู้หรือไม่รู้ว่าใครเป็นกรรมการสรรหาไม่ทำให้ประชาชนได้เปรียบหรือเสียเปรียบ หากจะมีผู้นำเรื่องดังกล่าวไปร้องต่อศาล สามารถนำไปร้องได้ทั้งหมดทุกเรื่องอยู่แล้ว 
    "เรื่องที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะนำเรื่องการสรรหา ส.ว.ไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ก็อยู่ที่ประธานสภาฯ ว่าจะให้หรือไม่ให้ ส่วนใครจะเป็นผู้ชี้แจงนั้น คงไม่มีใครชี้แจง เพราะเป็นอำนาจ คสช. แต่วันนี้ความเป็น คสช.จะหมดไปอยู่แล้ว แม้ตัวบุคคลจะยังอยู่ แต่ไม่มีความเป็น คสช.อยู่" รองนายกฯ กล่าว
    ซักว่า พรรค พท.เรียกร้องว่าการบอกเล่าของนายวิษณุไม่เพียงพอ แต่ต้องนำคำสั่งมาเปิดเผย นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้เราจะไม่เปิด นอกจากไปขออำนาจศาล และหากจะเปิดเผยคนที่ดำเนินการคือ คสช.
    ส่วนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งกรรมการสรรหา ส.ว.กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานกรรมการสรรหา ส.ว. ทันทีที่ได้รับการทาบทาม และในวันรุ่งขึ้นก็ได้ทำหนังสือลาออกจากกรรมการสรรหา ส.ว.อย่างเป็นทางการ เพราะในช่วงดังกล่าวยังเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีกฎหมายที่ค้างการพิจารณามากมาย จึงปฏิเสธรับตำแหน่ง และไม่เคยเข้าร่วมประชุมกรรมการสรรหา ส.ว.เลย 
กก.สรรหานั่ง ส.ว.ไม่ผิด
    นายพรเพชรกล่าวว่า การที่มีกรรมการสรรหา ส.ว.บางคนได้รับการคัดเลือกเป็น ส.ว. ไม่เข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะไม่มีข้อห้ามกรรมการสรรหา ส.ว. ไปเป็น ส.ว. เมื่อบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติเหมาะสม ถูกต้อง ก็มีสิทธิรับตำแหน่งได้ จะไปห้ามรับตำแหน่งเพียงเพราะบังเอิญเป็นกรรมการสรรหาคงไม่ถูก 
    "การพิจารณาคัดเลือกใครมาเป็น ส.ว. ก็ทำในรูปแบบคณะกรรมการทั้งคณะ ไม่ได้มาจากกรรมการคนใดเป็นคนตัดสิน และตามขั้นตอนการคัดเลือกนั้น หากจะเลือกบุคคลใดเป็น ส.ว. ถ้ากรรมการสรรหาคนใดที่มีส่วนได้เสีย ก็ไม่สามารถอยู่ในห้องประชุมได้ ต้องออกจากห้องประชุม เพื่อให้กรรมการสรรหาคนอื่นทำหน้าที่ตัดสิน ถือเป็นขั้นตอนปกติในระบบราชการอยู่แล้ว หากจะมองว่ามีการฮั้ว ผลัดกันเลือกกันและกัน ก็ต้องไปหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่ามีการฮั้วเกิดขึ้น" นายพรเพชรกล่าว 
    ถามว่าพรรคฝ่ายค้านเตรียมตรวจสอบการทำงานของ ส.ว. ประธานวุฒิสภากล่าวว่า  ไม่กดดัน เพราะ ส.ว.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจและหน้าที่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนดให้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ ส.ส.จะตรวจสอบการทำงานของ ส.ว.นั้นที่ผ่านมาไม่เคยมี แต่กฎหมายกำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจตรวจสอบ ส.ส.ได้ ดังนั้นหาก ส.ส.จะตรวจสอบ ส.ว. ทาง ส.ว.ก็สามารถตรวจสอบ ส.ส.ได้เช่นกัน ทั้งนี้เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่นำไปสู่ปัญหาทางการเมือง 
    พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ชี้แจงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตได้รับตำแหน่ง ส.ว. เพราะเป็นน้องชายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเป็นกรรมการสรรหา ส.ว.ว่า การสรรหาดังกล่าวเป็นไปตามการพิจารณาของคณะกรรมการทั้งคณะ โดยกระบวนการคัดเลือกผู้จะเข้ารับตำแหน่ง ส.ว. ในชั้นการสรรหาตนทราบเป็นเบื้องต้นว่าได้มาจากการกลุ่มรายชื่อของบุคคลที่เคยทำหน้าที่เป็น ส.ว.ในอดีต, สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.),  สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และแบ่งกลุ่มตามสาขาอาชีพ 
    "กรณีที่ผมได้รับเลือกนั้น เชื่อว่าเป็นเพราะการทำงานตั้งแต่สมัยเป็น ส.ว.ต่อเนื่องถึง สปช.และ สปท. ทั้งในส่วนของนิติบัญญัติ ที่ตั้งข้อสังเกตและแปรญัตติในร่างกฎหมายหลายฉบับ, เสนองานด้านการปฏิรูป อาทิ ด้านสาธารณสุข รวมถึงขับเคลื่อนงานปฏิรูปที่สำคัญต่อประเทศ" พล.อ.ต.เฉลิมชัยกล่าว
    ส.ว.รายนี้ระบุว่า ที่สังคมภายนอกตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์กับกรรมการสรรหา ส.ว.นั้น ไม่เป็นปัญหาที่จะสร้างความกดดันการทำงาน เพราะในการทำหน้าที่ ส.ว.ต่อจากนี้ ตนพร้อมทำงานเพื่อพิสูจน์ผลงานว่าสามารถทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศได้
    ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า รายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว.ที่เปิดเผยออกมาถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่ามีความเป็นกลางทางการเมือง อีกทั้งกรรมการเหล่านั้นจำนวนถึง 5 คนที่มีชื่อได้รับการเสนอให้เป็น ส.ว. และนอกจากนั้นยังมีเครือญาติของคณะกรรมการอีกหลายคนก็ได้รับการเสนอชื่อด้วย การกระทำและการใช้อำนาจของคณะกรรมการสรรหาฯ ดังกล่าวอาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน และเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ประกอบกับอาจฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของ พ.ศ.2561 ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.219 บัญญัติ
    "ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะเดินทางไปยื่นคำร้องเพื่อไต่สวน สอบสวน เอาผิดคณะกรรมการสรรหาทั้งหมดตามกฎหมายต่อไป โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย.2562 เวลา 13.00 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี" นายศรีสุวรรณกล่าว
เล็งร้องศาล รธน.ชี้ขาด
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า คสช.ทำเฉยต่อเสียงเรียกร้องขอให้เปิดเผยรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. เหมือนเป็นการถ่วงเวลาให้ได้ ส.ว.ครบ 250 คน และได้ทำการโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย ตามแผนการที่ได้ดีไซน์ไว้แล้วจึงค่อยๆ เปิดรายชื่อด้วยวาจา โดยไม่มีหนังสือแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเอามาแสดงให้เห็น และไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ต้น การกระทำเช่นนี้น่าจะเข้าข่ายปกปิดข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ประชาชนมีสิทธิจะรับรู้รับทราบ น่าจะขัดต่อพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 เนื่องจากการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. กระบวนการสรรหาและงบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการสรรหาไม่ส่งผลเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ
    "เรื่องนี้ทั้ง 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง จะผลักดันให้มีการตรวจสอบในสภาอย่างจริงจัง โดยจะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการวิปฝ่ายค้าน ในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย" โฆษกพรรค พท.กล่าว
    เช่นเดียวกับ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรค พท. กล่าวว่า ได้เห็นรายชื่อทั้ง 9 คนแล้ว ทำให้มีคำถามตามมาว่า การตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองมาทำหน้าที่คัดเลือก ส.ว. เพราะจากรายชื่อทั้งหมด จะเห็นว่ามาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นกลางชัดเจน เมื่อหัวหน้า คสช.กลายมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ ส.ว.จะต้องมาเลือกนายกรัฐมนตรี เหมือนเป็นการผลัดกันเกาหลัง เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้นจึงแสดงว่าการสรรหา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้กระบวนการสรรหา ส.ว. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
    “ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำลังหาช่องทางกฎหมาย ยื่นเรื่องให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญชี้ขาดในเรื่องนี้ ส่วนที่ว่าหากกระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมจะส่งผลต่อกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นโมฆะด้วยหรือไม่ ตรงนี้ก็คิดกันได้ เพราะการสรรหา ส.ว. เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเลือกนายกฯ ด้วย แต่พรรคการเมืองไม่ใช่ผู้ชี้ขาด องค์กรที่จะช่วยชี้ขาดได้นั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีส่วนที่จะสามารถชี้ขาดได้ เพราะหน้าที่หนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญคือการตีความอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ว.ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาจากรัฐธรรมนูญ" นายชูศักดิ์กล่าว
    ถามว่า นายวิษณุยืนยันไม่มีกรรมการสรรหา ส.ว.เลือกตัวเองเป็น ส.ว. ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. กล่าวว่า โดยระเบียบปฏิบัติและมารยาททางการเมือง วิธีการปฏิบัติลักษณะนี้ ถือว่ามีความไม่ชอบธรรม ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน พูดไปก็มีแต่เข้าเนื้อ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  พบว่า ไม่มีการเขียนให้องค์กรใดมาเริ่มสรรหาสมาชิกวุฒิสภาใหม่ กรณี ส.ว.ที่ได้รับการสรรหาตามบทเฉพาะกาลต้องสิ้นสภาพไปทั้งหมด มีแต่เพียงการเขียนว่าหาก ส.ว.ตัวจริงสิ้นสภาพเป็นรายบุคคล ให้เลื่อนรายชื่อสำรองขึ้นมาแทน ทำให้การดำเนินการของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะยื่นญัตติและอภิปรายให้สภา ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษา และตรวจสอบกระบวนการสรรหา ส.ว. ทั้งระบบขัดรธน.หรือไม่ หากพบว่าคุณสมบัติของกรรมการสรรหา เช่น ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง และกระบวนการสรรหาในขั้นตอนต่างๆ ขัด รธน.ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เนื่องจากไม่เขียนทางออกไว้ ส.ว.ชุดแรกจะอยู่ในตำแหน่งไป จนครบวาระ 5 ปีตามบทเฉพาะกาล ประกอบกับ คสช. 15 คน เป็นผู้คัดเลือก ส.ว.ตอนนี้ก็เหลือไม่กี่คน เพราะไปเป็น ส.ว. และที่เหลือก็จะสลายตัวเมื่อ ครม.ประยุทธ์ 2 เข้าบริหารประเทศ
    นอกจากนี้ การไม่เขียนทางออกไว้ใน รธน. กระทั่งเป็นทางตัน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. และยังเป็น 1 ใน 15 คสช.ต้องรับผิดชอบ แต่เพราะไม่มีใครใน กรธ.ออกมาอธิบายหรือชี้แจงในกรณีเกิดปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ และจนถึงขณะนี้  กรธ.ก็ไม่ยอมเผยแพร่บันทึกเจตนารมณ์ให้สาธารณชนได้รับทราบ ทั้งๆ ที่ กรธ.ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุมไปเป็นจำนวนมาก
    "ขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการมีสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา กำลังเกิดปัญหาทางการเมือง อันเนื่องมาจาก รธน. เช่น การให้ 250 ส.ว.โหวตเลือกประยุทธ์เป็นายกฯ ปมการถือหุ้นสื่อของ ส.ส. และต่อไปก็จะขยายวงไปถึง ส.ว. การขาดคุณสมบัติของกรรมการสรรหา ส.ว. เพราะไม่เป็นกลางทางการเมือง การไม่นำคำสั่ง คสช.แต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงปลายของ คสช.ที่เข้าตำราตัวใครตัวมัน หัวหน้า คสช.ไปเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 หลายคนแปลงร่างไปเป็น ส.ว. บางส่วน จะไปเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำให้เกิดคำถาม คสช.จะรับผิดชอบอย่างไรบ้าง" แหล่งข่าวระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"