พปชร.ร้องศาลจำหน่ายคดีหุ้นสื่อ


เพิ่มเพื่อน    

 พปชร.งัดแผนเด็ดสู้คดี 27 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ยื่นศาล รธน.ขอจำหน่ายคดี อ้าง 66 ส.ส.อนาคตใหม่ทำผิดรูปแบบ ส่งเป็นหนังสือให้ประธานสภาฯ ไม่ถูกต้อง ระบุต้องทำเป็นคำร้อง พร้อมขอไต่สวน 2 ครั้ง ก่อนรับพิจารณาและสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ เหตุให้โอกาสผู้ถูกร้องนำหลักฐานสู้ "พท." โวยเอาเปรียบ ไร้สปิริต "ธนาธร" ยื่นขยายเวลาชี้แจงถือหุ้นวี-ลัค มีเดีย ครั้งที่สอง ยืดออกไปอีก 15 วัน

    ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 20 มิ.ย. นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อ 27 ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาจำหน่ายคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ขอให้วินิจฉัยว่า ส.ส.ทั้ง 27 คนของพรรค พปชร.ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นสื่อ และขอให้ศาลไต่สวนว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอและมีมูลที่จะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ และหากศาลสั่งรับให้ไต่สวนว่าควรที่ศาลจะสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยให้โอกาส ส.ส.ผู้ถูกร้องแสดงพยานหลักฐาน 
    นายทศพลกล่าวว่า จากการตรวจสอบสำนวนพบว่า 66 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ยื่นเรื่องนี้ต่อประธานสภาฯ และประธานนำส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีการทำเป็นหนังสือ จึงไม่ถูกต้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 (5) และมาตรา 41 ว่าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง ต้องกระทำเป็นคำร้อง จึงเห็นว่าเมื่อการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็สมควรว่าศาลจะจำหน่ายคดี
    หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อ 27 ส.ส.ของพรรค พปชร. กล่าวว่า ถ้าหากศาลเห็นว่าเรื่องดังกล่าวสามารถพิจารณาได้ ก็ขอให้ศาลมีการไต่สวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนพิจารณาว่ารับหรือไม่รับ เพราะเรื่องนี้เป็นการยื่นมาโดยไม่มีหน่วยงานใดรวบรวมพยานหลักฐาน มีเพียงเอกสาร ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทของ 27 ส.ส.พรรค พปชร.ไม่เหมือนกัน โดยที่ทั้ง 27 คนไม่ได้มีโอกาสชี้แจง แต่อยู่ๆ ก็มีคนเอาเอกสารมาแล้วบอกว่าคุณผิด ซึ่งต่างจากกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. ที่ถูกร้อง ซึ่งผ่านการชี้แจงโต้แย้ง และหอบเอกสารมาเป็นลังๆ
    "กรณีดังกล่าวประชาชนไม่เข้าใจคิดว่าเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกัน เพราะกรณีของ 27 ส.ส.ไม่ได้ผ่านกระบวนสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจงไม่มีเลย เราจึงต้องการเพียงโอกาสในการชี้แจง และถ้าหากศาลไต่สวนและรับเรื่องไว้พิจารณา ก็ให้ไต่สวนอีกเพื่อให้พิจารณา ควรจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ที่ทางพรรคขอเช่นนี้ เพราะพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 เพิ่งออกมาใหม่พร้อมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ผ่านมาใช้ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนด แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องของกฎหมายที่กำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้ชัด ว่าอะไรที่ยื่นเป็นคำร้อง และอะไรยื่นเป็นหนังสือ ดังนั้นถ้าเราบอกว่าการยื่นคำร้องมันผิดแล้วมีการพิจารณาไป คำวินิจฉัยก็จะผิด" หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อ 27 ส.ส.ของพรรค พปชร.กล่าว 
    นายทศพลกล่าวว่า ในเมื่อกระบวนการผิด ก็ต้องทำให้ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรไม่ได้เลย  และการขอไต่สวนก็เป็นการที่เราขอโอกาสพิจารณาคดีเหมือนของนายธนาธรเท่านั้นเอง ชื่อว่าคำร้องที่ทางพรรค พปชร.ยื่นจะมีผลเฉพาะตัวกับ 27 ส.ส.เท่านั้น ไม่ได้มีผลไปเอื้อให้กับ ส.ส.รายอื่นที่ถูกร้อง แต่ไม่ได้ยื่นคำขอไต่สวนหรือคุ้มครอง เว้นแต่ในประเด็นข้อกฎหมาย ถ้าศาลบอกว่าผิด ก็จะผิดไปทั้งหมด
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร. กล่าวว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ 27 ส.ส. หากศาลมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา ซึ่งตามกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และหากจำไม่ผิด ศาลเคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมาแล้วในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และต้องเข้าใจว่ากรณีการถือหุ้นสื่อของ ส.ส.พปชร. ต่างจากกรณีของนายธนาธร เนื่องจากนายธนาธรดำเนินกิจการสื่อจริง แต่ 27 ส.ส.ของพรรคเป็นเพียงการระบุวัตถุประสงค์การก่อตั้งบริษัทในใบบริคณห์สนธิตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น 
    รองโฆษกพรรค พปชร. เชื่อว่าการพิจารณาของศาลจะดูหลายอย่างประกอบ เพราะการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ มีวิธีพิจารณาแตกต่างกัน แต่มั่นใจว่ากระบวนยุติธรรมไม่มีสองมาตรฐาน และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราก็พร้อมยอมรับ 
    "การยื่นให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ได้เป็นการเอาเปรียบนายธนาธร ตามที่โฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาระบุ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่กังวลกรณีว่าที่รัฐมนตรีของพรรคและพรรคร่วม อย่างนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ถูกยื่นตรวจสอบอาจเข้าข่ายคุณสมบัติ เพราะนายกรัฐมนตรีต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบอยู่แล้ว" รองโฆษกพรรค พปชร.กล่าว
    ส่วนนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญเตรียมวินิจฉัยคุณสมบัติการถือครองหุ้นสื่อของ ส.ส.ที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ 41 ส.ส. ซึ่งมี ส.ส.ของพรรค ปชป.รวมอยู่ด้วยว่า ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะได้มีการเตรียมทีมกฎหมายไว้แล้ว โดยในส่วน ส.ส.ของพรรค ไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน 
    "เมื่อคดีอยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ต้องให้เกียรติ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา ซึ่งพรรคเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และพรรคการเมืองที่ยื่นเรื่องร้องเรียนควรให้ความเคารพ อย่ากดดันศาล" โฆษกพรรค ปชป.กล่าว
    ขณะที่นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีพรรค พปชร.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ 41 ส.ส. เหมือนกับกรณีของนายธนาธรว่าฟังดูแล้วออกจะเป็นการเอาเปรียบและขาดสปิริตมากเกินไป ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมและยืนอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เมื่อนายธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ควรที่จะใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันนี้กับ 41 ส.ส.พรรค พปชร. ที่ถูกยื่นคำร้องว่าขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ในการทำกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เช่นเดียวกัน
    นางลดาวัลลิ์กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว กรณีของนายธนาธร หากศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในฐานะเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่มี ส.ส.จำนวนมากถึง 80 เสียง และยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและเป็นประสิทธิภาพของระบบสภาผู้แทนฯ ที่ประชาชนแสดงเจตนารมณ์ผ่านการกาบัตรเลือกตั้ง โดยหลักแล้วนายธนาธรไม่สมควรถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่เมื่อศาล รธน.มีคำสั่งก็มิอาจปฏิเสธคำสั่งนั้นได้           
    “ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำของฝ่ายค้าน จึงอยากจะทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ขอให้ติดตามกรณีการคุ้มครองชั่วคราว 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้มีสถานะ ส.ส.อย่างใกล้ชิดว่า วันนี้คดีถือหุ้นสื่อของ ส.ส.และอีกหลายคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ถูกร้องเรียน มีความยุติธรรมหรือไม่ หรือยังเป็นเรื่องที่หาได้ยากยิ่งเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา”โฆษกพรรค พท.กล่าว
    วันเดียวกัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้ส่งทีมกฎหมายมายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอขยายเวลาในการส่งเอกสารคำชี้แจงกรณีถือหุ้นสื่อในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส.หรือไม่ ออกไปอีก 15 วัน นับจากวันที่ 8 ก.ค. ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 30 วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ขยายเวลายื่นคำชี้แจงครั้งที่ 1 
    ทั้งนี้ ทีมกฎหมายให้เหตุผลถึงการขอขยายเวลาครั้งนี้ว่า เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารเท่านั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไร รวมถึงมาตรวจสำนวนด้วยว่ามีความคืบหน้าอย่างไรหรือไม่ ซึ่งเมื่อยื่นคำร้องแล้วต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้ขยายเวลาตามที่มีการขอหรือไม่
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นขอขยายเวลาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยอนุญาตให้ขยายเวลามาแล้วครั้งหนึ่งเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 8 ก.ค. หากศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต จะเท่ากับว่านายธนาธรยืดเวลายื่นคำชี้แจงออกไป 45 วัน รวมกับ 15 วันที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ยื่นคำชี้แจงตามขั้นตอน ก็จะทำให้นายธนาธรมีเวลาทำคำชี้แจงนานถึง 60 วัน
    สำหรับคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของ กกต.ไว้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 23 พ.ค. และสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"