'ชูศักดิ์' สวน 'วิษณุ' ปมเสียบบัตรแทนกันตัองใช้บรรทัดฐานเดียวกับสมัยยิ่งลักษณ์


เพิ่มเพื่อน    

23 ม.ค.63 - นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรค เปิดเผยถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.ในการพิจารณาร่าง พรบ.ที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กับ กรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่แตกต่างกันและอาจมีผลที่ต่างกัน ซึ่งไม่อาจนำบรรทัดฐานคำวินิจฉัยเดิมมาใช้ได้ว่า หากพิจารณาหลักเกณฑ์การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง(1) ที่ให้สิทธิ ส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้ง ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภานั้นหรือประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พรบ. นั้น จะมีสองกรณี กล่าวคือ

กรณีแรกร่าง พรบ.นั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันเป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับกระบวนการตราร่าง พรบ. กรณีที่สอง ร่าง พรบ.นั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันเป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับเนื้อหาของร่าง พรบ.

ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พรบ.หากเป็นกรณีแรก ถือว่าร่าง พรบ.นั้นตกไปทั้งฉบับ เพราะตราขึ้นโดยไม่ชอบ แต่หากเป็นกรณีที่สอง จะต้องพิจารณาว่าข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสาระสำคัญของร่าง พรบ.นั้นหรือไม่ ถ้าเป็นสาระสำคัญก็ถือว่าร่าง พรบ.นั้นตกไปทั้งฉบับ แต่ถ้าไม่ใช่สาระสำคัญ ก็ตกไปเฉพาะข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น

กรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 ว่าร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

นายชูศักด์ กล่าวว่าโดยในส่วนที่เห็นว่า ร่างพรบ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นมาจาก การที่มี ส.ส.ใช้บัตร ส.ส.อื่นลงคะแนนแทนกัน  เมื่อเปรียบเทียบกับการพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่ามี ส.ส.กดบัตรลงคะแนนแทนกันจริงตามที่เลขาธิการสภาฯได้ตรวจสอบ แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นผู้ใดก็ตาม แต่ก็ถือว่ากระบวนการตราร่าง พรบ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนการตรวจสอบต่อไปว่าผู้ใดเป็นคนกดบัตรแทนโดยกระทำไปโดยพลการหรือมีการมอบหมายหรือไม่นั้นเป็นเรื่องการหาตัวผู้กระทำผิดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้บรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ตามคำวินิจฉัยข้างต้นจึงยังนำมาใช้ได้

ดังนั้น การที่นายวิษณุอ้างว่าเป็นคนละกรณีกัน ความผิดต่างกัน โทษต่างกัน และผลต่างกัน จึงไม่น่าจะถูกต้อง ส่วนที่อ้างว่ามีการเสียบบัตรทิ้งไว้โดยที่เจ้าของไม่ได้มอบหมายหรือวานให้กดแทน นอกจากเป็นการแก้ตัวแทน ส.ส.ฝ่ายตนเองแล้ว ก็ไม่อาจนำมาอ้างได้ เพราะกระบวนการตราร่าง พรบ.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องพิจารณาจากตัวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีการกดบัตรแทนกันหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎชัดว่ามีการกดบัตรแทนกันแม้ยังไม่ปรากฏชื่อผู้กระทำแต่ถือว่ากระบวนการไม่ชอบแล้ว ยิ่งนายวิษณุไปอ้างถึงความบกพร่องของเครื่องก็ยิ่งไปกันใหญ่

สำหรับประเด็นที่นายวิษณุอ้างว่า ลำพังเพียงกระบวนการตราร่าง พรบ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ทำให้ร่างกฎหมายตกไป อาจเป็นการตีความกฎหมายที่เข้าข้างตนเองและผิดไปจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง(1) ทั้งนี้เพราะเมื่อกระบวนการตราร่าง พรบ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฏรในกระบวนการตราร่างพรบ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันมีผลให้ร่าง พรบ.นั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ร่าง พรบ.จึงต้องตกไปทั้งฉบับ

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยทุกวันนี้ที่มีความขัดแย้งกันมายาวนาน ส่วนหนึ่งก็มาจากการบังคับใช้กฎหมายและตีความกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ยิ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองยิ่งควรทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และบังคับใช้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ควรมีการบิดเบือนหรือใช้อภินิหารทางกฎหมายบ่อยนัก เพราะจะทำให้ชาติบ้านเมืองเดินไปลำบาก


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"