นปช.รอดก่อการร้าย ศาลชี้ไร้หลักฐานเผาเมือง/ตู่-เต้นขอบคุณยุติธรรม


เพิ่มเพื่อน    

 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 24 แกนนำ นปช.คดีก่อการร้าย ชี้องค์ประกอบไม่เข้ามาตรา 135 ส่วนเหตุเผาบ้านเผาเมืองก็บอกไม่ได้ว่าใครสั่ง ชี้ “ชายชุดดำ” ไม่ชัดเป็นกองกำลังฝ่ายใด พร้อมระบุ “เสธ.แดง” ไม่เกี่ยวชุมนุมคนเสื้อแดง พ่วงตั้งข้อสังเกตอัยการฟ้องไม่ประสงค์ให้ลงโทษ “ตู่-เต้น” ขอบคุณศาลให้ความยุติธรรม อัยการยังกั๊กอุทธรณ์ อ้างมีเวลาอีกเดือนรออ่านคำพิพากษาให้ชัด

    เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในคดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องแกนนำ การ์ด และแนวร่วม จำนวน 24 คน ในความผิดข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 และ 135/2 รวมทั้งการฝ่าฝืนมาตรา 9 พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548
    โดยคำฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค.2553 เพื่อกดดันต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ และยังมีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ มีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณา โดยคดีนี้อัยการทยอยยื่นฟ้องกลุ่มแกนนำ นปช.ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2553 จนครบ 24 คน และใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐานและสืบพยานบุคคลมานานร่วม 9 ปี โดยการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. พร้อมแกนนำ ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาเกือบครบทุกคน 
    ต่อมาศาลอ่านคำพิพากษา พิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดฐานก่อการร้ายต้องเข้าองค์ประกอบความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) ถึง (3) คือ ต้องมีลักษณะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ โดยการกระทำนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ โดยมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน แต่หากเป็นการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
    จากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่ามีจำเลยคนใดที่เป็นแกนนำ นปช.ได้ปราศรัยหรือกระทำการยั่วยุปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำการดังที่ได้ระบุไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) ถึง (3) แม้โจทก์มีพยานเบิกความว่า ระหว่างชุมนุมมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง แต่ไม่สามารถยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด โดยเฉพาะเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.2553 ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเป็นการกระทำของกลุ่ม นปช.
    “ชายชุดดำก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใด และไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ในขณะนั้น ทั้งๆ ที่สถานที่ที่ปรากฏตัวชายชุดดำมีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมาก จึงไม่น่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจับกุมดำเนินคดีไม่ได้ทันท่วงที ส่วนที่แกนนำ นปช.ปราศรัยบนเวทีที่ว่าให้ประชาชนนำน้ำมันมาและให้เผานั้น เป็นการกล่าวปราศรัยก่อนชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่ปราศรัยแต่อย่างใด โดยการวางเพลิงเผาทรัพย์เกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค.2553 ภายหลังประกาศยุติชุมนุมแล้ว และศาลฎีกาได้วินิจฉัยเรื่องวางเพลิงเผาทรัพย์ไว้เป็นที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8132/2561 ว่ามิใช่การกระทำของกลุ่ม นปช. การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนต่อต้านรัฐประหารเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด” คำพิพากษาระบุ
    ศาลยังอ่านคำพิพากษาอีกว่า แกนนำ นปช.ประกาศแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี สงบและปราศจากอาวุธ และปฏิเสธเข้ามาดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง กับพวก ซึ่งมีแนวทางการต่อสู้คนละแนวกันตลอดมา การดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะกับพวกจึงมิใช่เป็นการดำเนินกิจกรรมของ นปช. ซึ่งการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก จึงอาจมีบุคคลผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นได้
    ส่วนกรณีนายยศวริศ ชูกลิ่น หรือเจ๋ง ดอกจิก จำเลยที่ 7 กับพวก ขัดขวางการลำเลียงกำลังพลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แล้วยึดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนบริเวณเวทีปราศรัย และต่อมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายเหล่านั้นกลับคืนไปหมดแล้ว การกระทำดังกล่าวมิได้ประสงค์เอาแก่ตัวทรัพย์เพื่อเอาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ เหตุวางเพลิงเผาทรัพย์และทำลายทรัพย์สินของทางราชการบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เกิดขึ้นภายหลังจากนายยศวริศนำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนแล้ว จึงยังฟังไม่ได้ว่าร่วมกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย
ศาลอ่านคำพิพากษาอีกว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้รวม 5 สำนวน ขอให้ลงโทษฐานก่อการร้าย โดยบรรยายฟ้องถึงลักษณะการกระทำความผิดต่างๆ เพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิด และไม่ได้ขอให้ลงโทษในการกระทำความผิดลักษณะต่างๆ มาด้วย จึงถือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องดังกล่าว เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง หรือกี้ร์ จำเลยที่ 24 ในความผิดฐานต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบความผิดมานั้น ฟังได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 24 กับพวกต่อศาลจังหวัดพัทยา กรณีขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียน และศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ”
“แม้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และต่อมาศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ประกาศห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมในท้องที่ดังกล่าว การออกประกาศเช่นว่านั้นก็เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. โดยหลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ไม่ได้ความจากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ว่า แกนนำกลุ่ม นปช.ได้จัดการชุมนุมที่อื่นใดอีก การกระทำของจำเลยที่ 1-15 และจำเลยที่ 18- 24 จึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง”
    ภายหลังศาลอ่านคำตัดสิน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า ระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมานั้น วันนี้ไม่ใช่วันที่พวกเราต้องดีใจ เพราะยังมีเรื่องราวรออยู่ข้างหน้าเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด พวกเราทุกคนขอกราบขอบพระคุณศาลที่ให้ความเมตตาพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม วันนี้ไม่ได้เป็นวันที่ยุติ เพราะยังมีพวกเราจำนวนมากที่ยังถูกคุมขัง และต่อสู้คดีอยู่ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผลคำพิพากษาของศาล อยากให้ผู้ที่ได้รับอานิสงส์ควรเป็นญาติวีรชนที่ได้ต่อสู้บาดเจ็บล้มตาย รวมกระทั่งผู้สูญสิ้นอิสรภาพมากมาย
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้บาดเจ็บล้มตายจากการต่อสู้ ถ้าสามารถส่งข้อความนี้ถึงคนที่บาดเจ็บล้มตายในเหตุการณ์ดังกล่าว ก็อยากบอกว่าพี่ เพื่อนและน้องว่า ศาลท่านชี้แล้วว่าพวกเราไม่ใช่ขบวนการก่อการร้าย ความสูญเสีย เลือดของพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์ทุกคน ไม่ได้เป็นเพราะพี่น้องเป็นผู้ก่อการร้ายเลย ถูกเขายิงจนเจ็บจนตาย แต่เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องหลักการประชาธิปไตย ภายใต้ข้อเรียกร้องในสถานการณ์นั้นก็คือการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่
    นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงขั้นตอนในการอุทธรณ์คดีว่า อัยการจะคัดสำเนาคำพิพากษาทั้งหมดส่งอัยการศาลสูงพิจารณาต่อไป โดยจะพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ถ้าเห็นด้วยกับคำพิพากษาแล้วจะไม่ยื่นอุทธรณ์ หรือถ้าไม่เห็นด้วยก็จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป ภายในเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษา และสามารถขยายเวลาอุทธรณ์ได้ก่อนครบ 1 เดือน ส่วนขณะนี้จะอุทธรณ์หรือไม่ ยังเร็วไป เนื่องจากคำพิพากษาเพิ่งอ่าน และมีมาตรฐานเช่นเดียวกันกับคดี กปปส.ที่ผ่านมา
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของการเป็นมาตรฐาน แต่เป็นเรื่องที่ว่ากันตามวัตถุพยาน พยานบุคคล ที่สอดคล้องกัน ถ้าหากพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ การยกฟ้องก็เป็นเรื่องธรรมดา ทีอย่างนี้พอรอดไม่เห็นบอกว่าศาลยุติธรรมเลย และพอมีความผิดก็บอกว่าศาลไม่ยุติธรรม เป็นอย่างนี้ทุกที. 
    
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"